พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ห่วงใยน้ำแล้ง สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงานแก้ปัญหาภัยแล้ง ดูแลน้ำอุปโภคบริโภคให้เพียงพอ ย้ำเร่งประชาสัมพันธ์ประชาชนรับรู้ เตรียมรับมือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า
วันนี้ (20 ธ.ค.62) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 3/2562 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแผนปฏิบัติการภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี แผนงานโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ กรอบแนวทางเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การใช้สอยทรัพยากรน้ำสาธารณะของหน่วยงานของรัฐหรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (มาตรา 6 วรรคสาม) และร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัง โดยมีพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมประชุมด้วย
รองนายกรัฐมนตรี แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2562/2563 พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการเร่งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบและปฏิบัติตามแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัด รวมทั้งสั่งการทุกระทรวง ทบวง กรม เตรียมการแก้ปัญหาภัยแล้งที่จะมาถึง โดยให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บูรณการร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนรับมือเตรีมการดำเนินการดังกล่าว พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อร่วมกันรับมือในทุกมิติ รวมถึงร่วมกันประหยัดน้ำและใช้น้ำให้คุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด บริหารจัดการให้น้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค ไม่ให้ส่งผลต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม
โดยวันนี้ ที่ประชุม กนช. ได้มีมติเห็นชอบ 4 เรื่อง ได้แก่ 1. แผนปฏิบัติการภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ประกอบด้วย (1)แผนปฏิบัติการด้านการจัดการน้ำเสียชุมชนระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ขององค์การจัดการน้ำเสีย โดยมีแผนปฏิบัติการปี 2564-2580 ที่ส่งเสริมให้มีการจัดสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียชุมชนในเขตพื้นที่เทศบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ (2)โครงการเพื่อการพัฒนา ปี 2562 และ ปี 2563 ของการประปาส่วนภูมิภาค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบผลิต ระบบส่งน้ำ และระบบจ่ายน้ำประปาในพื้นที่ที่ประสบปัญหา ให้สามารถบริการน้ำประปาแก่ประชาชนได้เพิ่มขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้าอย่างพอเพียง รวม 14 โครงการ
2. แผนงานโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ปี 2563-2580) โดยมีแผนการดำเนินการ ดังนี้ (1) แผนงานพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน ปี 2563-2570 (2) แผนการบริหารจัดการด้านความต้องการใช้น้ำ ปี 2563-2580 (3) แผนการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ปี 2563–2580 (4) แผนการจัดการคุณภาพน้ำ ปี 2563–2580 และ (5) มาตรการอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ ปี 2563-2580 2) แผนหลักการพัฒนาหนองหาร จ.สกลนคร รวมทั้งสิ้น 65 โครงการ ครอบคลุมการพัฒนา 10 ปี (พ.ศ. 2563-2572) โดยมีแผนงานระยะเร่งด่วน ปี 63 - 65 จำนวน 34 โครงการ ได้แก่ การพัฒนาขยายเขตเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาหมู่บ้าน ก่อสร้างสถานีสูบน้ำรอบหนองหาร ขุดลอกหนองหาร ก่อสร้างระบบระบายน้ำป้องกันพื้นที่ชุมชน เป็นต้น 3) เป้าหมายแผนงานโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ เพิ่มเติมจำนวน 11 โครงการ แบ่งเป็น 5 ประเภท การผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำหลัก 1 โครงการ บริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำนอง 3 โครงการ แผนหลักการพัฒนาบึงและหนองน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ 3 โครงการ การบรรเทาอุทกภัยเมืองสำคัญ 3 โครงการ และจัดหาแหล่งน้ำรองรับพื้นที่เศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยว 1 โครงการ
3. พิจารณากรอบแนวทางเพื่อการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้สอยทรัพยากรน้ำสาธารณะของหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (มาตรา 6 วรรคสาม) เช่น ด้านการจัดทำแผนและติดตามผล ให้มีแผนงานการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำสาธารณะ ทั้งในภาวะปกติ และในภาวะน้ำแล้งหรือภาวะน้ำท่วม โดยให้สอดคล้องกับแผนแม่บทฯในเขตลุ่มน้ำของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ที่ผ่านความเห็นชอบของ กนช. และ4. ร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วม การบูรณาการระหว่างหน่วยงานจังหวัด
-------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th