ผลการประชุม ครม. ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อรับมือกับโควิด-19 [กระทรวงศึกษาธิการ]

ข่าวทั่วไป Tuesday March 24, 2020 15:22 —สำนักโฆษก

ผลการประชุม ครม. ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อรับมือกับโควิด-19

(24 มี.ค. 2563) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านระบบ Video Conference ดังนี้

ปรับงบ’ 63 ช่วยผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 เน้น Digital Skill และภาษาอังกฤษ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะนี้ยังไม่ถึงระดับ 3 แต่ก็ต้องมีมาตรการปรับแผนว่าจะทำอย่างไรบ้าง ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายให้ทุกหน่วยงานปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณปี 2563 เพื่อนำไปใช้จ่ายช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทั่วไปที่ตกงาน ผู้ที่เป็นแรงงานอิสระ หรือแรงงานที่กำลังเข้าสู่ระบบ หรือเด็กอาชีวะจบใหม่ โดยให้จัดหาครูสอนเสริมความรู้ ฝึกอาชีพ เรียนออนไลน์ให้กับกลุ่มคนเหล่านี้

ที่ประชุม ครม. มีข้อคิดเห็นว่าควรจะทำเรื่องของ Digital Skill และเรื่องภาษาอังกฤษ ซึ่งตรงกับแนวทางที่ ศธ.วางไว้ตั้งแต่ต้น จึงถึงเวลาที่จะนำมาใช้จริงแล้ว ในขณะเดียวกันงบประมาณที่ปรับมาหากไม่เพียงพอ ก็สามารถใช้จ่ายงบกลางได้ตามความเหมาะสม

ศธ.ลุยจัดการศึกษาออนไลน์เต็มรูปแบบ ได้ความรู้เท่าเดิมหรือใกล้เคียง ทันก่อนเปิดเรียน

รัฐบาลประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ ในวันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม 2563 และไม่ชัดเจนว่าจะใช้ระยะเวลายาวนานเพียงใด ศธ.จึงต้องบริหารจัดการการเรียนการสอนออนไลน์อย่างเข้มข้น โดยในส่วนของเด็กมัธยมฯ อาจจะสามารถจัดหาอุปกรณ์ใช้เอง ดูแลเองได้ ถึงไม่มีความเข้าใจ ก็ยังมีผู้ปกครองหรือกลุ่มเพื่อนที่สามารถช่วยเหลือกันได้ แต่สำหรับเด็กประถมฯ อาจจะมีข้อจำกัดบางอย่าง โดยอาจจะต้องแบ่งวิธีการสอนออนไลน์สำหรับเด็กประถมไปเป็นการเรียนการสอนทาง TV ซึ่งทุกบ้านน่าจะมีช่องทางดังกล่าวนี้รองรับอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ศธ.จะใช้เวลาในสัปดาห์นี้ เพื่อศึกษาแนวทางการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ และนำเสนอ ครม.ภายในสัปดาห์หน้า โดยมั่นใจว่าสามารถบริหารจัดการได้ทันเวลาเปิดภาคเรียน หรือหากมีข้อติดขัดบางประการที่อาจส่งผลให้เปิดเรียนช้ากว่าปกติ ก็ยังวางเป้าไว้ว่ากลางเดือนพฤษภาคมนี้จะสามารถดำเนินการเรียนการสอนออนไลน์ได้อย่างแน่นอน

ขณะเดียวกัน ศธ.มีข้อกังวลเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพการศึกษาอย่างมาก ทั้งนี้หากผู้บริหารมองเห็นปัญหา ข้อจำกัดต่าง ๆ ก็จะสามารถออกแบบการจัดห้องเรียน การใช้เทคโนโลยี การบริหารทรัพยากร เพื่อให้นักเรียนได้ความรู้เท่าเดิมหรือใกล้เคียงกับแบบเดิมมากที่สุด

แปลงโรงเรียนในภาวะฉุกเฉิน เพิ่มมาตรการรัฐช่วยหนี้สินครู พร้อมปรับตัวทำงานจากบ้านผ่านเครือข่ายออนไลน์

ในส่วนโรงเรียนหากยังไม่สามารถเปิดเรียนได้ ศธ.ก็มีแนวทางพิจารณาดัดแปลงมาใช้เป็นสถานที่ช่วยเหลือการบริหารจัดการของรัฐบาลในภาวะฉุกเฉินได้ เช่น เป็นสถานที่รับอาหารหากอาหารไม่เพียงพอ เป็นต้น

ขณะเดียวกันส่วนที่เกี่ยวข้องกับครู จะมีมาตรการของรัฐในการช่วยเหลือผู้มีภาระหนี้สินต่าง ๆ ซึ่ง ศธ. จะพยายามบูรณาการทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับหนี้สินครูให้เห็นแนวทางชัดเจนขึ้น มีความสะดวกมากขึ้นในการรับความช่วยเหลือ เพื่อจะได้มีสภาพคล่องกับคุณภาพชีวิตครู

ส่วนเรื่องการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ตามแนวทางที่ ศธ.ได้วางไว้ จะมุ่งให้บุคลากรทำงานที่บ้าน สามารถส่งงานมาทางออนไลน์ได้ ซึ่งในส่วนนี้สถานศึกษา หรือหน่วยงานต่าง ๆ จะต้องบริหารจัดการตามบริบทของหน่วยงานตนเองให้ได้

การรับสมัครนักเรียน ให้ปรับตามสถานการณ์ เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

การรับสมัครนักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 หากสถานการณ์เลวร้ายลง ศธ.มีแผนจะขยับห้วงเวลาการรับสมัครเป็นระยะ โดยยึดตามมาตรการป้องกันการเผยแพร่โรคระบาด โดยต้องทำให้เป็นกลุ่มที่เล็กลง ทยอยมาสมัครทีละกลุ่ม หามาตรการที่เข้มข้นขึ้นในการดูแลความเรียบร้อย สร้างความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ที่มาดูแลตรงนี้ และตัวนักเรียน ตลอดจนหาวิธีการคัดเลือกที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายให้เหมาะสมตามสถานการณ์

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ