โฆษก ศบค. ชื่นชม 25 จังหวัด คุมเข้มเต็มที่ทำให้ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อใหม่ในรอบ 14 วัน

ข่าวทั่วไป Thursday April 16, 2020 15:57 —สำนักโฆษก

โฆษก ศบค. ชื่นชม 25 จังหวัด คุมเข้มเต็มที่ทำให้ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อใหม่ในรอบ 14 วัน

วันนี้ (16 เม.ย. 2563) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนี้

1. นายกรัฐมนตรีติดตามการใช้งาน AI ช่วยวินิจฉัยโควิ-19 ณ ร.พ. ศิริราช

นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ศบค. ตรวจดูการใช้งานเครื่องมือ AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ โดยจากบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี ประเทศไทย (จำกัด) ได้มอบให้โรงพยาบาลศิริราช เพื่อใช้วิเคราะห์โรคเชื้อ COVID-19 ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) นับเป็นวิธีหนึ่งในการตรวจวินิจฉัยและติดตามการรักษาในผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งในผู้ป่วยบางรายอาจต้องตรวจซ้ำและเปรียบเทียบอ่านผลภาพการตรวจหลายครั้ง เทคโนโลยี AI จะช่วยให้แพทย์นำมาใช้วินิจฉัยผลตรวจ CT ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมทั้งตรวจดูการทำงานเครื่องอบหน้ากากอนามัย N95 โดยใช้วิธีฉายแสง UV เพื่อฆ่าเชื้อทำให้สามารถนำหน้ากากอนามัยกลับมาใช้ซ้ำได้ถึง 4 ครั้ง จากผลการวิจัยพบว่า เครื่องอบร้อนเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการฆ่าเชื้อโรคเพื่อนำหน้ากาก N95 และหน้ากากอนามัยกลับมาใช้ซ้ำ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวผ่าน Tele Conference สอบถามการปฏิบัติงานของบุคลากร ให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การดูแลผู้ป่วยขณะนี้ พร้อมยกย่องโรงพยาบาลศิริราชในการพัฒนาระบบการทำงานให้ดีขึ้นเพื่อการดูแลผู้ป่วย

2. สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในไทย

รายงานสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ 29 ราย กลับบ้านได้ 1,593 ราย รักษาอยู่ 1,033 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,672 ราย 68 จังหวัดทั่วประเทศ เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย รวม 46 ราย หลังจากการเริ่มประกาศเคอร์ฟิว เมื่อ 3 เม.ย. 63 วันนี้ครบ 14 วัน จึงเป็นผลที่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ไม่อยากให้ชะล่าใจและผ่อนปรนเร็วเกินไป พบผู้ป่วยกลุ่มอายุที่ติดเชื้อมากที่สุดคือกลุ่ม 20 - 29 ปี ประกอบด้วย ชาย 380 คน หญิง 252 คน

ผู้เสียชีวิต 3 ราย รายที่ 44 เป็นชาย สัญชาติมาเลเซีย อายุ 55 ปี อาชีพไกด์ทัวร์ ไม่มีโรคประจำตัว มีประวัติเสี่ยงไปประเทศจอร์เจียเมื่อวันที่ 13 – 19 มี.ค. มีลูกทัวร์ป่วยเป็นโควิด-19 เริ่มป่วยวันที่ 21 มี.ค. ด้วยอาการ ไอ เหนื่อย ออกซิเจนในเลือดลดลง ปอดอักเสบ ตรวจพบเชื้อโควิด-19 รักษาตัวได้ 2 สัปดาห์ อาการแย่ลงเรื่อย ๆ และเสียชีวิตในวันที่ 14 เม.ย. รายที่ 45 เป็นหญิงไทย อายุ 35 ปี อาชีพพนักงานบริษัท มีโรคประจำตัวคือโรคเบาหวานและไขมันในเลือดสูง เริ่มป่วยวันที่ 20 มี.ค. ด้วยอาการไอ เหนื่อย กลับมาเข้ารับการรักษาอีกครั้ง ด้วยอาการไอมากขึ้น เหนื่อยมากขึ้น ปอดอักเสบรุนแรง ตรวจพบเชื้อโควิด-19 อาการแย่ลงเรื่อย ๆ และเสียชีวิตในวันที่ 15 เม.ย. รายที่ 46 เป็นชายไทย อายุ 37 ปี อาชีพรับจ้าง มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูงและโรคอ้วน มีประวัติเสี่ยงภรรยาทำงานเป็นพนักงานร้านอาหารย่านสุขุมวิท หลังจากปิดร้านเดินทางกลับจังหวัดปราจีนบุรี เริ่มป่วยวันที่ 22 มี.ค. ด้วยอาการไข้สูง ทอนซิลอักเสบ วันที่ 6 เม.ย. มีไข้สูง หน้ามืด ตรวจพบเชื้อโควิด-19 อาการแย่ลงเรื่อย ๆ และเสียชีวิตในวันที่ 15 เม.ย. กลุ่มผู้เสียชีวิตเหล่านี้เป็นผู้ป่วยที่สะสมมาตั้งแต่เดือนมีนาคม โฆษก ศบค. กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า อัตราการเสียชีวิตก็จะค่อยๆลดลงในอีก14วันข้างหน้า หากยังคงมาตรการเช่นนี้ไว้

สำหรับรายงานผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 29 รายวันนี้ มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 14 ราย คนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ 2 ราย ผู้ที่ติดเชื้อจากการไปสถานที่ชุมชน/ห้าง/ร้าน 1 ราย ปัจจัยอาชีพเสี่ยง 2 ราย และอยู่ในระหว่างการสอบสวนโรค 10 ราย เมื่อจากดูแผนที่แสดงจังหวัดที่รับรักษาพบผู้ป่วยยืนยันสะสมพบว่า ผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานครจำนวน 1,349 ราย ภูเก็ต 191 ราย นนทบุรี 148 ราย สมุทรปราการ 108 ราย ยะลา 96 ราย และอยู่ระหว่างการสอบสวน 70 ราย โดยอัตราผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ต่อประชากรแสนคน จำแนกตามจังหวัดที่รับการรักษา อันดับ 1 คือจังหวัดภูเก็ต รองลงมาคือ กรุงเทพฯ ยะลา ปัตตานี นนทบุรี ตามลำดับ

โฆษก ศบค. ได้กล่าวชื่นชมจังหวัดที่เคยรับการรักษาผู้ป่วยยืนยันแต่ไม่มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ในช่วง 14 วัน ที่ผ่านมา (ตั้งแต่วันที่ 2-15 เมษายน) ทั้งสิ้น 25 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี จันทบุรี นครนายก บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ราชบุรี ลพบุรี ลำพูน ศรีสะเกษ สมุทรสงคราม สระบุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยมาก่อน 9 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาถ ตราด น่าน บึงกาฬ พิจิตร ระนอง สิงห์บุรี และอ่างทอง ซึ่งต้องขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายปกครอง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ข้าราชการ ทุกฝ่ายที่ทำงานอย่างเต็มที่รวมทั้งประชาชนที่ให้ความร่วมมือ ทำให้ไม่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในจังหวัดดังกล่าว ขณะเดียวกัน ขอฝากพี่น้องประชาชนในกรุงเทพและนนทบุรีให้ร่วมมือในมาตรการต่างๆ อย่างเต็มที่ เนื่องจากแนวโน้มผู้ติดเชื้อไวรัสในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี ยังคงสูงขึ้น

3. สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 โลก

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ของโลกว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 2,080,000 คน เสียชีวิต 130,000 กว่าคน สหรัฐอเมริกา เสียชีวิต 28,000 รายการเพิ่มขึ้นในวันเดียวถึง 2,482 ศพ สเปน มีผู้เสียชีวิต 18,000 กว่าราย อิตาลี 21,000 ราย ฝรั่งเศส 17,000 รายและอังกฤษ เสียชีวิต 12,800 ราย

สถานการณ์ในกลุ่มอาเซียนและเอเชียนั้น ประเทศเกาหลีใต้ อยู่อันดับที่ 23 มีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้น 22 ราย ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสม 10,613 ราย เสียชีวิต 200 กว่าราย ญี่ปุ่น อันดับที่ 24 ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 741 ราย ผู้ติดเชื้อสะสม 8,000 กว่าราย ฟิลิปปินส์ อันดับที่ 36 ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 230 ราย อินโดนีเซีย อันดับที่ 38 ผู้ป่วยรายใหม่ 297 ราย มาเลเซีย อันดับที่ 39 ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 85 ราย สิงคโปร์ อันดับที่ 45 ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 447 ราย ภายในวันเดียว ประเทศไทย อยู่อันดับที่ 50 ผู้ป่วยรายใหม่ 29 ราย

โฆษก ศบค. เผยเกาหลีใต้ ใช้ 4 นโยบายหลักในการป้องกันและควบคุม COVID-19 ทำให้สถานการณ์ของเกาหลีใต้ดีขึ้น ดังนี้ (1) เปิดเผยข้อมูลความเป็นจริงทั้งหมด โปร่งใส ซึ่งไทยก็ดำเนินการเช่นกัน (2) การกักกันเชื้อ (Containment) และการชะลอการแพร่ระบาด (Mitigation) ซึ่งไทยใช้ State Quarantine หรือ Home Quarantine หรือ Local Quarantine ร่วมกับการใช้ Social Distancing (3) ระบบการตรวจโรคและรักษา เช่นเดียวกับไทย รวมทั้งไทยยังมีโรงพยาบาล และเตียงผู้ป่วยเพียงพอรองรับผู้ป่วยเต็มที่ และ(4) รับการคัดกรองอย่างกว้างขวาง (Massive Screening) และระบบการติดตามผู้ป่วยสงสัย (Fast Tracking Suspect Cases) ซึ่งไทยใช้ Active Cases Finding เป็นการตรวจแบบเจาะกลุ่ม ซึ่งไม่ได้แตกต่างกับของเกาหลี นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังมีนโยบายเสริมคือ ให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาที่โบสถ์ออนไลน์ โดยแปลงจากที่ต้องเดินทางไปโบสถ์จริงเป็นโบสถ์ออนไลน์ คือ ตนเองอยู่บ้านและการปฏิบัติพิธีทางศาสนาไม่หายไป

อย่างไรก็ตาม ไทยยังขาดการติดตามตัวบุคคลอย่างเคร่งครัด ขณะที่เกาหลีใต้ใช้แอพพลิเคชั่น Corona 100m ดึงข้อมูลจากหลายแหล่งรวมทั้งโลเคชั่นจากมือถือของประชาชนเกาหลีใต้ รวบรวมเป็นประวัติติดเชื้อ และเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวโดยทำเป็นแผนที่เรียกว่า Coronamap Site พร้อมระบบแจ้งเตือนประชาชนผ่าน SMS ถ้าพื้นที่เสี่ยง 3 ระดับคือเขียว เหลือง แดง มีผู้ติดเชื้อควรหลีกเลี่ยงที่จะเดินเข้าไป ทั้งนี้ ประเทศไทยยังคงให้ความสำคัญเรื่องสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งต้องมีการพูดคุยกัน หากการระบาดมากขึ้นเพื่อควบคุมคนที่ติดเชื้อให้ได้

ประเทศจีน มีการคาดการว่ามีผู้ป่วยโควิด -19 ไม่แสดงอาการซ่อนอยู่เป็นจำนวนมาก โดยล่าสุดผลตรวจผู้ต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสโควิด -19 จำนวน 6,764 คน พบ 1,297 คนเท่านั้นที่มีอาการป่วย หมายความว่า 19.1% หรือประมาณ 20% คือ 5 คนที่ป่วยมี 1 คนเท่านั้นที่มีอาการ นอกนั้นอีก 4 คนมีเชื้ออยู่แต่ไม่แสดงอาการ ซึ่งเป็นความท้าทายสำหรับการควบคุมสถานการณ์

โฆษก ศบค. ได้กล่าวย้ำถึงอาการสงสัยที่อาจแสดงว่าพบเชื้อโควิด -19 เช่น อาการไอแห้งๆ และมีไข้ เพียงแค่อาการ 2 อย่างนี้ ถือว่ามีอาการ รวมทั้งมีอาการสูญเสียการได้กลิ่นและรับรส โดยหากเกิดอาการเหล่านี้หลายวันให้มาตรวจหาเชื้อได้ ตรงนี้เป็นตัวบ่งชี้และเชื่อว่าคนที่ติดเชื้อไวรัสจะมีอาการแสดงลักษณะแบบนี้เกิดขึ้น

ประเทศญี่ปุ่น ขณะนี้สถานการณ์โควิด -19 ในญี่ปุ่นทรุดหนัก ทางการเตือนอาจมีผู้ติดเชื้อเพิ่มหลายแสนคน พร้อมเตือนว่า หากคนญี่ปุ่นไม่ปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่ง อาจจะมีผู้ติดเชื้อสูงถึง 850,000 กว่าคนทั่วประเทศ ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดอาจจะมีผู้เสียชีวิตครึ่งหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ผู้ป่วยติดเชื้อของญี่ปุ่นมีมากกว่า 8,000 คนแล้ว เสียชีวิตไปแล้ว 170 กว่าคน และ 1 ใน 4 ของผู้ติดเชื้อ อยู่ในกรุงโตเกียว ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีความกังวลใจมากเพราะมีประชากรผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก เพราะคนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือผู้สูงอายุ ที่จะต้องมากลายเป็นผู้ที่จะต้องป่วยหนักและเสียชีวิตมากที่สุด ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงต้องมีการประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

4. รายงานผลการปฏิบัติการตามมาตรการ

การปฏิบัติการจากการประกาศเคอร์ฟิว

รายงานผลประจำวันที่ 16 เมษายน 63 พบประชาชนกระทำความผิด ออกนอกเคหะสถาน 161 ราย ดำเนินคดี 671 คน ชุมนุมมั่วสุม 168 คดี แม้ประชาชนจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ยังมีกลุ่มคนที่กระทำความผิดอยู่ ทั้ง เล่นการพนัน ดื่มสุราอยู่ โดยพบการกระทำความผิดสูงสุด ได้แก่ นนทบุรี 101 ราย กรุงเทพมหานคร 49 ราย ระยอง 37 ราย สมุทรปราการ 32 ราย ปทุมธานี 32 ราย แสดงให้เห็นว่าแต่ละพื้นที่มีความเข้มข้นในการกวดขันประชาชนที่ออกมากระทำความผิด ขอส่งกำลังใจให้ฝ่ายความมั่นคง เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่มีการป้องปราม รวมทั้งขอวอนประชาชนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย

มาตรการนำคนไทยกลับจากต่างประเทศ

กรณีนักเรียนทุน AFS ที่จะเดินทางกลับมาในวันที่ 17 เม.ย. 63 จำนวน 129 ราย รวมกับกลุ่มคนทำงานจากบังคลาเทศวันที่ 18 เม.ย. 63 จำนวน 123 ราย และวันที่ 19 เม.ย .63จำนวน 160 ราย และ มีเที่ยวบิน 2 เที่ยวบินที่จะมีคนไทยเดินทางกลับวันนี้ จากอาหรับเอมิเรตส์และมัลดีฟส์ ซึ่งเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย ฝ่ายความมั่นคงจะดูแลพี่น้องประชาชนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศให้ดีที่สุด ซึ่งได้เตรียมพื้นที่ดูแล State Quarantine ด้วย ทั้งนี้ จากนโยบาย คนไทยไม่ทิ้งกัน กระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุล ในต่างประเทศ ได้ติดต่อประสานงานดูแลคนไทยที่ยังตกค้างอยู่ต่างประเทศ รวมทั้งนำอาหารและสิ่งของยังชีพแจกจ่ายให้ประชาชนคนไทยในต่างแดนด้วย

มาตรการหน้ากากอนามัย

รายงานการจัดส่งหน้ากากอนามัย ของกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 16 เมษายน 2563 มีจำนวนรับเข้า 21,497,500 ชิ้น ระหว่างจัดส่ง 3,107,400 ชิ้น จัดส่งแล้วทั้งหมด 18,390,100 ชิ้น สะสมไปแล้ว 18 ล้านชิ้น สำหรับกระทรวงมหาดไทย รายงานสถานะจัดส่งหน้ากากอนามัย มี จำนวนรับเข้า 12,478,300 ชิ้น ระหว่างจัดส่ง 843,000 ชิ้น จัดส่งแล้วทั้งหมด 11,635,300 ชิ้น สะสมไปแล้ว 11 ล้านชิ้น โฆษก ศบค. กล่าวย้ำว่า การเสนอตัวเลขและข้อมูลของประเทศต่าง ๆ เพื่อให้ทุกคนเรียนรู้ และศึกษาผลลัพธ์ของแต่ละประเทศ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ของประเทศไทยต่อไป

-------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ