วันนี้ (6 มีนาคม 2563) เวลา 14.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้แถลงข่าว โดยมีนายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข รศ.ดร. จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายในและโฆษกประจำกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันแถลงข่าว สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวถึงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) แจ้งเตือนทุกประเทศ และกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้โรคดังกล่าวเป็นโรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อให้การป้องกันการแพร่ระบาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 11 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ที่มีคำสั่งให้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เรียกโดยย่อว่า ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 มีอำนาจหน้ารวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่อย่างถูกต้อง รับเรื่องร้องทุกข์ ร้องเรียน และประสานการช่วยเหลือ ติดตามการปฏิบัติงาน พร้อมชี้แจงประชาชนและภาคเอกชน ประสานความร่วมมือ โดยให้รายงานความคืบหน้าต่อนายกฯ ทุกวัน หากประชาชนต้องการสอบถามข้อมูลหรือร้องเรียน สามารถติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 288 6070-4 หรือ 1111 นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( COVID-19) ธนาคารกรุงไทย สาขาทำเนียบรัฐบาล บัญชีเลขที่ 067-0-13829-0 เพื่อจัดหาและดูแลสิ่งจำเป็นสนับสนุนการป้องกันโรคไวรัสโควิด การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลโควิด-19 จะเป็นพลังในการร่วมมือร่วมใจของคนไทยที่จะฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน
นายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึง กระบวนการขั้นตอนแรงงานไทยนอกระบบในเกาหลีใต้ว่า แรงงานไทยพำนักในประเทศเกาหลีใต้ 209,909 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม 1. กลุ่มพำนักอย่างถูกกฎหมาย จำนวน 57,470 คน 2. กลุ่มพำนักอย่างผิดกฎหมาย จำนวน 152,439 คน โดยในจำนวนนี้ได้มีการรายงานตัวกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ถึงขั้นตอนการเดินทางกลับประเทศไทยตามมาตรการจูงใจ ก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากสถิติตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 2562-1 มี.ค. 2563 แรงงานที่แสดงความประสงค์กลับไทย จำนวน 5,386 คน ได้มีจำนวนหนึ่งเดินทางกลับไทย จำนวน 4,727 คน โดยมี 2 ขั้นตอน คือ รายงานตัวที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ตรวจประวัติอาชญากรรม ใช้ระยะเวลา 3-15 วัน เมื่อได้ใบอนุญาตต้องรายงานตัวที่ตม.เพื่อรับเอกสารอีกฉบับหนึ่งจึงนำไปเช็คอินที่เค้าท์เตอร์สายการบิน 2. การคัดกรองก่อนจะขึ้นเครื่องบิน ซึ่งเป็นแรงผลักดันจากรัฐบาลไทยในการที่ผลักดันให้เกาหลีใต้เพิ่มมาตรการคัดกรองเข้มข้นมากขึ้น หากพบอาการป่วยจะไม่สามารถขึ้นเครื่องบินกลับประเทศไทยได้ จะต้องอยู่ที่สนามบินและมีการคัดกรองอยู่จำนวน 3 จุด ตั้งแต่ก่อนเข้าอาคาร การคัดแยกอุณหภูมิ และก่อนขึ้นเครื่อง จึงทำให้มั่นใจได้ว่า หากมีผู้ป่วยที่มีอุณหภูมิสูงเกิน 37.5 องศา จะไม่ได้รับการขึ้นเครื่อง ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสานงานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้อย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการรับมือกับผู้ใช้แรงงานที่เดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้ว่า ดูแลคัดกรองตั้งแต่ก่อนออกเดินทาง โดยการจัดระเบียบที่นั่งภายในเครื่องบิน แยกอาการผู้ป่วย ใส่หน้ากากป้องกัน และเมื่อเครื่องลงจอดจะมีจุดจอดเฉพาะ เพื่อความปลอดภัยและความสะดวกในการคัดกรอง โดยกระทรวงสาธารณสุขยืนยันประสิทธิภาพในการทำงาน 4 ประเด็นหลัก คือ 1.กระทรวงสาธารณสุขทราบข้อมูลของผู้ที่เดินทางเข้าประเทศมาทุกราย โดยประสานกับตำรวจตรวจคนเข้าเมืองอย่างใกล้ชิด 2.มีจุดจอดเครื่องบินจำเพาะ สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงจะนำตัวมาคัดกรองตั้งแต่เดินทางถึงสนามบินพร้อมทั้งให้ความรู้และข้อปฏิบัติ 3.สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงน้อย ไม่เพียงแต่ตรวจที่ด่านตรวจแต่มีการติดตามสังเกตอาการ โดยโรงพยาบาล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และชุมชน ก็ร่วมช่วยติดตามด้วย 4.ใช้มาตรการทางกฎหมายสำหรับผู้ที่ไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งนายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ กล่าวย้ำว่า “ทุกคนไม่ใช่เชื้อโรค เป็นประชาชนเหมือนกัน” ขอให้ทุกคนเข้าใจและเห็นใจซึ่งกันและกัน
รศ.ดร. จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ของเกาหลีใต้ อำนวยความสะดวกให้แรงงานไทยเดินทางกลับประเทศ กรณีแรงงานไทยเจ็บป่วยหรือมีผลการตรวจออกมาเป็นบวกนั้น ทางการเกาหลีใต้จะดำเนินการรักษาให้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลที่กำหนด และไม่จำกัดว่าผู้ป่วยคนดังกล่าวพำนักอยู่ในเกาหลีใต้อย่างถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย และเมื่อแรงงานไทยเดินทางกลับสู่ประเทศไทยแล้ว อาสาสมัครแรงงานในภูมิลำเนาจะติดตามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกวันทำการตั้งแต่วันจันทร์-วันศุกร์ กระทรวงงานจัด video conference กับทุกหน่วยงานที่สังกัดภายใต้กระทรวงแรงงานและทูตแรงงานที่ประจำอยู่ต่างประเทศ 13 ประเทศ เพื่อติดตามข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ
นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า หลังจากมีข้อสั่งการจากนายกรัฐมนตรีให้กระทรวงมหาดไทย จัดสถานที่สำหรับรองรับผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ขณะนี้ในได้เตรียมสถานที่รองรับไว้พร้อมแล้ว ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมรับมือต่อกลุ่มเป้าหมาย สำหรับผู้ที่กลับมาก่อนที่จะมีมาตรการดังกล่าว มีกลไกส่วนภูมิภาคเข้าไปสังเกตในทุกพื้นที่ที่มีคนไทยเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศแล้วเดินทางกลับมายังประเทศไทยด้วย
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายในและโฆษกประจำกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่าขณะนี้โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศไทยนั้นมี 11 โรงงานและกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยจำนวน 1 ล้าน 2 แสนชิ้นต่อวัน โดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงสาธารณสุขเข้ามาร่วมกันดูแลและควบคุมการผลิตทั้งหมด จะมีการจัดสรรปันส่วนหน้ากากอนามัยให้โรงพยาบาลจำนวน 7 แสนชิ้น เพื่อไม่ให้เกิดการขาดแคลน และจะมีบางส่วนที่จัดเตรียมเอาไว้เพื่อนำไปขายในร้านขายปลีก ร้านค้าสะดวกซื้อ 7-11 บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เทสโก้ โลตัส รวมถึงร้านค้าธงฟ้าจำนวน 1,400 สาขาทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีขบวนรถคาราวานที่จะให้บริการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยจำนวน 111 คันตามจุดต่าง ๆ โดยสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ทางเว็บไซต์ของกรมการค้าภายใน ว่ารถจะไปบริการที่จุดไหนในแต่ละวัน ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนหากพบเจอการขายหน้ากากอนามัยเกินราคาสามารถแจ้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนราคาสินค้า กรมการค้าภายใน เบอร์โทรศัพท์ 1569 และจะดำเนินคดีตามกฎหมายทันที
................................
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th