ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบมาตรการ พยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย

ข่าวทั่วไป Friday January 31, 2020 14:39 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีประชุม ครม.เศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/63 เห็นชอบมาตรการพยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย บรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อโคโรนาไวรัสฯ ตั้งคณะกรรมการ Ease of Traveling เสริมสร้างความเข้มแข็งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย

วันนี้ (31 ม.ค.63) เวลา 09.30 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ครั้งที่ 1/2563 ร่วมกับรัฐมนตรีและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณามาตรการพยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ซึ่งภายหลังการประชุม นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กรรมการและเลขานุการ ครม.เศรษฐกิจ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ผู้ว่า ททท.) ร่วมกันแถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้

ผู้ว่า ททท. กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่เกิดขึ้นได้สร้างความตระหนกให้กับนักท่องเที่ยวทั่วโลก และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 39.8 ล้านคนเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย การที่ประเทศจีนประกาศห้ามนักท่องเที่ยวประเภทกรุ๊ปทัวร์เดินทางออกนอกประเทศตั้งแต่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา อาจจะส่งผลต่อนักท่องเที่ยวชาติอื่นที่หวั่นเกรงการติดเชื้อ ไม่แน่ใจในการเดินทาง งดการเดินทางไปประเทศต่าง ๆ ถึงแม้ไทยจะไม่ใช่พื้นที่การแพร่ระบาดก็ตาม แต่เนื่องจากไทยอยู่ในภูมิภาคเดียวกับจีน จึงทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความไม่มั่นใจต่อการเดินทางเยือนไทย ททท. จึงได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งศึกษาแนวทางการรับมือกับอุบัติการณ์ครั้งนี้ โดยเทียบเคียงกับประสบการณ์ในการรับมือการแพร่ระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือซาร์ส ในปี 2546 ที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงประมาณ 30% ขณะที่จีนลดลงประมาณ 60% ซึ่งระยะเวลาในการฟื้นคืนความมั่นใจกรณีของซาร์สนี้ ใช้เวลาประมาณ 5 เดือน โดยขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์ตัวเลข อย่างไรก็ดี รายงานล่าสุดจากสำนักงาน ททท. 5 แห่งในประเทศจีน ได้รายงานตรงกันว่าขณะนี้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางเข้าไทยตั้งแต่บัดนี้ถึงเดือนเมษายน มีจำนวนลดลงประมาณ 80% คาดว่าจะทำให้รายได้ท่องเที่ยวหายไปประมาณ 95,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ททท.ได้ยืนยันเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ปี 2563 ไว้ตามเดิม คือมีจำนวนนักท่องเที่ยวตลอดปีนี้ 41.8 ล้านคน เพิ่มจากปีที่แล้วที่มียอดนักท่องเที่ยวรวม 39.8 ล้านคน รายได้ตลาดต่างประเทศปีนี้กว่า 2.22 ล้านล้านบาท โดยนักท่องเที่ยวไม่เฉพาะจากประเทศจีน หากประสงค์ที่จะเลื่อนการเดินทางมาไทย ททท. ได้หารือกับสมาคมโรงแรมไทยแล้ว ยินดีไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เพราะอนาคตเขาจะเข้ามาท่องเที่ยวได้อีก

ดังนั้นเพื่อเป็นการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดย ททท. ได้เสนอมาตรการพยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ใน 2 ระยะ คือ มาตรการเร่งด่วน (ก.พ. – เม.ย.63) : มาตรการบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 ประกอบด้วย 1) สื่อสารสร้างความเข้าใจแก่คนไทยและนักท่องเที่ยวด้วย Single message “ห่วงใยและให้ความสำคัญกับคนไทย เป็นลำดับ 1 และแสดงความเห็นใจไปยังผู้ที่ได้รับผลกระทบ” 2) เฝ้าระวัง และอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว โดยยกระดับศูนย์ TAC (Tourist Assistance Center) ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็น One stop service พร้อมขอความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ทุก Touch point ทำหน้าที่ให้คำแนะนำ เฝ้าระวัง และแจ้งเหตุ 3) เยียวยาธุรกิจท่องเที่ยว โดยเน้นการช่วยเหลือบริษัทนำเที่ยว โรงแรม ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 ทั้งการช่วยเหลือทางการเงิน หาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ยืดเวลาชำระหนี้ ลด Landing fee+ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน รวมทั้งรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ประกอบการ 4) กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยว ตลาดทดแทนต่างประเทศ ตลาดทดแทนในประเทศ รวมทั้งสื่อสารสร้างความมั่นใจ

ผู้ว่า ททท. กล่าวคาดว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น ถ้าจีนยกเลิกคำสั่งการออกนอกประเทศภายใน 3 เดือน แต่ไม่ใช่ว่ากระแสจะกลับมาทันที ถ้าเทียบกับกรณีซาร์สแล้ว หลังจากที่ระงับการระบาดแล้ว อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือนที่จะทำการฟื้นฟูให้กลับมาเต็มที่ ดังนั้นช่วงนี้จึงเป็นโอกาสดี ที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยวของไทยที่คำนึงถึงความยั่งยืน เมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ ก็สามารถที่จะทำให้การท่องเที่ยวเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป จึงได้มีการเตรียมการในส่วนของมาตรการระยะยาว (พ.ค.63 เป็นต้นไป) มาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน คือ จัดตั้งคณะกรรมการ Ease of Traveling ที่มีรองนายกรัฐมนตรี (ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง/มอบหมาย) เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นรองประธาน ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นเลขานุการ คณะทำงานประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหา ขับเคลื่อนอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศไทย ดำเนินการ 4 ประเด็น ได้แก่ 1) จัดทำ Mice Visa สำหรับกลุ่มประชุมสัมมนา 2) บริหารจัดการตารางการบิน (Time Slot) 3) เปิดสนามบินนานาชาติเพิ่มขึ้น และพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก 4) เพิ่มความรวดเร็วในการเข้าเมือง นอกจากนี้ จะมีการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของการบริการทางการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มความพึงพอใจให้กับนักท่องเที่ยว และสนับสนุน Charter Flight สำหรับนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีการใช้จ่ายสูงสู่พื้นที่เมืองรอง

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคาร 28 ม.ค. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการป้องกันและแก้ไขโรคอุบัติใหม่แห่งชาติขึ้น โดยมอบหมายรองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นประธานฯ ที่จะมีการประชุมครั้งแรกเวลา 13.00 น. วันนี้ เพื่อพิจารณามาตรการที่จะต้องยกระดับมาตรการจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และจากกรณีที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็น Global Emergency โดยกระทรวงสาธารณสุขมีแผน 5 ระดับ ที่ผ่านมาใช้แผนระดับที่ 1 เพราะการแพร่ระบาดเป็นไปในลักษณะที่ผู้ติดเชื้อรับเชื้อจากจีนเท่านั้น ยังไม่มีการติดเชื้อจากคนสู่คนในประเทศไทย แต่วันนี้จะมีการประเมินสถานการณ์และปรับมาตรการ ยกระดับ บางส่วนของมาตรการอาจจะกระทบกับเรื่องการท่องเที่ยวซึ่งได้มีการหารือในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจวันนี้ ตามที่รองนายกฯ นายอนุทินฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมบ่ายวันนี้อาจจะมีการเสนอยกเลิก Visa on Arrival ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำชับในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจว่า ในการพิจารณาเรื่อง Visa on Arrival จะยกเลิกหรือไม่นั้นต้องทำด้วยความรอบคอบ เพราะจีนก็ห้ามนักท่องเที่ยวจีน ไม่ให้เดินทางมาในลักษณะกรุ๊ปทัวร์แล้ว ส่วนผู้ที่เดินทางมาแบบไม่ใช่กรุ๊ปทัวร์นั้น ทางการจีนก็ขอความร่วมมือไม่ให้ออกเดินทาง ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนหายไปเกิน 50% นายกรัฐมนตรีจึงได้ฝากให้พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นภาคการท่องเที่ยวและภาคส่วนอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงกัน เราให้ความสำคัญ แต่ไม่สำคัญเท่ากับชีวิตและสุขภาพของประชาชน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก และสิ่งที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นทั้งกับประชาชนในประเทศ และนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามา คือต้องให้ทราบถึงระบบสาธารณสุขของไทย ที่มีมาตรฐานระดับสากล เป็นไปตามองค์การอนามัยโลก และเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ามีความพร้อมในเรื่องของการควบคุมโรคแพร่ระบาด ในอันดับที่ 6 จาก 195 ประเทศของโลก

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การท่าอากาศยานได้รายงานถึงการคัดกรองผู้โดยสารของการท่าอากาศยานและกระทรวงสาธารณสุขที่เข้มข้นให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ โดยนายกรัฐมนตรีได้ฝากให้ชี้แจงต่อสื่อมวลชนและประชาชน ให้เกิดความมั่นใจว่ามีการคัดกรองอย่างเข้มข้น ทั้ง 3 ระดับ คือ การตรวจที่หน้า Gate สำหรับผู้โดยสารที่มาจากไฟลท์ที่จัดอยู่ในเมืองที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมาก สำหรับไฟลท์ที่ถูกจัดว่าเป็นเมืองกลุ่มเสี่ยงปกติ จะจัดพื้นที่ให้ไปลงที่คองคอร์ด D/E/F โดยมีจุดคัดกรองที่เป็นจุดตัดของคองคอร์ดดังกล่าว ส่วนไฟลท์อื่น ๆ ที่ผู้โดยสารมาจากไฟลท์ที่ไม่มีความสุ่มเสี่ยงเท่าไร จะถูกตรวจในชั้นสุดท้ายคือจุด ตม. ส่วนกรณีที่เป็น Bus Gate ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ จะถูกจัดให้เข้าคองคอร์ด E โดยต้องผ่านการคัดกรอง 2 จุดคือ คองคอร์ด D/E/F และจุด ตม. ส่วนมาตรการที่จะยกระดับ ขอให้ติดตามการแถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุขในช่วงบ่ายวันนี้อีกครั้ง

พร้อมกันนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) รายงานตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่ประเทศไทยเริ่มกระบวนการคัดกรองนักท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2563 จนถึงปัจจุบัน ขณะที่เมืองอู่ฮั่นห้ามเดินทางตั้งแต่ 23 มกราคม 2563 แต่นักท่องเที่ยวจากอู่ฮั่นเดินทางมาไทย 1-28 มกราคม 2563 จำนวน 20,271 คน เดินทางกลับออกไปแล้ว 17,541 คน เหลือ 2,730 คน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรียังฝากให้ช่วยสร้างการรับรู้เพิ่มเติมว่า เราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ได้ในเรื่องของระบบสาธารณสุข นอกเหนือจากระบบคัดกรองของเราแล้ว จะเห็นได้ว่าจากการคัดกรองที่เข้มข้น ทำให้พบจำนวนผู้ที่เข้าข่ายเพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่เพิ่มขึ้น ยังอยู่ที่ 17 คน และ 8 คนแรกที่พบในช่วงแรกนั้น มี 7 คนที่รักษาตัวหายป่วยได้กลับบ้านแล้ว อีก 1 คนกำลังจะหายป่วย และคนที่เหลือมีอาการดีขึ้นเป็นลำดับ ฉะนั้นจึงขอฝากให้สื่อมวลชนช่วยสร้างการรับรู้กับประชาชนว่า ระบบสาธารณสุขของไทยเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก รวมทั้งมีระบบคัดกรองเข้มข้น และโรคนี้เป็นโรคที่รักษาหายได้ ความรุนแรงน้อยกว่าโรคซาร์ส เมอร์ส และเป็นโรคที่ป้องกันได้ ตระหนักได้แต่ไม่ต้องตื่นตระหนก ขอให้มั่นใจในระบบคัดกรองและระบบสาธารณสุขของไทย ทำให้ต่างชาติเชื่อมั่นด้วย จำนวนนักท่องเที่ยวจะได้ไม่ลดลง

รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กรรมการและเลขานุการ ครม.เศรษฐกิจ กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงต่อที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจว่า ได้เตรียมเรื่องเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยจะช่วยลดผลกระทบช่วง 3 - 4 เดือน เพื่อช่วยให้กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้าง สามารถผ่านปัญหาที่จำนวนนักท่องเที่ยวหายไปนี้ได้ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ก็รายงานว่าได้มีการหารือถึงการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการทั้งหมด รวมถึงในเรื่องการยืดเวลาชำระหนี้ กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับภาคการเงิน รวมถึงยืดเวลาการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ซึ่งจะหารือกับสำนักงานประกันสังคมต่อไป นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้มีมาตรการลดหย่อนภาษี 2 เท่าสำหรับการจัดสัมมนาในต่างจังหวัด เพื่อให้คนไทยช่วยกันท่องเที่ยวในช่วงที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอตัวลง โดยเป็นมาตรการชั่วคราว ขณะเดียวกันก็ได้มีการเสนอในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจว่า จะให้หน่วยราชการและภาคเอกชนจัดการประชุมสัมมนาต่างจังหวัดในช่วงที่นักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอตัวลงในขณะนี้ รวมถึงจะมีการดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสายการบินด้วยการดูแลมาตรการภาษีบางส่วน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

“กรณีของซาร์ส ใช้เวลาประมาณ 9 เดือน ในกรณีโคโรนาไวรัสนี้เริ่มมาได้ 2 เดือน ต้องรอดูต่อไปว่ากระบวนการของการดูแล ป้องกัน การควบคุม โดยเฉพาะจีนประเทศต้นทาง จะทำได้มากน้อยอย่างไร การประชุมวันนี้เป็นการประชุมครั้งแรกที่จะเตรียมการรองรับปัญหา ซึ่ง ครม.เศรษฐกิจจะติดตามอย่างใกล้ชิด หากมีปัญหาลุกลามเพิ่มขึ้น จะมีการประชุมเพิ่มเติมเพื่อหามาตรการดูแลต่อไปหลังจากนี้ แต่ ณ ขณะนี้เราได้นำประสบการณ์เก่าที่เคยทำในช่วงยุคซาร์ส มาใช้ในยุคนี้เพื่อเตรียมการรองรับ หัวใจของการดำเนินการ คือ เพิ่มสายป่าน เพิ่มลมหายใจให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอยู่ได้ และเป็นอุตสาหกรรมช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ จึงต้องหาทุกวิถีทางช่วยเหลือ และเร่งเครื่องการท่องเที่ยวให้ได้ในช่วงครึ่งปีหลัง” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กรรมการและเลขานุการ ครม.เศรษฐกิจ กล่าว

พร้อมกันนี้ ในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ มีการรายงานตัวเลขอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยล่าสุดให้ทราบ โดยสถานการณ์เศรษฐกิจที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตแผ่วลงบ้าง เนื่องจากรายงานตัวเลขไตรมาส 4 อ่อนกว่าที่คิดไว้ เช่น ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหรือ MPI ที่ติดลบ งบลงทุนที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้า เนื่องจาก พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 รวมถึงผลจากตัวเลขอื่น ๆ และภัยแล้ง ทั้งนี้ ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. จะมีข้อมูลออกมาในช่วงวันที่ 21 ก.พ.นี้ โดยก่อนหน้านี้ สศช. เคยประเมินว่าปี 2563 ไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยงเรื่องงบประมาณ ผลกระทบการระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อโคโรนาไวรัส และปัญหาภัยแล้งเอาไว้ รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งปกติแล้วจะใช้เวลากลับสู่ภาวะปกติ 2-3 ปี และไทยอยู่ภาวะผลกระทบนี้มาแล้ว 18 เดือนนับจากกลางปี 2561 หากไม่เกิดไวรัสระบาด ขณะที่เศรษฐกิจโลก ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ เคยประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ขณะนี้สถานการณ์จะยื้ดเยื้อ จึงต้องเตรียมมาตรการให้เพียงพอเพื่อให้พ้นช่วงเศรษฐกิจถดถอย สำหรับประมาณการเดิมเศรษฐกิจของไทยของ สศช. คือ ปีนี้จะขยายตัวในช่วง 2.7-3.7

นอกจากนี้ ในการประชุม ครม.เศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีระบุว่า โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี เป็นเพียงโครงการระยะแรกเท่านั้น เมื่อสำเร็จจะเริ่มขับเคลื่อนออกสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ต่อไป ปีที่แล้ว ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้หรือ SEC ไปแล้ว วันนี้นายกรัฐมนตรีอนุมัติเพิ่มเติมในส่วนของเขตเศรษฐกิจสร้างสรรค์ล้านนาหรือ NEC ในภาคเหนือ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เสนอให้มีการเปิดเสรีอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ส่วนภาคอีสานมีหลายพื้นที่ ที่จะเชื่อมโยงลุ่มน้ำโขงและเชื่อมโยงการพัฒนา จะพัฒนาเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพ นับเป็นก้าวสำคัญของจุดขยายเศรษฐกิจของไทย จากเดิมมี กทม. และอีอีซีเท่านั้น ทั้งนี้ ทาง สศช. และ ครม.เศรษฐกิจจะเดินหน้าพัฒนาเพิ่มเติมในจุดเหล่านี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เพิ่มภาคกลางเป็น WEC ซึ่งจะจัดทำและนำเสนอต่อไป ซึ่งการประชุม ครม.เศรษฐกิจวันนี้ได้อนุมัติในหลักการ และนายกรัฐมนตรียังสั่งการเพิ่มเติมต้องการให้มีการสร้างเส้นทางที่เป็นกระดูกสันหลังเพิ่มเติมแต่ละภาค โดยในเรื่องนี้ทางกระทรวงคมนาคมจะหารือ สศช. เพื่อวางแผนต่อไป และเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมด จะมีการตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาดูแล เช่นเดียวกับอีอีซี เพื่อขับเคลื่อนภาพรวมโครงสร้างใหญ่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมด โดยจะแก้กฎหมายอีอีซีให้ดูแลทั้งประเทศ

-----------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ