นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลสำรวจข้อมูลเอกภาพของไม้ผลตะวันออก (จันทบุรี ระยอง ตราด) ปี 2563 (ข้อมูล ณ 26 มีนาคม 2563) โดย สศก. ร่วมกับคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออก พบว่า ไม้ผลทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง มีผลผลิตรวม จำนวน 995,501ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีจำนวน 886,959 ตัน (เพิ่มขึ้น 108,542 ตัน หรือร้อยละ12) โดย ทุเรียน ให้ผลผลิต 550,035 ตัน เงาะ 210,637 ตัน มังคุด 212,345 ตันและลองกอง 22,484 ตัน ทั้งนี้ ผลผลิตจะออกมากช่วงปลายเดือนเมษายน ต่อเนื่องถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2563
สำหรับสถานการณ์ไม้ผลทั้ง 4 ชนิด พบว่า ทุเรียน เงาะ มังคุด ออกดอกแล้วร้อยละ100 ส่วนลองกองออกดอกร้อยละ 60 ในขณะที่ มังคุด ผลผลิตเพิ่มมากที่สุดร้อยละ 18ส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะเติบโต ผลผลิตรุ่นแรกเก็บได้ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2563 และจะออกชุกช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ต่อเนื่องถึงต้นเดือนมิถุนายน 2563 รองลงมาได้แก่ ทุเรียน ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวในช่วงแรกเป็นทุเรียนพันธุ์เบาและทุเรียนที่ใช้สารกระตุ้นการออกดอก โดยจะเป็นพันธุ์กระดุมและหมอนทอง ซึ่งทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมแล้วไปสิ้นสุดฤดูต้นเดือนสิงหาคม 2563 ส่วนผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนเมษายน หลังสงกรานต์ ต่อเนื่องไปถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2563 เงาะ ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ10 ส่วนใหญ่อยู่ในระยะขึ้นลูกและเติบโต โดยเงาะพันธุ์สีทอง ซึ่งแหล่งผลิตอยู่ที่จังหวัดตราด จะออกสู่ตลาดตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2563 และเงาะพันธุ์โรงเรียนของภาคตะวันออกจะเก็บเกี่ยวมากในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2563 ส่วน ลองกอง ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 โดยคาดว่าจะมีผลผลิตออกมากในช่วงเดือนมิถุนายน
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังยืดเยื้ออยู่ ส่งผลให้ระบบขนส่งภายในประเทศ มีความยากลำบาก ถึงแม้ตลาดปลายทางของจีนจะมีสัญญานความต้องการสินค้าจากไทยโดยเฉพาะทุเรียนและมังคุด นอกจากนี้ ยังพบว่าล้งปรับเปลี่ยนการรับซื้อผลผลิตทุเรียนแบบเหมาสวน เป็นการเหมาแบบตีราคากันเดือนต่อเดือน ซึ่งเดือนมีนาคม 2563 ราคาเหมาอยู่ที่130-155 บาท/กก. ส่วนราคาเหมาล่วงหน้าเดือนเมษายน ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2563 อยู่ที่ 115-130 บาท/กก.ซึ่งราคาอยู่ในเกณฑ์สูงเกษตรกรพึงพอใจ ทั้งนี้ ภาครัฐได้แจ้งให้ล้งมีมาตรการป้องกันควบคุมการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นกับคนงานและลูกค้าอย่างรัดกุมแล้ว
ด้านนายสุชัย กิตตินันทะศิลป์ ผู้อำนวยการ สศท.6 กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ ตลาดปลายทางต่างประเทศยังไม่มั่นใจกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในไทย อาจมีข้อกำหนดเพิ่มเติม นอกเหนือจาก GAP และ GMP เช่น มาตรฐานตรวจรับรองการปลอดเชื้อของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีมาตรการรองรับการบริหารจัดการหากเกิดปัญหาการส่งออก โดย ส่งเสริมการบริโภคสดภายในประเทศ เน้นจำหน่ายตรงกับผู้บริโภค การจำหน่ายผ่านหน่วยงานราชการหรือวิสาหกิจชุมชนต่างๆ การแปรรูปสินค้า ซื้อขายผ่านกลไกสหกรณ์การเกษตร รวมถึงตลาด Modern Trade ตลาดกลางสินค้าเกษตรต่างๆ และการซื้อขายผ่านระบบ online ทั้งนี้ข้อมูลเอกภาพของไม้ผลตะวันออก ปี 2563 ได้นำไปใช้บริหารจัดการผลไม้แต่ละจังหวัดแล้ว การบริหารจัดการผลไม้ปีนี้คงต้องติดตามสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิด สำหรับท่านที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลไม้ผลภาคตะวันออกเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 จังหวัดชลบุรีโทร. 0 3835 2435 หรืออีเมลzone6@oae.go.th
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 จังหวัดชลบุรี
ที่มา: http://www.thaigov.go.th