วันนี้ (26 มี.ค.63) เวลา 13.25 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ "COVID-19" โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทยทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เปิดเผยภายหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานฯ ว่า ตามที่คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ เป็นกรรมการ และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (นายประทีป กีรติเรขา) เป็นกรรมการและเลขานุการ โดย ศบค. มีอำนาจหน้าที่ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 กฎหมายที่โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี หรือกฎหมายที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการ ทั้งนี้ เท่าที่จำเป็นในการปฏิบัติงานให้สถานการณ์ฉุกเฉินยุติลง พร้อมทั้งจัดหาและการบริหารจัดการหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ เพื่อกระจายให้ถึงประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ การจัดโครงสร้างขององค์กรให้เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่และจัดตั้งหน่วยงาน หรือศูนย์ปฏิบัติการเพื่อเป็นองค์กรปฏิบัติการตามที่เห็นสมควร รวมถึงการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลและประชาชน จัดให้กำลังข้าราชการตำรวจ ข้าราชการทหาร และข้าราชการพลเรือน เพื่อดำเนินการตามแผนรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญและสถานที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ จัดให้มีชุดปฏิบัติการจากข้าราชการตำรวจ ข้าราชการทหาร และข้าราชการพลเรือน เพื่อเข้าระงับเหตุในกรณีการก่อความไม่สงบหรือช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่เกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉิน
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งที่ประชุมทราบถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า ดำเนินการมาถึงจุดที่รัฐบาลจำเป็นต้องใช้การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อระดมทรัพยากรทางการบริหาร และสรรพกำลังของทุกหน่วยงาน รวมถึงการออกข้อกำหนดกฎเกณฑ์ เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาด ควบคู่กับการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมที่จะเกิดขึ้น ช่วงเวลานี้ เป็นช่วงเวลาสำคัญยิ่งที่จะควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดไม่ให้ขยายตัวไปถึงจุดที่ควบคุมรองรับไม่ได้ โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบแนวทางการทำงานของศูนย์ฯ ดังนี้ 1. ให้ผู้รับผิดชอบแต่ละด้านเสนอแผนรายละเอียดและแนวทางปฏิบัติตาม พ.ร.ก. กำหนดอำนาจหน้าที่ในแต่ละด้าน 2. ให้มีการบูรณาการจัดระบบการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนของสังคม 3. ให้ติดตามผลกระทบจากการประกาศ พ.ร.ก. นี้ ของประชาชนทุกกลุ่มและให้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา บรรเทาผลกระทบและช่วยเหลือเยียวยา 4. ให้ความเชื่อมั่นในระบบทางการแพทย์เป็นความหวังที่สำคัญที่สุดของประชาชน ให้ระดมทรัพยากร และบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมดที่มี ทั้งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำ กรุงเทพมหานคร และภาคเอกชน โดยเฉพาะเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ สถานพยาบาลและอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ทั้งหมด เช่น เครื่องช่วยหายใจ เร่งแจ้งความต้องการ ความขาดแคลน เพื่อจะได้ทราบความต้องการและจัดหาโดยเร็วที่สุด อุปกรณ์เวชภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ให้ต้องเร่งประสานกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ในการดำเนินการเรื่องของกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการดังกล่าว เช่น ด้านภาษีนำเข้าหรือภาษีที่เกี่ยวข้อง 5. การสื่อสารในยามวิกฤติ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด 1) ขอเน้นความเป็นเอกภาพในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ โดยขอให้ประสานความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และสื่อมวลชน ในด้านนี้ด้วย 2) ขอความร่วมมือสื่อมวลชนทุกช่อง ในการให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน ในเรื่อง Social Distancing หรือการเว้นระยะห่างของบุคคลในสังคมเพื่อไม่ให้มีปัญหาในเรื่องของการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และ 6. งบประมาณ ขอให้ทุกส่วนราชการปรับแผนงาน/โครงการของภาครัฐให้เน้นการนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านสาธารณสุข
นอกจากนี้ที่ประชุมได้รับฟังรายงานจากหัวหน้าส่วนราชการแต่ละด้าน ดังนี้ 1) ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานเกี่ยวกับการดำเนินการด้านสาธารณสุขในทุกเขตพื้นที่ทั่วประเทศถึงปัญหาและแนวทางในการจัดการแก้ไข 2) ปลัดกระทรวงมหาดไทย รายงานด้านการสั่งการ ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมถึงการควบคุมโรค 3) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รายงานด้านความมั่นคงโดยเสนอทางเลือกในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องต่อสถานการณ์นี้ 4) ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานด้านการควบคุมสินค้า 5) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ รายงานด้านการต่างประเทศ เกี่ยวกับการคุ้มครองช่วยเหลือผู้มีสัญชาติไทยในต่างประเทศ และ 6) ด้านการสื่อสารโทรคมนาคม สื่อสังคมออนไลน์ นำเสนอโดยปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
สำหรับการทำงานในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดีทั้งการทำงานในภาคนโยบายและปฏิบัติ โดยเฉพาะความพร้อมด้านยุทโธปกรณ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ เช่น หน้ากากอนามัย ชุด PPE เครื่องช่วยหายใจ ฯลฯ ในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางด้านสาธารณสุขและทหาร นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังมีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนทุกท่าน โดยขอพี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือในเรื่องของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นตัวช่วยที่ทำให้เราสามารถผ่านพ้นเหตุการณ์นี้ไปได้ด้วยดี ด้วยมาตรการให้ประชาชนเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) เพื่อชะลออัตราการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ซึ่งเป็นคำตอบของการที่จะทำให้โรคระบาดนั้นยุติหรือหยุดได้โดยเร็ว ทั้งนี้ จะมีการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทุกวัน โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อหารือร่วมกันในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป
ด้าน พลเอก พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านความมั่นคงการปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภท ได้ชี้แจงถึงมาตรการของรัฐบาลว่าจะเป็นการยกระดับจากเบาไปหาหนัก ให้มีผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด โดยจัดตั้งจุดตรวจคัดกรองโรค 359 จุดทั่วประเทศ ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีจำนวน 7 จุด ในจุดตรวจคัดกรองแต่ละแห่งจะมีการประสานงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย โดยมีการมอบหมายหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ควบคุมโรค และสารวัตรทหาร เพื่อปฏิบัติภารกิจหน้าที่อำนวยความสะดวกในการตรวจคัดกรองการปฏิบัติตัวของประชาชนว่าปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในการสัญจรไปมาหรือไม่ เช่น การสวมใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19 รวมทั้งจะมีการการวัดอุณหภูมิให้กับประชาชนที่สัญจรไปมาด้วย
พร้อมย้ำว่าขณะนี้ยังไม่มีการปิดประเทศ หรือปิดเมืองแต่อย่างใด โดยให้ประชาชนทุกคนร่วมใจกันปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการลดการเดินทางสัญจรไปมา เพื่อเป็นการช่วยลดจำนวนของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งอย่ากักตุนสินค้าเพื่อจะได้มีสินค้าเพียงพอต่อทุกคน ทั้งนี้ขอความร่วมมือให้สื่อมวลชนและทุกภาคส่วนเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน เน้นย้ำการเว้นระยะห่างทางสังคม
พร้อมกันนี้ พลตำรวจโท ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร กอ.รมน. ฝ่ายปกครอง สาธารณสุข ขนส่ง และอาสาสมัครต่าง ๆ ในการตั้งจุดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามถนนเส้นทางคมนาคม โดยกำหนดจุดทั่วประเทศ จำนวน 357 จุด แบ่งเป็นในกรุงเทพมหานคร 7 จุด ซึ่งจากประเมินผลในการทำงานวันแรกคาดว่าจะมีการเพิ่มเติมอีกจำนวน 5 จุดในกรุงเทพฯ ได้แก่ บริเวณเพชรเกษม บางนา-ตราด ทางด่วนบูรพาวิถี วิภาวดี-รังสิต (อนุสรณ์สถานแห่งชาติ) ดอนเมือง-โทลล์เวย์ และเพิ่มจุดบริเวณทางเข้า - ออกของจังหวัดอีกหลายแห่ง โดยตำรวจทำหน้าที่ในการบริหารงานจราจร ตรวจประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อตรวจดูว่าใช่ผู้ที่อยู่ในช่วงกักตัวหรือไม่ และมีการบันทึกข้อมูลเดินทางลงแอพลิเคชัน ดูแลความปลอดภัย โดยฝ่ายปกครองมีหน้าที่ซักถามข้อมูลผู้เดินทาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนอุปกรณ์ประจำจุดตรวจ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอยู่ตามจุดต่าง ๆ เพื่อตรวจวัดไข้ ประเมินอาการ รวมทั้งมีจิตอาสาคอยให้ความรู้และประชาสัมพันธ์ด้วย สำหรับแนวทางปฏิบัติของประชาชนนั้น ขอให้ทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ และให้ความร่วมมือเมื่อเจ้าหน้าที่เรียกตรวจยานพาหนะ วัดอุณหภูมิ เพื่อความปลอดภัยของประชาชนทุกคน และงดเว้นการเดินทาง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ที่มีโรคประจำตัว พร้อมขอให้พกบัตรประชาชนติดตัวเพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ ทั้งนี้ สถานที่ที่กรุงเทพฯ และในแต่ละจังหวัดได้ประกาศเป็นสถานที่หวงห้ามแล้วขอความร่วมมือประชาชนไม่เข้าไปชุมนุม ส่วนประเพณีทางสังคมให้ทำเท่าที่จำเป็น
ส่วนกรณีที่ยังมีผู้ฝ่าฝืน พ.ร.บ. ควบคุมสินค้าอยู่ จำหน่ายสินค้าเกินราคา ปล่อยข่าวลวง รวมถึงผู้กระทำการไม่เหมาะสมตามที่สาธารณะ เช่น ป้ายน้ำลายตามสถานที่ต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่อง โดยจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ หากประชาชนพบเบาะแสการกระทำผิดหรือฝ่าฝืนข้อห้าม สามารถช่วยกันแจ้งมายัง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หมายเลข 1111 สถานีตำรวจในพื้นที่หรือสายด่วนหมายเลข 191 ได้ โดยจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยจัดการดูแลต่อไป
-------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th