เตรียมของบบูรณาการกระทรวง 8.9 พันล้าน ปี 64 ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก

ข่าวทั่วไป Friday January 17, 2020 13:36 —สำนักโฆษก

เตรียมของบบูรณาการกระทรวง 8.9 พันล้าน ปี 64 ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก

วันนี้ (17 มกราคม 2563) เวลา 10.00 น. นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 แผนงานบูรณาการการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยที่ประชุมเห็นชอบกรอบแนวทางการจัดทำแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก วงเงินงบประมาณ 8.9 พันล้าน ประกอบด้วย 114 โครงการ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก มี 8 กระทรวงร่วมบูรณาการการทำงาน คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (เป็นผู้รับผิดชอบหลัก) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานอื่นของรัฐ คือ สภาเกษตรกร และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย โดยงบบูรณาการปี 2564 มีวงเงินเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 5.9 พันล้านบาท และต้องขอย้ำว่า ยังมีแผนงานด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของรายกระทรวงที่จะดำเนินการควบคู่กันด้วย

ซึ่งเป้าหมายของแผนบูรณาการฯ คือ ชุมชนและเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น (ร้อยละ 6 ต่อปี) และลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของรายได้ กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย 1) ผู้มีรายได้น้อย 2) เกษตรกรรายย่อย 3) สถาบันเกษตรกร 4) วิสาหกิจชุมชน 5) ผู้ผลิตผู้ประกอบการชุมชน พื้นที่ดำเนินการครอบคลุม 7,255 ตำบลทั่วประเทศ โดยแนวทางการทำงานดังกล่าว รองนายกฯจุรินทร์ ได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการที่ดินแก่เกษตรกรรายย่อยและผู้ด้อยโอกาส ให้มีที่ดินทำกินอย่างถูกกฎหมาย ไม่มีการบุกรุกป่าเพิ่ม ผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น ส.ป.ก. โฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน นิคมสหกรณ์ นิคมสร้างตนเอง อีกทั้งให้ความสำคัญกับการคัดเลือกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรที่มีศักยภาพผลิตสินค้าจับคู่ทำการตลาด สินค้าที่ผลิตต้องขายได้ ซึ่งภาพรวมของแผนบูรณาการแบ่งเป็นสามส่วน คือ ต้นทาง มุ่งเป้าการพัฒนาศักยภาพประชาชนตามกลุ่มเป้าหมาย สนับสนุนการเข้าถึงทรัพยากรและปัจจัยการผลิต ตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 2.4 แสนราย) และส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ (ไม่น้อยกว่า 3 แสนราย) กลางทาง มุ่งเป้าพัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์และการให้บริการชุมชน พัฒนาผู้ประกอบการชุมชน/วิสาหกิจชุมชน/เกษตรกรรุ่นใหม่ (ตั้งเป้าไม่ต่ำกว่า 4,300 กลุ่ม) และปลายทาง พัฒนาระบบบริหารจัดการและกลไกตลาด สนับสนุนให้เข้าถึงตลาดทั้ง online และ offline (ตั้งเป้ารายได้จากการจำหน่ายสินค้าชุมชนเพิ่มขึ้นร้อยละ10) ตัวอย่างโครงการมี ดังนี้

1. โครงการบริหารจัดการที่ดินทำกินแก่เกษตรกรรายย่อยและผู้ด้อยโอกาส วงเงิน 1.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 1.1 พันล้านบาท

2. โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร วงเงิน1.2พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี2563 จำนวน 873 ล้านบาท

3. โครงการSmart Farmer วงเงิน 635ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี2563 จำนวน434 ล้านบาท

4. โครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านการเกษตร วงเงิน 352 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 266 ล้านบาท

5. โครงการพัฒนาสินค้าชุมชน วงเงิน1.1พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี2563 จำนวน 711 ล้านบาท เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนในพื้นที่ 20จังหวัดยากจน ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม วงเงิน 80ล้านบาท เริ่มปี2564 เป็นครั้งแรก

6. โครงการพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และธุรกิจชุมชน วงเงิน 503 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 423 ล้านบาท

7. โครงการส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตร วงเงิน538ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 459 ล้านบาท เช่น การพัฒนาระบบเก็บข้อมูลการบริหารจัดการการผลิตและการตลาดของสหกรณ์ด้วยเทคโนโลยี Blockchain วงเงิน 73 ล้านบาท เริ่มปี2564เป็นครั้งแรก กลุ่มเป้าหมาย คือ สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 30 แห่ง ใน4 ชนิด สินค้า ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน

“กรอบแนวทางการทำงานบูรณาการที่กล่าวมานี้ เป็นอีกกลไกสำคัญหนึ่งที่จะเข้าไปสร้างความเข้มแข็งแก่กลุ่มเกษตรกร/ชาวบ้านในชุมชน และยังแก้ปัญหาการบริหารราชการที่เป็นแบบต่างคนต่างทำระหว่างกรมและกระทรวง นำไปสู่การใช้งบประมาณไม่คุ้มค่าและไม่สามารถบรรลุผลลัพธ์ที่ตั้งไว้ได้” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

..............................

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ