บอร์ดบีโอไอเห็นชอบ 3 มาตรการพิเศษเร่งรัดลงทุนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก

ข่าวทั่วไป Thursday February 6, 2020 14:58 —สำนักโฆษก

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยบอร์ดบีโอไอเห็นชอบ 3 มาตรการพิเศษเร่งรัดลงทุนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก

วันนี้ (6ก.พ.63) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 1/2563 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมพิจารณามาตรการพิเศษในการกระตุ้นการลงทุน ครอบคลุมนักลงทุนทุกกลุ่ม อาทิ มาตรการกระตุ้นการลงทุน ปี 2563 การปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก การปรับปรุงประเภทกิจการด้านการท่องเที่ยว การส่งเสริมการลงทุนกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายน้อย และมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นต้น

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำถึงการส่งเสริมการลงทุนว่า ให้ปรับรูปแบบการทำงานให้รวดเร็วขึ้นสนับสนุนธุรกิจใหม่ เช่น เกษตรชีวมวล เพื่อช่วยในการลดปัญหาเรื่องของ PM 2.5 ไปด้วย รวมทั้งให้บีโอไอจัดรูปแบบส่งเสริมการลงทุน “เทเลอร์เมด”ตรงกับความต้องการของแต่ละกลุ่มอย่างแท้จริง นอกจากนี้ เร่งสร้างการรับรู้เกี่ยวกับมาตรการและแนวทางต่าง ๆ ที่ภาครัฐให้การส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนและกลุ่มเป้าหมายได้รับทราบอย่างทั่วถึงผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งออฟไลน์และออนไนล์ รวมถึงเผยแพร่ผ่านเฟสบุ๊กไทยคู่ฟ้า เพื่อกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงสิทธิประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย

นายกรัฐมนตรียังมอบหมายให้ บีโอไอ ชี้แจ้งทำความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมายเศรษฐกิจฐานรากทั้ง ผู้แทนสภาเกษตรกร ผู้แทนชุมชน เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายรู้รับทราบถึงแนวทางและมาตรการที่รัฐส่งเสริมสนับสนุนและสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ ส่วนการส่งเสริมการลงทุนกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายน้อยนั้น นายกรัฐมนตรีให้ไปพิจารณาขยายไปถึงที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุด้วย เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคต รวมถึงการดูแลคนพิการได้มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม

ภายหลังการประชุมนางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้เห็นชอบมาตรการพิเศษ 3 มาตรการ 1. มาตรการกระตุ้นการลงทุนสำหรับโครงการขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมายที่มีผลกระทบสูงต่อเศรษฐกิจของประเทศ (กิจการกลุ่ม A1 A2 และ A3 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 – 8 ปี แต่ไม่รวมกิจการที่ไม่มีที่ตั้งสถานประกอบการ เช่น กิจการขนส่งทางอากาศ กิจการขนส่งทางเรือ เป็นต้น) ซึ่งผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้ทุกพื้นที่ โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมเป็นระยะเวลา 5 ปี หากมีการลงทุนจริง (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท ภายในปี 2563 หรือไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ภายในปี 2564 ทั้งนี้ มาตรการนี้มีผลบังคับใช้สำหรับคำขอรับการส่งเสริมที่ยื่นตั้งแต่ 2 มกราคม 2562 ถึง 30 ธันวาคม 2563 โดยคาดว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นการลงทุนได้มากกว่า 200,000 ล้านบาท ในระยะปี 2563 - 2564 นี้

2. มาตรการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการปรับปรุงมาตรการส่งเสริม SMEs โดยกำหนดคำจำกัดความของ SMEs ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคำจำกัดความของ SMEs ของ สสว. ที่มีการปรับปรุงเมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา คือ เป็นกิจการที่ต้องถือหุ้นโดยบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 และจะต้องมีรายได้ของกิจการทั้งที่ได้รับการส่งเสริมและไม่ได้รับการส่งเสริมไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี ใน 3 ปีแรก ในกรณีตั้งกิจการในนิคมหรือเขตอุตสาหกรรม จะได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติ บุคลเพิ่มเติมอีก 1 ปี หากตั้งในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนจะได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยได้รับวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในสัดส่วนร้อยละ 200 ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ด้วย ทั้งนี้ ต้องยื่นคำขอรับส่งเสริมตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2563 ถึง วันทำการสุดท้ายของปี 2564

3. มาตรการท่องเที่ยว ที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับปรุงประเภทกิจการกระเช้าไฟฟ้า และกิจการโรงแรม โดยประเภทกิจการกระเช้าไฟฟ้า ได้ขยายขอบข่ายให้ครอบคลุมรถรางไฟฟ้าเพื่อการท่องเที่ยวด้วย และกำหนดเงื่อนไขต้องมีการลงทุนไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) เพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุนโครงการที่มีคุณภาพ สำหรับกิจการโรงแรม ได้มีการปรับเงื่อนไขให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวที่ต้องการกระตุ้นให้เกิดการกระจายรายได้ และการท่องเที่ยวไปสู่เมืองรอง โดยเน้นการสร้างคุณภาพและมาตรฐานของโรงแรมเพื่อให้นักท่องเที่ยวมีระยะเวลาพำนักนานขึ้น และมีการใช้จ่ายในประเทศมากยิ่งขึ้น โดยปรับขอบข่ายพื้นที่ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นระยะเวลา 3 ปี จากเดิมซึ่งให้เฉพาะกรณีลงทุนในพื้นที่ 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ ขยายเป็นกรณีลงทุนในพื้นที่เมืองรอง 55 จังหวัดตามยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว

นอกจากนี้ บอร์ดบีโอไอยังได้มีมติให้เปิดส่งเสริม “กิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย” โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์เฉพาะการยกเว้นภาษี เงินได้นิติบุคคล เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสร้างที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพดี ทั้งนี้ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ เช่น กรณีอาคารชุดต้องมีพื้นที่ใช้สอยต่อหน่วยไม่น้อยกว่า 24 ตารางเมตร กรณีบ้านแถวหรือบ้านเดี่ยว ต้องมีพื้นที่ใช้สอยต่อหน่วยไม่น้อยกว่า 70 ตารางเมตร โดยมีราคาขายต่อหน่วย ไม่เกิน 1.2 ล้านบาท (รวมค่าที่ดิน) กรณีที่ตั้งอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร และไม่เกิน 1 ล้านบาท (รวมค่าที่ดิน) ในกรณีตั้งในจังหวัดอื่นๆ เป็นต้น โดยโครงการต้องได้รับความเห็นชอบจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ก่อนยื่นขอรับการส่งเสริมซึ่งกำหนดให้ยื่นคำขอภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2563 นี้

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี ยังได้แนะให้บีโอไอนำผลงานวิจัยต่าง ๆ ที่มีศักยภาพซึ่งมีอยู่แล้วในปัจจุบันมาพิจารณาหามาตรการสนับสนส่งเสริมไปสู่การผลิตให้เกิดการลงทุนในงานวิจัยอันจะส่งผลดีในเชิงเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศในภาพรวมต่อไป

____________

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ