(18 มีนาคม 2563) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จัดประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานและผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ สินค้าอุปโภค บริโภค อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูนิลิเวอร์ ประเทศไทย บริษัทในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป บริษัท ดัชมิลล์ จำกัด บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด บิ๊กซี ท็อปส์ แม็คโคร 7-ELEVEN และผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เตรียมพร้อมรับมือทุกสถานการณ์ จากผลกระทบโควิด – 19 พร้อมสร้างความมั่นใจให้กับภาคประชาชน ทั้งด้านการผลิต และกระจายสินค้า เน้นย้ำ ประชาชนไม่ต้องกักตุนสินค้า เชื่อ ประเทศไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบอาหารของโลก สินค้าอุปโภค บริโภคมีเพียงพออย่างแน่นอน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ที่สร้างความวิตกกังวลกับภาคประชาชน จนเป็นสาเหตุให้ประชาชนจำนวนมากเดินทางไปซื้อสินค้าเพื่อกักตุน โดยเฉพาะ ข้าวถุง อาหารสำเร็จรูปและสินค้าอื่นๆ เช่น ซอสปรุงรส กระดาษทิชชู จนห้างค้าปลีกต้องทยอยเติมสินค้าเข้าชั้นอย่างต่อเนื่อง สินค้าบางอย่างที่เติมสินค้าไม่ทัน ส่งผลให้เกิดเป็นภาพในกระแสโซเชียลมีเดียว่า สินค้าอุปโภค บริโภคไม่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการจัดประชุมหารือร่วมกับร่วมกับหน่วยงานและผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ สินค้าอุปโภค บริโภค อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูนิลิเวอร์ ประเทศไทย บริษัทในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป บริษัท ดัชมิลล์ จำกัด บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด บิ๊กซี ท็อปส์ แม็คโคร 7-ELEVEN ฯลฯ เพื่อแสดงศักยภาพในการรับมือกับสถานการณ์ทุกรูปแบบ ทั้งในด้านวัตถุดิบ กำลังการผลิต และการกระจายสินค้า โดยสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 11 ของโลก และอันดับที่ 2 ของเอเชีย (รองจากประเทศจีน)
ทั้งนี้ ปริมาณ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มในประเทศมีจำนวน 53,642 โรงงาน แบ่งออกเป็น โรงงานแปรรูปผลิตผลทางเกษตรเบื้องต้น 43,725 โรงงาน โรงงานแปรรูปอาหาร 9,102 โรงงาน โรงงานผลิตเครื่องดื่ม 815 โรงงาน มีมูลค่าการผลิตอาหารราว 3,000,000 ล้านบาท / ปี และหากแยกประเภทผลิตภัณฑ์ที่ประชาชนมีความต้องการในช่วงสภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ประกอบด้วย 1.ข้าวสาร ผลผลิตข้าวในประเทศปริมาณ 18.72 ล้านตันข้าวสาร โดยมีความต้องการใช้ในประเทศ 11.5 ล้านตัน แบ่งออกเป็น
การใช้บริโภคในประเทศ 8.66 ล้านตันข้าวสาร ใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูป 1.56 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งนับว่ามีสัดส่วนการผลิต และความต้องการใช้มีปริมาณเพียงพอ 2. บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กำลังการผลิต 10 ล้านซอง/วัน และสามารถผลิตเพิ่มได้ถึง 15 ล้านซอง/วัน กำลังการผลิต (ต่อเดือน) 2.95 หมื่นตัน กำลังการผลิตที่ใช้ไป 79% 3. ปลากระป๋อง กำลังการผลิต (ต่อเดือน) 22,679 ตัน กำลังการผลิตที่ใช้ไป 50% 4. น้ำดื่ม กำลังการผลิต (ต่อเดือน) 444 ล้านลิตร กำลังการผลิตที่ใช้ไป 67% 5.ซอสปรุงรสต่าง ๆ กำลังการผลิต (ต่อเดือน) 7.9 ล้านลิตร กำลังการผลิตที่ใช้ไป 96% ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่า “ประเทศมีศักยภาพเพียงพอ และเป็นแหล่งผลิตอาหารระดับโลก”
นอกจากนี้ ในเรื่องของหน้ากากอนามัยทางเลือกชนิดผ้า คณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติให้กระทรวงอุตสาหกรรม การผลิตหน้ากากผ้าจำนวน 10 ล้านชิ้น โดยกระทรวง ฯ ได้มีการประสานงานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยจะใช้ผ้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมเร่งรัดกระบวนการผลิตให้เร็วที่สุด พร้อมเตรียมแจกจ่ายแก่ประชาชนที่ขาดแคลน โดยจะทยอยภายในเดือนสัปดาห์ถัดไป ตลอดจน ปริมาณแอลกอฮอล์ และเจลล้างมือ ก็ได้รับความมั่นใจจากผู้ประกอบการว่า สามารถดำเนินการผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนอย่างแน่นอน วอนประชาชน ไม่ต้องตระหนก สินค้ามีเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในประเทศอย่างแน่นอน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th