รองนายกฯ จุรินทร์ เรียกประชุมสามฝ่าย หารือแนวทางแก้ปัญหาหนี้เกษตรกร สมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ

ข่าวทั่วไป Friday January 10, 2020 15:34 —สำนักโฆษก

รองนายกฯ จุรินทร์ เรียกประชุมสามฝ่าย หารือแนวทางแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ รองโฆษกรัฐบาลย้ำ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาหนี้สินเกษตรกร

วันนี้ (10 ม.ค.63) เวลา 10.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2563 นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมประชุมหารือสามฝ่าย ประกอบด้วย กองทุนฟื้นฟูพัฒนาเกษตรกร สมาคมธนาคาร และตัวแทนลูกหนี้เกษตรกร จากเครือข่าย อาทิ เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย สหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย เครือข่ายสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ณ ปัจจุบัน นี้ มีจำนวนเกษตรกรที่กองทุนฟื้นฟูฯ ต้องเข้าไปช่วยแก้ปัญหาหนี้สิน 1.5 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้ 5.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัญหาแบ่งเป็น 4 ประเด็นคือ

1. ขอขยายเวลาการชำระหนี้ของเกษตรกรออกไปจากวันที่ 31 ธ.ค. 2562 ซึ่งมีอยู่ 1,340 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 3,500 ล้านบาท หากไม่ได้รับการชะลอการดำเนินการทางกฎหมาย เกษตรกรลูกหนี้อาจถูกดำเนินคดี ที่ทำกินและทรัพย์สินถูกขายทอดตลาด

2. การกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร กลุ่มที่เป็นหนี้กับสถาบันการเงินทั้งธนาคารรัฐ ธนาคารพาณิชย์ หนี้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท และที่เกิน 2.5 ล้านบาท

3. ปัญหาสหกรณ์ไม่ขายหนี้ให้กองทุนฟื้นฟู (กองทุนรับชำระหนี้เงินต้น 100% ดอกเบี้ย 7.5% ระยะเวลาคิดดอกเบี้ย 10 ปี) เนื่องจากลูกหนี้ไม่จ่ายส่วนต่างดอกเบี้ยและค่าปรับ กรณีเป็นหนี้เกินระยะเวลา 10 ปี จำนวน 1.6 แสนราย มูลหนี้ 1.6 หมื่นล้านบาท

4. กองทุนฟื้นฟูฯ ไม่สามารถซื้อทรัพย์สินที่หลุดจำนองคืนให้เกษตรกร เนื่องจากไม่เข้าเกณฑ์การซื้อคืน เช่น ทรัพย์ไม่ได้ผ่านการขายทอดตลาดโดยกรมบังคับคดี บุคคลภายนอกไม่ยอมขายคืน มีจำนวน 3,099 ราย

นางสาวรัชดา กล่าวว่า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รองนายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ฯ ได้มีข้อสั่งการ ดังนี้

1. ให้ทั้งสามฝ่ายเจราจาร่วมกันหาทางออก ในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ เพราะที่ผ่านมาขาดการพูดคุยบนพื้นฐานของความเข้าใจและความจำเป็นของแต่ละฝ่าย จึงไม่สามารถหาข้อยุติที่ยอมรับได้ เมื่อได้ข้อสรุป จะนำเข้าสู่การประชุมกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ในวันที่ 23 ม.ค. นี้ และนำเสนอครม. เพื่อพิจารณาต่อไป

2. กองทุนฟื้นฟูฯ ยกร่างการปรับปรุงระเบียบในเรื่องการซื้อทรัพย์หลุดจำนอง

3. ให้กองทุนฟื้นฟูฯ ทำข้อมูลลูกหนี้ แยกประเภทหนี้และจัดทำแผนฟื้นฟูรายบุคคล และหารือกับสมาคมธนาคาร เพื่อให้ธนาคารดำเนินการชะลอการดำเนินคดีกับเกษตรกรจำนวน 1,340 ราย

“ในเรื่องการขยายเวลาการชำระหนี้เกษตรกร ต้องขอย้ำว่าการที่กองทุนฟื้นฟูจะเข้าไปช่วยแก้หนี้ให้กับเกษตรกร จะช่วยเฉพาะหนี้ที่เกิดมาจากปัญหาการทำมาหากินภาคการเกษตรเท่านั้น ส่วนเรื่องที่เป็นหนี้ส่วนบุคคลนั้น กองทุนฟื้นฟูจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว” นางสาวรัชดา กล่าว

ในส่วนการแก้กฎหมายกองทุนฟื้นฟูฯ ให้มีอำนาจในการจัดการหนี้เกษตรกรที่บุคคลค้ำประกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกษตรกรเรียกร้องมานาน เพราะหนี้เกษตรกร 70% ใช้บุคคลค้ำประกัน โดยร่างพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟู ฉบับปรับปรุงแก้ไขกำลังจะเข้าสูการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในเร็ว ๆ นี้

“รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาหนี้สินเกษตรกร ทั้งนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ในวันที่ 23 มกราคม เชื่อมั่นว่าปัญหาจะได้ข้อยุติเพราะเป็นการทำงานร่วมกันทุกฝ่ายทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และกองทุนฟื้นฟู เพื่อเป้าหมายให้เกษตรกรไม่สูญเสียอาชีพและที่ดินทำกิน” นางสาวรัชดา กล่าว

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ