วันนี้ (17 มี.ค.63) เวลา 16.40 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงเกี่ยวการจับกุมดำเนินคดีกรณีของการกระทำความผิดเกี่ยวกับเรื่องของหน้ากากตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ สรุปดังนี้
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวมี 2 กรณี ได้แก่ กรณีที่ 1 คือ การดำเนินคดีในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการขายหน้ากากอนามัยออนไลน์ ซึ่งจะได้มีการดำเนินคดีกับร้านที่ชื่อว่า “ช้าง” และมีการขายหน้ากากอนามัยผิดกฎหมาย บนแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า “ช้อปปี้” (Shopee) ยี่ห้อ “เวลแคร์” จำนวน 50 ชิ้นต่อกล่องในราคากล่องละ 1,050 บาท หรือเฉลี่ยชิ้นละประมาณ 21 บาท รวมค่าส่งอีก 80 บาท รวมเป็น 1,130 บาท ด้วยข้อหา ขายเกินราคาที่กำหนด และค้ากำไรเกินควร โดยขายเกินราคาที่กำหนด จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนข้อหาค้ากำไรเกินควรจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากนี้ไปเจ้าหน้าที่กรมการค้าภายในและผู้เกี่ยวข้องก็จะไปแจ้งความกับตำรวจคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ปคบ. เพื่อดำเนินคดีต่อไป โดยจะแจ้งความดำเนินคดีกับร้าน “ช้าง” และกรรมการผู้จัดการช้อปปี้ประเทศไทยจำกัด ทั้งนี้ มีการตรวจสอบพบว่า ภายหลังจากที่ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับแพลตฟอร์ม Lazada ใน 3 กรณีแล้ว การค้นหาหน้ากากหรือหน้ากากอนามัยในแพลตฟอร์มดังกล่าวก็ดูเหมือนจะหายไปแล้ว อย่างไรก็ตาม หากพบการกระทำความผิดการขายเกินราคาหรือค้ากำไรเกินควร สามารถแจ้งมาได้ที่ 1569 เพื่อที่จะได้ติดตามตรวจสอบและดำเนินคดีต่อไป
โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตือนแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ยังปล่อยให้มีการนำหน้ากากอนามัยซึ่งต้องจำหน่ายในราคาที่กำหนดมาเปิดร้านขาย ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้แต่การหลีกเลี่ยง ขายสินค้าในราคากำหนด แต่รวมบริการแฝงคือค่าขนส่ง 300 บาท 400 บาท และ 500 บาท เข้าข่ายการทำผิดเช่นกัน ทั้งนี้ การควบคุมราคาจะรวมทั้งสินค้าและค่าบริการ คือค่าขนส่งด้วย สำหรับหน้ากากผ้านั้น ไม่ได้เป็นสินค้าควบคุม เพราะรัฐบาลต้องการส่งเสริมที่จะให้ประชาชนได้มาใช้หน้ากากผ้ามากขึ้น เลี่ยงการใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ใช้หน้ากากอนามัยก่อน รวมถึงบุคคลกลุ่มเสี่ยงอื่น เช่น ผู้ป่วย เป็นต้น ซึ่งหน้ากากผ้าสามารถจำหน่ายออนไลน์ได้โดยไม่ต้องมีการควบคุม กรณี 2 คือ กรมการค้าภาย ได้ตรวจสอบโรงงานผลิตหน้ากากแห่งหนึ่งที่สะแกงาม บริษัทเนชั่นแนล คอตตอน โปรดักท์จำกัด ซึ่งผลิตหน้ากาก Health Mask พบว่า ขายให้กับบริษัท สเปเชียลตี้ เท็ค คอร์ปอเรชั่น เมื่อปรากฏว่า โรงงานผลิตหน้ากากดังกล่าวเป็นโรงงานผลิตหน้ากากที่เข้ากรณีเป็นหน้ากากทางเลือกไม่มี อย. ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตหน้ากากประเภทใดก็ต้องแจ้งข้อมูลให้กับกรมการค้าภายในทราบ ดังนั้นข้อหา คือ ไม่แจ้งข้อมูลการผลิต ต้นทุน และสต็อกให้เลขานุการคณะกรรมการ กกร. คือ กรมการค้าภายในทราบ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากตรวจสอบต้นทุนแล้วพบว่าขายเกินราคาที่กำหนดหรือค้ากำไรเกินควร ก็จะแจ้งข้อหาเพิ่มอีก 2 ข้อหา เพราะกรณีหน้ากากทางเลือกนั้น กำหนดไว้ชัดเจนว่าการขายจากโรงงานไปยังผู้ค้าส่งจะบวกได้ไม่เกินร้อยละ 10 จากต้นทุน พบว่าเกินก็จะแจ้งข้อหาเพิ่มเติมกับตำรวจ ปคบ. เช่นเดียวกัน
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการกระจายหน้ากากอนามัยว่า ที่ประชุมของศูนย์กระจายหน้ากาก ได้พิจารณากระจายหน้ากากไปแล้ว วันนี้มีการแจ้งยอดการผลิต จำนวน 1 ล้าน 8 แสน ชิ้น ส่งให้กระทรวงสาธารณสุขไปบริหารจัดการกระจาย จำนวน 1 ล้านชิ้น ไปยังสถานพยาบาลต่าง ๆ ทั้งของรัฐและเอกชน รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนที่เหลือ 8 แสนชิ้น กรมการค้าภายในบริหารจัดการกระจายไปยังร้านค้าต่าง ๆ และร้านขายยา เป็นต้น อย่างไรก็ตามยอมรับว่ายังมีความขาดแคลนหน้ากากอนามัย ไม่พอกับความต้องการของประชาชนทั้งประเทศเพราะข้อจำกัดในเรื่องของการผลิต ซึ่งได้ประสานงานโรงงานการผลิตให้เพิ่มกำลังการผลิตโดยเปลี่ยนไลน์การผลิตจากการผลิตสินค้าชนิดอื่นหันมาผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อการแพทย์มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันสามารรถเพิ่มมาได้เป็น 1 ล้าน 8 แสนชิ้น ดังกล่าว และแนวโน้มอาจจะเพิ่มเติมขึ้นไปได้อีกจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ ถือหลักในการกระจายหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ให้สถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย ลำดับแรก ยืนยันรัฐบาลไม่มีนโยบายที่ต้องการให้ส่งออกหน้ากากอนามัยซึ่งเพราะเป็นสินค้าที่ประเทศไทยจำเป็นต้องใช้
----------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th