วันนี้ (16 เม.ย. 2563) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในนามโฆษก ศบค. ตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนี้
โฆษก ศบค. อธิบายถึงระบบ AI ที่ใช้ตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่าจากปกติที่ใช้วิธีการตรวจหาเชื้อแบบวิธี PCR หรือ การนำตัวอย่างเนื้อเยื่อไปตรวจ ซึ่งมีความยุ่งยาก ซับซ้อนในการตรวจเพราะต้องใช้เจ้าหน้าที่ในการดำเนินงาน หากผู้ติดเชื้อ ไอ จาม อาจทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานรอบข้างได้ เสี่ยง ต่อการติดเชื้อได้ รวมถึงการใช้เวลานานกว่าจะรู้ผลมากกว่า 3 – 4 ชั่วโมง ทั้งนี้ ประเทศจีนที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เมื่อมีอาการติดเชื้อแล้ว เชื้อไวรัสโควิด-19 จะลงไปสู่ปอด จึงได้นำผลเอ็กซ์เรย์ปอดของผู้ที่เป็นผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มารวบรวมเป็นฐานข้อมูล เพื่อใช้เทียบเคียงกับผลเอ็กซ์เรย์ปอดของผู้ป่วยใหม่ว่ามีลักษณะเข้าข่ายเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่ นับเป็นวิธีที่สะดวกและไม่ยุ่งยากเท่ากับวิธี PCR ซึ่งประเทศจีนใช้วิธีนี้ในการคัดกรองผู้ป่วย เพื่อเป็นการประหยัดเวลาและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ เช่นเดียวกับ โรงพยาบาลศิริราช ได้พัฒนาโดยใช้แค่พียงภาพถ่ายของผลเอ็กซ์เรย์ปอด เพื่อบอกผล เมื่อผนวกกับระบบคอมพิวเตอร์และระบบ 5G ก็จะทำให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้ในการแพทย์ สาธารณสุข จึงเป็นเรื่องสำคัญ
โฆษก ศบค. ยังชี้แจงต่อคำถามเกี่ยวกับปัจจัยในการพิจารณามาตรการผ่อนปรนในช่วงปลายเดือนรวมทั้งการใช้ชีวิตตามปกติของประชาชนจะมีผลต่อมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และบางพื้นที่บางจังหวัดได้มีการเตรียมมาตรการผ่อนคลายในเดือนพฤษภาคมว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานศูนย์ ศบค. กล่าวถึงปัจจัยสำคัญในการพิจารณามาตรการผ่อนปรนคือ จากปัจจัยด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม ซึ่งมีความสำคัญทั้งสิ้น โดยเน้นสุขภาพเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ดังนั้น การพิจารณามาตรการผ่อนปรนจะขึ้นอยู่กับจำนวนตัวเลขของการเจ็บป่วย ว่ามีมากน้อยเพียงใด หากประชาชนผนึกกำลังกัน ร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด การเว้นระยะห่างทางสังคม Social Distancing ที่กำหนดไว้ ทำให้จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อและอัตราการแพร่ระบาดของโรคลดน้อยลง ซึ่งส่งผลต่อการใช้มาตรการผ่อนปรนได้ ทั้งนี้ ความมีวินัย ร่วมมือเดินหน้าอย่างพร้อมเพรียงกันของประชาชน 90% ขึ้นไป จะทำให้เราผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้อย่างแน่นอน
โฆษก ศบค. ยังได้ชี้แจงถึง บางพื้นที่ในต่างจังหวัดเตรียมมาตรการผ่อนคลายในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ว่า ตามที่ได้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งมีผลแต่วันที่ 26 มีนาคมถึงวันที่ 30 เมษายน หากไม่ได้มีการประกาศขยายระยะเวลาวันที่ 1 พฤษภาคม จะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งประชาชนจะต้องปฏิบัติตามมาตรการที่ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ในส่วนของการหยุดหรือขยายระยะเวลาการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคด้วย โดยจะมีการประชุมประเมิน 1 สัปดาห์ ก่อนวันที่สิ้นสุดการประกาศฯ อย่างไรก็ พิจารณาจากสถานการณ์ต่างประเทศ ที่ยังไม่มีทีท่าลดลง แม้ไทยจะควบคุมได้ดี แต่ยังจำเป็นต้องให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค เพื่อไม่ให้จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก
********************
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th