วันนี้ (5 มีนาคม 2563) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2563 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการจัดตั้งเครือข่าย The AN-IUU (The ASEAN Network for Combating IUU Fishing) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความร่วมมือของภูมิภาคในการแลกเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างทันท่วงทีและความร่วมมือการใช้ข้อมูลจาก MCS เพิ่มขีดความสามารถของประเทศสมาชิกและความสามารถการติดตาม ควบคุมและเฝ้าระวัง และการต่อต้านการทำประมง IUU ผ่านแนวทางปฏิบัติที่ดีในการเผยแพร่ขัอมูล โดยเฉพาะการเฝ้าระวังทางทะเล การสืบสวนสอบสวนและประสบการณ์ของเครือข่าย โดยมีการร่างเอกสาร จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1) Cooperation Framework 2) Term of References และ 3) Rules of Procedures โดยสำนักงานเลขาธิการอาเซียนได้แจ้งเวียนเอกสารแก่สมาชิกอาเซียน เพื่อพิจารณาให้ข้อคิดเห็น ซึ่งปรากฏว่า มีไทย สิงค์โปร์ และสาธารณรัฐอินโดนีเซียเท่านั้นที่ส่งความคิดเห็นต่อร่างเอกสารดังกล่าว ดังนั้น สำนักเลขาธิการอาเซียนจะได้นำความคิดเห็นของทั้งสามประเทศแจ้งเวียนประเทศสมาชิกอาเซียนพิจารณาอีกครั้ง
ที่ประชุมเห็นชอบร่างประกาศ จำนวน 2 ฉบับ ดังนี้ 1) ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. .... 2) ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา สามารถยื่นคำขอรับหนังสือคนประจำเรือ เพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเล พ.ศ. .... เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมงทะเล โดยใช้มาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558
รวมถึงเห็นชอบการจัดส่งคำสั่งคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจฉบับแปลภาษาอังกฤษให้สหภาพยุโรปได้มีความเข้าใจ และแสดงความโปร่งใส ความจริงใจในการแก้ปัญหา IUU และเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบการทำประมงต่อสัตว์ทะเลหายาก และสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม รวมถึงเห็นชอบให้ดำเนินการนำเรือประมงออกนอกระบบ เพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน
พร้อมกันนี้รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับในที่ประชุมว่า ให้เร่งขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย(IUU) อย่างจริงจัง โปร่งใส โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายควบคู่กับการผ่อนปรนการประกอบการทำประมงทะเลอย่างเหมาะสม การปรับปรุงกฎหมายจะต้องให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และต้องไม่ขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดต่อการบริหารทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานมีการสร้างการรับรู้ความเข้าใจให้ผู้ประกอบการ และแรงงานประมงตลอดจนประชาชน ได้รับทราบเพื่อมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาร่วมกันต่อไป
………………………………….
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th