วันนี้ (17 ธันวาคม 2562) เวลา 18.25 น. ณ รอยัลพารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “วิสัยทัศน์ประเทศไทย 2020” ในงาน NATION DINNER TALK: ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย 2020 ซึ่งเป็นเวทีในการแสดงวิสัยทัศน์และนโยบายเศรษฐกิจประเทศ ปี 2020 เพื่อต่อยอดแนวทางสร้างความเติบโตอย่างแข่งแกร่งและยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจไทย จัดโดย บริษัท เนชั่นมัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในโอกาสครบรอบ 49 ปี โดยมีบุคคลสำคัญเข้าร่วม ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติกว่า 900 คน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้มาร่วมพิธีเปิดงาน เห็นว่าเป็นโอกาสดีที่ทุกคนจะได้รับทราบมุมมองทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2563 และบทบาทของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศร่วมกันในระยะยาว ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อให้ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง โดย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” และมุ่งสู่การเป็น “ประเทศไทย 4.0” ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
ในมิติเศรษฐกิจนั้น ประเทศไทยมีความท้าทายทั้งจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ 1. การขยายอิทธิพลและการเพิ่มบทบาทของประเทศมหาอำนาจ ซึ่งอาจเกิดการย้ายขั้วอำนาจและการรวมกลุ่มของประเทศต่าง ๆ ไทยต้องปรับท่าทีเพื่อรักษาสมดุลให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์ 2. ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งไทยต้องเตรียมพร้อมนำมาปรับใช้เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดของการผลิตในภาคเกษตรและภาคบริการ ส่วนปัจจัยภายใน ได้แก่ 1. ปัญหาคุณภาพและสมรรถนะของแรงงานไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด 2. การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย อาจทำให้รายจ่ายของภาครัฐเพิ่มสูงขึ้น 3. ความยั่งยืนของทรัพยากรในประเทศ ที่ต้องแก้ไขโดยด่วน อย่างไรก็ดี ประเด็นท้าทายสำคัญเหล่านี้ได้ถูกนำมาพิจารณาในการจัดทำกรอบการพัฒนาด้านเศรษฐกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้วยแล้ว
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่สำคัญ คือ การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบนฐานแนวคิด “การต่อยอดอดีต การปรับปัจจุบัน และการสร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต”เพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศ ทั้งนี้ การจะนำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไปปฏิบัติให้บรรลุผลได้มีการจัดทำแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ อาทิ แผนแม่บทด้านการเกษตร ด้านอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ด้านการท่องเที่ยว ด้านพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์และดิจิทัล และด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายในระยะแรก (ปี 2565) ให้เป็นรูปธรรม
สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2562 ที่ผ่านมา ไทยต้องเผชิญกับความตึงเครียดทางการค้า รวมทั้งเหตุการณ์ทางสังคมและการเมืองในหลายประเทศ ซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคทั่วโลกได้รับผลกระทบ ส่งผลต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศในโลก
ในปี 2563 ไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายอีกหลายประการ อาทิ ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกและความเสี่ยงที่เกิดจากภัยพิบัติและภัยธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวของทิศทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่อาจเป็นผลดีต่อการลงทุนและการส่งออกของไทย ภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นจากการใช้มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา (Visa on Arrival) รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนและอินเดียที่คาดว่าจะเข้ามาต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทุกระดับ ส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มผลผลิต และการส่งเสริมผู้ประกอบการทุกขนาดและทุกรูปแบบธุรกิจ รวมทั้งเพิ่มการจ้างงานหรือรายได้ให้กับแรงงาน และให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า นอกจากนี้ รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญในการปรับบริบทการพัฒนาด้านอื่น ๆ ให้สอดคล้องไปกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบ การปฎิรูปกฎหมายให้ทันสมัยและเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน การพัฒนาการให้บริการประชาชนให้ดำเนินการผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น และการจัดเตรียมมาตรการรองรับปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย ปัญหาฝุ่นมลพิษ รวมทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นระบบ ซึ่งทั้งหมดนี้ ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้า และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในระยะยาวได้อย่างเป็นรูปธรรม
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีขอให้ทุกฝ่าย รวมทั้งสื่อมวลชน ร่วมมือกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ และรับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายท่ามกลางความผันผวนและความไม่แน่นอนในปัจจุบัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือของคนในชาติ จะทำให้ประเทศไทยเอาชนะทุกปัญหาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th