นายกรัฐมนตรี ย้ำภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ฝากช่วยกันยกระดับอุตสาหกรรมพัฒนาผลิตสินค้าให้ตรงความต้องการของผู้บริโภค

ข่าวทั่วไป Monday January 27, 2020 14:40 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรี เปิดสำนักงานใหม่ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ภายใต้แนวคิด "Smart Office & Smart Service" ย้ำภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ฝากช่วยกันยกระดับอุตสาหกรรมพัฒนาผลิตสินค้าให้ตรงความต้องการของผู้บริโภค

วันนี้ (27 ม.ค.63) เวลา 14.00น. ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 4 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ถนนนางลิ้นจี่ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาธร กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากากระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานใหม่ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) อย่างเป็นทางการ ภายใต้แนวคิด "Smart Office & Smart Service" ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการบริการ มุ่งสู่การเป็น "Service Organization" โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ คณะผู้แทนจากทุกภาคส่วน ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน คณะทูตานุทูต และสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาพิเศษ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตลอดระยะ 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก ทั้งศึกษาและติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการการค้าการลงทุน เพื่อส่งเสริมการลงทุนที่สอดคล้องกับบริบทสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงทันกับสถานการณ์ ซึ่งอุตสาหกรรม สภาหอการค้า มีสัดส่วนมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP สูงถึงกว่าร้อยละ 30 ของจีดีพีรวมทั้งประเทศ หากช่วยกันยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้มีศักยภาพการผลิตและการบริหารจัดการได้มากยิ่งขึ้นจะสามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย พร้อมขอให้ช่วยกันสร้างการเรียนรู้ให้ประชาชนในช่วงเปลี่ยนผ่านก้าวไปสู่ ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน สร้างความร่วมมือระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงข้อจำกัดในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2563 ว่า จากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง แต่เศรษฐกิจไทยก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปี 2562 ตามแนวโน้มการปรับตัวที่ดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจโลก การปรับตัวการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศจากมาตรการกีดกันทางการค้า นอกจากนี้ ยังมีแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในประเทศที่ยังมีปัจจัยพื้นฐานอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งในด้านการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามการเบิกจ่ายภายใต้โครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ๆ ที่มีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในช่วงปี 2563 – 2564 และการเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุน การลงทุนภาคเอกชนที่มีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการย้ายฐานการผลิตระหว่างประเทศ และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงแรงขับเคลื่อนเพิ่มเติมจากมาตรการบริหารเศรษฐกิจของภาครัฐ และแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว แม้ขณะนี้จะได้รับผลกระทบต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมมาตรการรองรับไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม การลงทุนต้องมีเหตุมีผลพอประมาณตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากผลกำไรที่ผู้ประกอบการได้รับ ยังต้องคำนึงถึงสิ่งที่ประชาขนโดยรวมจะได้รับประโยชน์ด้วย

รัฐบาลพยายามสร้างความสมดุลโดยมุ่งพัฒนาประเทศทั้งภาคการเกษตร ภาคการค้าบริการ และภาคอุตสาหกรรม ภายใต้ทรัพยากรของประเทศที่มีอยู่จำกัด เน้นการดูแลอย่างทั่วถึง ทั้งการส่งเสริมพัฒนาภาคเกษตร การส่งเสริมพัฒนาภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นภาคที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลต่างๆ ตลอดจนดูแลกลุ่ม SMEs ซึ่งเป็นวิสาหกิจส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อให้ทุกภาคส่วนต้องดำรงอยู่ได้ เติบโต และแข็งแกร่งไปด้วยกัน

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนประเทศไทยในอนาคตจะต้องทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างที่เน้นในเรื่องเทคโนโลยี (Technology Based) อิงกับงานวิจัยและพัฒนา (R & D) มากขึ้น รวมทั้งต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่“Value–Base Economy” หรือ“เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” ปรับเปลี่ยนจาก “ทำมากได้น้อย” มาเป็น “ทำน้อยได้มาก” โดยขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยใน 3 มิติที่สำคัญ คือ 1) เปลี่ยนจากผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม2) เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยการรับจ้างผลิต (OEM)ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และความรู้ 3) เปลี่ยนจากการแข่งขันแบบ Localไปสู่การแข่งขันแบบ Global

นายกรัฐมนตรียังขอความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมช่วยกันพัฒนาตามโมเดลไทยแลนด์ 4.0โดยถอดรหัสเป็นอุตสาหกรรม 4.0 คือ การจับคู่กันระหว่างเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตหรือดิจิทัลเพื่อใช้ในการผลิตสินค้า ตรงตามความต้องการเฉพาะของผู้บริโภคแต่ละราย โดยกำหนดแนวทางขั้นตอนที่จะก้าวไปถึงจุดดังกล่าวด้วยการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต เสริมสร้าง SMEsขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับผลิตภาพ มาตรฐาน และนวัตกรรม และปฏิรูปนิเวศอุตสาหกรรม หรือระบบ Eco-System เชื่อมโยงการผลิตและการตลาดกับเศรษฐกิจโลก (Connectivity) พร้อมเร่งผลักดันการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน ละล่าสุดรัฐบาลกำลังเร่งผลักดันระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor)

สำหรับแผนดึงดูดการลงทุนภาคเอกชน รัฐบาลได้ให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนเพิ่มขึ้นจากเดิม จัดตั้งกองทุนพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จการลงทุน (One Stop Service) อนุมัติการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมและผังเมือง เพื่อความรวดเร็วในการออกใบอนุญาต การให้สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน การใช้เงินตราต่างประเทศ และการจัดตั้งกองทุนในพื้นที่ร่วมกับชุมชนในท้องถิ่นด้วย ทั้งหมดนี้จะเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุน ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรม ได้ใช้ประโยชน์จากการพัฒนาและการสนับสนุนจากรัฐบาล ผ่านการขับเคลื่อนของสภาอุตสาหกรรมไปสู่ผู้ประกอบการภาคเอกชนต่อไป

จากนั้น นายกรัฐมนตรี เยี่ยมชม Smart Office ของสภาอุตสาหกรรมฯ และชมนิทรรศการ ณ บริเวณ ชั้น 8 อาทิ นวัตกรรมและเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมและพลังงาน ยุทธศาสตร์การพัฒนาเชิงพื้นที่ Smart Bar Mobile Application โหลด-แสกน-เช็กข้อมูลสินค้า บาร์โค้ดสายพันธุ์ใหม่เพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค F.T.I. Academy โครงการ Energy Point Digital Transformation ด้วย AR และโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) เป็นต้น โดยนายกรัฐมนตรีได้ทดลองแสกนคิวอาร์โค้ดตรวจสอบที่มาของผลิตภัณฑ์และสินค้า และเยี่ยมชมบูธการออกใบรับรองมาตรฐานไม้ซึ่งเป็นการตรวจสอบและรับรองไม้ที่ปลูกเพื่อเศรษฐกิจไม่ใช่ไม้ตัด เพิ่อสนับสนุนการปลูกไม้เศรษฐกิจที่มีการจัดการอย่างยั่งยืนและแหล่งที่มาถูกต้องตามกฎหมายด้วย

-----------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ