เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ประชุมร่วมกับคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ทุกแห่งทั่วประเทศ คณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เพื่อเตรียมความพร้อมของ อว. รองรับสถานการณ์การระบาด COVID-19 ในสถานการณ์ในแต่ละระดับ หลังจากที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ประกาศยกระดับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด -19 ให้เป็นโรคระบาดที่แพร่กระจายไปทั่วโลก (Pandemic) ทำให้แต่ละประเทศต้องเร่งหาแนวทางและมาตรการสำหรับรับมือให้เข้มข้นมากขึ้น โดยประเทศไทยเองก็มีความพยายามในการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อลดอัตราการแพร่กระจายของโรค
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า “ในภาวะการระบาดที่อาจจะยืดเยื้อยาวนาน ทำให้เราต้องวางแผนรับมือในระยะยาว เพื่อลดความตื่นตระหนกของคนในสังคม และสร้างความเชื่อมั่น ด้วยการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งในแง่การติดตามและตรวจสอบกลุ่มเสี่ยง การบริหารจัดการวัสดุอุปกรณ์รวมไปถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรทุกภาคส่วน เช่น หน่วยงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมควบคุมโรค โรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์ในสังกัด อว. กลุ่มสมาคมภาคเอกชน ประกอบไปด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าเฮลท์เทคไทย สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ ฯลฯ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมและแนวทางการกู้วิกฤตสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในครั้ง ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 4 ประเด็น ดังนี้
1. การใช้ระบบ Tracking เพื่อติดตามผู้เดินทางเข้าประเทศซึ่งมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงและเฝ้าระวัง ด้วยแพลตฟอร์ม DDC-care: พัฒนาโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรค สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และ กลุ่มสตาร์ทอัพ โดยจะเป็นระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรค เพื่อติดตามและประเมินสุขภาพผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ ซึ่งมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงและต้องกักตัวเองภายในที่อยู่อาศัยเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งกรมควบคุมโรคจะประเมินความเสี่ยงจากข้อมูลสุขภาพที่ได้จากระบบ เพื่อให้คำแนะนำและข่วยเหลือได้ทันท่วงทีเมื่อมีอาการ
นอกจากนี้ ยังสามารถติดตามการเดินทางของกลุ่มเสี่ยง เพื่อใช้ประเมินพื้นที่เสี่ยงต่อไป โดยบุคคลที่อาจเกี่ยวข้องกับกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวก็สามารถโหลดแอปพลิเคชัน DDC-care เพื่อรายงานสุขภาพเป็นเวลา 14 วันได้เช่นเดียวกัน ในขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมอัพโหลดขึ้นทั้งในระบบของแอปเปิ้ล กูเกิ้ล และหัวเว่ย คาดว่าจะใช้งานได้ภายในวันที่ 16 มีนาคม 2563 และจะดำเนิการติดตั้งที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ทั้งท่าอากาศยาน ท่าเรือ ด่านพรมแดนทางบก รวม 46 ด่าน โดยมีบริการติดตั้งผ่าน QR code ที่หน้าด่าน พร้อมระบบป้องกันคนที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายเข้ามาใช้ ตลอดจนระบบป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลระดับสูง ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กรมควบคุมโรค สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (TTSA)
2. ความพร้อมในการบริการในช่วงวิกฤตของโรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์และพยาบาลในสังกัด อว. ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ย่านนวัตกรรมสวนดอก (จังหวัดเชียงใหม่) รวมทั้งเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ ซึ่งจะทำงานร่วมกับกลุ่มสตาร์ทอัพและภาคอุตสาหกรรมในการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยบริหารจัดการให้โรงพยาบาลมีศักยภาพในการดำเนินงานอย่างเต็มที่มากขึ้น โดยเน้นที่ 1) การใช้ระบบสุขภาพทางไกล (telehealth) เพื่อช่วยคัดกรอง วินิจฉัยเบื้องต้น และตอบคำถาม ผ่านระบบตอบการสนทนาอัตโนมัติ (Chat bot) ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องมาโรงพยาบาลเพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ 2) ระบบแสดงตำแหน่งและจัดส่งสิ่งจำเป็นทางการแพทย์ (Logistics) เช่น การพัฒนาแผนที่แสดงตำแหน่งที่จำหน่ายหน้ากาก แผนที่แสดงตำแหน่งของห้องน้ำที่มีความปลอดภัย การรับยา รวมถึงวิธีการกระจายหน้ากากอนามัย และการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์ และ 3) การบริหารจัดการด้านวัตถุดิบ การผลิต การจัดเก็บ และการกระจายอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น โดยเฉพาะการแก้ปัญหาด้านการผลิต เช่น หน้ากาก แอลกอฮอล์ เจล ชุดตรวจ รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่น ๆ
3. การตอบโจทย์การดำเนินชีวิตประจำวัน และการบริหารอุปทานสินค้าที่มีความต้องการสูงฉับพลัน ในกรณีที่เกิดวิกฤตรุนแรงและต่อเนื่องยาวนาน ด้วยการใช้แพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน Supply Chain Management Platform ซึ่งพัฒนาโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เพื่อระบบการบริหารห่วงโซ่อุปสงค์ – อุปทาน ของสินค้าของโรงพยาบาล หรือแพทย์ต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มผู้บริโภค เพื่อการขนส่งที่รวดเร็ว ในเวลาที่เกิดวิกฤติของประเทศที่มีความต้องการเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงด้านการศึกษา (Edtech) และการทำงานที่บ้าน (work from home) ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) คณะกรรมการอาหารและยา (กองเครื่องมือแพทย์) สภาอุตสาหกรรมกลุ่มเครื่องมือแพทย์ สตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี และประชาคมธุรกิจขายปลีก (Retail) และขายส่ง (Whole sale) เพื่อบริหารจัดการสินค้าอุปโภค บริโภคต่างๆ ให้มีเพียงพอต่อความต้องการ ลดความตื่นตระหนกของคนในสังคม ซึ่งในขณะนี้ ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนหลายแห่ง เช่น แฟมิลี่มาร์ท และบริษัท ซีพี ออล์ จำกัด
4. จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางการวิจัยและวิชาการ (RKEOC) โดยมอบให้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยดำเนินการหลัก และประสานงานในทุกส่วนของกระทรวงฯ ให้มีกลไกการจัดการความรู้ ประมวลความรู้ที่ถูกต้อง รวดเร็ว เข้าใจง่าย และเชื่อมเข้ากับกลไกของกระทรวงสาธารณสุขและของประเทศ โดย RKEOC ได้จัดทำข้อมูลต่างเพื่อเผยแพร่สถานการณ์ และองค์ความรู้กับประชาชน ทั้งในรูปแบบของ เอกสารเผยแพร่ Infographic และคลิปวิดีโอ เช่น คลิปวิดีโอ “COVID-19 แพร่กระจายได้อย่างไร และคุณจะป้องกันตัวเองได้อย่างไร ?” ร่วมกับองค์การอนามัยโลก
นอกจากนี้ยังมอบหมายให้ วช. เป็นแกนกลางร่วมกับกรมควบคุมโรคในศูนย์ประสานงาน Coordinated Research Unit เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานความร่วมมือด้านการวิจัย รวบรวมข้อมูลด้านการวิจัย โดยมีที่ตั้งของศูนย์อยู่ที่กรมควบคุมโรค วช. ได้เตรียมงบประมาณสนับสนุนการวิจัยเร่งด่วนไว้แล้ว 250 ล้านบาท โดยในขณะนี้ได้ให้ทุนวิจัยไปแล้ว 10 โครงการในประเด็นการศึกษาเชื้อและลักษณะพันธุกรรมของเชื้อไวรัส โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อเข้าใจการแพร่กระจายของเชื้อ และวิธีการวินิจฉัยและชุดตรวจเพื่อวินิจฉัยที่รวดเร็วแม่นยำ รวดเร็ว และการพัฒนายาและวัคซีน “สถานการณ์การระบาดในวันนี้ ทุกภาคส่วนพยายามอย่างเต็มที่ในการที่จะช่วยลดอัตราการระบาด ซึ่งอยากให้ประชาชนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดด้วยความมีสติ ไม่ตื่นตระหนก ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในแหล่งชุมชนแออัด ล้างมือให้สะอาด ปฏิบัติตามคำแนะนำและมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ อว. เชื่อมั่นว่าหากทุกคนและทุกฝ่ายร่วมมือกัน ประเทศไทยจะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้อย่างแน่นอน”
ข้อมูลข่าวโดย : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
เผยแพร่ : จิรายุ รุจิพงษ์วาที
ส่วนสื่อสารองค์กร
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
ที่มา: http://www.thaigov.go.th