(16 เมษายน 2563) นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมการจัดการเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในปีการศึกษา 2563 ซึ่งเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ว่าขณะนี้ได้เตรียมการไว้สำหรับผู้เรียนทุกระดับ ทั้งระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ โดยแบ่งเป็น 4 รูปแบบ ดังนี้
โดยให้ครูทำการสอนผ่านเอกสาร ตำราเรียน หนังสือเรียน และชีทต่าง ๆ ซึ่งเป็นรูปแบบพื้นฐาน (Basic) ที่ไม่ต้องเตรียมอะไรเพิ่มเติมมาก เนื่องจากมีเอกสารและหนังสือตำราเรียนแจกฟรีอยู่แล้ว ทั้งนี้ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน อาจแบ่งเป็นกลุ่มย่อยที่มีจำนวนคนไม่มาก สลับกันมาเรียน หรือใช้ช่องทางสื่อสาร เช่น โทรศัพท์ Line ข้อความผ่านเครือข่ายออนไลน์ เป็นต้น รวมถึงการให้ครูไปพบผู้เรียนที่บ้านบ้างตามความเหมาะสมของแต่ละสถานศึกษา ซึ่งเป็นรูปแบบที่สามารถดำเนินการได้ทันที
ถือเป็นการจัดการศึกษาแบบสากล เนื่องจากปัจจุบันผู้เรียนสามารถเข้าถึงช่องทางโทรทัศน์ได้มากกว่า 90% แล้ว โดย สอศ.จะจัดเนื้อหาให้ครอบคลุมทุกวิชา ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ขณะเดียวกันจะมีการเชื่อมโยงเนื้อหาไปยังช่องทางออนไลน์อื่นเพิ่มเติม เช่น FACEBOOK YOUTUBE ให้สามารถดูไปพร้อมกันได้ เพื่อให้เข้าถึงผู้เรียนให้มากที่สุด
ผ่านโปรแกรมฟรีที่ให้บริการ เช่น Zoom, Microsoft Team ซึ่งสถานศึกษาอาชีวะหลายแห่งทั้งของรัฐและเอกชน มีระบบและบทเรียนการสอนออนไลน์ที่พร้อมใช้อยู่บ้างแล้ว ก็สามารถดำเนินการต่อเนื่องได้ทันที และจะพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถแบ่งปันให้สถานศึกษาอื่น ๆ มาใช้งานร่วมกันได้ตามความเหมาะสม พร้อมทั้งจะผลักดันการเรียนการสอนแบบออนไลน์ในแต่ละสถานศึกษาให้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้สมัยใหม่ในโลกดิจิทัล ไม่ใช่เฉพาะช่วงวิกฤต COVID-19 เท่านั้น
ที่ผ่านมาอาชีวะยังขาดแคลนครูหลายสาขา เช่น สาขาช่างอากาศยาน ซึ่งต้องจ้างวิทยากรภายนอกมาสอน ดังนั้น จึงจะใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์โดยถ่ายทอดการสอนของครูและวิทยากรชั้นนำในสาขาที่ขาดแคลน เพื่อให้ผู้เรียนจากวิทยาลัยอื่นได้เรียนไปพร้อม รวมทั้งจะพัฒนาให้สถานศึกษาอาชีวะที่มีความพร้อมเป็นต้นแบบการสอน เช่น วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง เป็นต้นแบบการสอนการบิน เป็นต้น
นอกจากนี้ การจัดการศึกษาระดับอาชีวศึกษา ยังมีความแตกต่างไปจากการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ มีภาคปฏิบัติ หรือฝึกประสบการณ์ หากในช่วงเวลาเปิดเรียนแล้ว ภาคทฤษฎียังไม่สามารถเปิดทำการสอนตามปกติได้ ในส่วนของภาคปฏิบัติยังคงสามารถจัดระเบียบการเข้าใช้ได้ตามปกติ โดยอาจจะแบ่งให้กลุ่มผู้เรียนมีจำนวนน้อยลง และเข้าเรียนตามรอบเวลา ให้สอดคล้องกับจำนวนผู้เรียนและความเหมาะสมของแต่ละสถานศึกษา
เลขาธิการ กอศ. ยังได้กล่าวถึง การเตรียมความพร้อมช่วงนี้จนถึงก่อนเปิดภาคเรียน ว่าในส่วนของการเตรียมการสอนออนไลน์ด้านเนื้อหาและด้านผู้เรียนนั้น มั่นใจว่าไม่มีปัญหา เนื่องจากหลักสูตรมีความพร้อมอยู่แล้ว ส่วนตัวผู้เรียนเองก็คุ้นเคยกับเทคโนโลยีอยู่แล้ว ส่วนที่สำคัญคือการเตรียมครูและพัฒนาเครือข่าย ซึ่งขณะนี้ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ตั้งเป้าหมายพัฒนาครูอาชีวศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน 2 เรื่อง คือ 1) พัฒนาครูให้คุ้นเคยกับเครื่องมือและการใช้เทคโนโลยีการสอนออนไลน์ 2) พัฒนาให้ครูใช้วิธีสอนผ่านเครื่องมือและเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับการส่งเสริมการศึกษาของผู้เรียนระหว่างช่วงปิดเทอม สอศ.ได้เตรียมเนื้อหาพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้กับผู้เรียนทุกคนฟรีผ่านระบบออนไลน์ 3 ทักษะที่สำคัญ ได้แก่ ทักษะภาษาอังกฤษ ทักษะภาษาจีน และทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ตามนโยบายของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเติมเต็มศักยภาพตามความพร้อมของแต่ละคน โดยไม่ได้เป็นการบังคับ แต่พยายามส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เข้าถึงความรู้เหล่านี้ ตลอดจนเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปที่สนใจต่อไปด้วย
ที่มา: http://www.thaigov.go.th