ซินโครตรอน ร่วมกับนักวิจัย มทส. ผ่านวิกฤต COVID-19 ด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำ วิจัยไกลถึงไต้หวัน [กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี]

ข่าวทั่วไป Tuesday March 24, 2020 15:35 —สำนักโฆษก

ซินโครตรอน ร่วมกับนักวิจัย มทส. ผ่านวิกฤต COVID-19 ด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำ วิจัยไกลถึงไต้หวัน

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างหนักของไวรัสโคโรน่า หรือ COVID-19 ในหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลกระทบโดยทั่วไปในหลากหลายวงการไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ การแพทย์ คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ ที่เห็นจะมีความสำคัญต่ออนาคตของมวลมนุษย์คงหนีไม่พ้นคือวงการด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัย โดยในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้บางส่วนของการศึกษาวิจัยหยุดชะงักลง ด้วยเหตุที่นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถเดินทางไปใช้อุปกรณ์ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในสถาบันวิจัยที่ต่างประเทศได้ เพราะการเดินทางมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยเฉพาะในสาธารณรัฐประชาชนจีน

Prof. Dr.James R.Ketudat-Cairns หัวหน้าสาขาวิชาเคมี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นหนึ่งในนักวิจัยที่ประสบปัญหาดังกล่าว ต้องการที่จะทำการทดลองเพื่อหาโครงสร้างสามมิติของโปรตีน ณ ระบบลำเลียงแสง Protein microcrystallography TPS05A : National Synchrotron Radiation research Center (NSRRC) สาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน) จึงเข้ามาปรึกษากับนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนว่าจะมีเทคโนโลยีใดที่จะช่วยให้ได้ทำการทดลองโดยไม่ต้องไปเดินทางไปถึงไต้หวันได้ และจึงได้มีความร่วมมือกับนักวิจัยของระบบลำเลียงแสงที่ 7.2W: Macromolecular Crystallography และห้องปฏิบัติการตกผลึกโปรตีน เพื่อทำการทดลองและเก็บข้อมูลโดยวิธีการเข้าถึงคอมพิวเตอร์ และเครือข่ายจากระยะไกล (remote access)

โดยทางสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนให้การสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการจัดส่งตัวอย่างผลึกโปรตีน ไปที่ซินโครตรอนไต้หวัน และทางสถาบันมีความพร้อมทางด้านระบบอินเตอร์เนต คอมพิวเตอร์ ซอฟแวร์ต่างๆ รวมไปถึงนักวิทยาศาสตร์ของทางสถาบันมีประสบการณ์ในการทำการทดลองที่ NSRRC ก่อน ทำให้สามารถทำการทดลองเก็บข้อมูลโดยใช้เทคนิคการเลี้ยวเบนรังสีเอกซ์ผ่านผลึกโปรตีนที่ไต้หวันโดยไม่ต้องเดินทางไป ช่วยลดระยะเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้ด้วย

ผลการทดลองส่วนหนึ่งที่ได้ทำให้เราสามารถหาโครงสร้างสามมิติของโปรตีน เบต้า-กลูโคซิเดส (Beta Glucosidae GH116) จากแบคทีเรีย ที่คล้ายกับโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรงในมนุษย์ (Human glucosylcerebrosidase 2) ซึ่งจะทำให้เราสามารถเข้าใจกลไกการเกิดโรคต่อไปได้ในอนาคต

ข้อมูลข่าวโดย : สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (สซ.)

เผยแพร่ : จิรายุ รุจิพงษ์วาที

ส่วนสื่อสารองค์กร

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

Facebook : @MHESIThailand

Call Center โทร.1313

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ