โฆษก ศบค. ยกองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะ 6 เงื่อนไขก่อนคลายกฎล็อคดาวน์ วอนคนไทย “ไม่ประมาท การ์ดอย่าตก”

ข่าวทั่วไป Friday April 17, 2020 16:07 —สำนักโฆษก

โฆษก ศบค. ยกองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะ 6 เงื่อนไขก่อนคลายกฎล็อคดาวน์ วอนคนไทย “ไม่ประมาท การ์ดอย่าตก”

วันนี้ (17 เม.ย. 2563) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนี้

1. สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในไทย

รายงานสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ 28 ราย กลับบ้านได้ 1,689 ราย รักษาอยู่ 964 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,700 ราย ใน 68 จังหวัดทั่วประเทศ เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย โดยผู้เสียชีวิตรายที่ 47 เป็นหญิงไทย อายุ 85 ปี อาชีพแม่บ้าน มีโรคประจำตัวคือเบาหวานและความดันโลหิตสูง มีประวัติเสี่ยงสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า วันที่ 12 เมษายน 63 เข้ารับการรักษา ด้วยอาการ ไอ เหนื่อย หอบ พบปอดอักเสบรุนแรง ตรวจยืนยันพบเชื้อโควิด-19 วันที่ 15 เมษายน 63 และเสียชีวิตในวันที่ 16 เมษายน 63

สำหรับรายงานผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 28 รายวันนี้ จำแนกออกเป็น มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 16 ราย จากปัจจัยอาชีพเสี่ยงหรือสัมผัสกับชาวต่างชาติ 4 ราย ผู้ที่ติดเชื้อจากการไปสถานที่ชุมชน/ห้าง/ร้าน 1 ราย และอยู่ในระหว่างการสอบสวนโรค 7 ราย

จากแผนที่แสดงจังหวัดที่รับรักษาพบผู้ป่วยยืนยันสะสมพบว่า มีผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานครจำนวน 1,371 ราย ภูเก็ต 192 ราย นนทบุรี 148 ราย สมุทรปราการ 108 ราย ยะลา 99 ราย โดยอัตราผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ต่อประชากรแสนคน จำแนกตามจังหวัดที่รับการรักษายังคงเหมือนเดิมคือ อันดับ 1 คือจังหวัดภูเก็ต รองลงมาคือ กรุงเทพฯ ยะลา ปัตตานี นนทบุรี ตามลำดับ

โฆษก ศบค. กล่าวชื่นชมจังหวัดที่เคยรับการรักษาผู้ป่วยยืนยัน แต่ขณะนี้ไม่มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ในช่วง 14 วัน ที่ผ่านมา (ตั้งแต่วันที่ 3-16 เมษายน) ทั้งสิ้น 27 จังหวัด เพิ่มจากวานนี้จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ (เพิ่ม) จันทบุรี นครนายก บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ราชบุรี ลพบุรี ลำพูน ศรีสะเกษ สมุทรสงคราม สระบุรี สุโขทัย หนองคาย (เพิ่ม) หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และ 9 จังหวัดที่ไม่เคยมีรายงานผู้ติดเชื้อ ซึ่งยังคงเดิม ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พิจิตร ระนอง สิงห์บุรี อ่างทอง ต้องขอบคุณประชาชนและทุกหน่วยงานในจังหวัดเหล่านี้ที่ช่วยดูแล ไม่ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม กราฟแสดงจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่จังหวัดอื่น ๆ โดยเฉพาะจังหวัดในภาคใต้ มีจำนวนที่ลดลง

2. สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 โลก

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ของโลก พบผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 2,182,197 คน เสียชีวิตไป 145,000 กว่าคน อาการหนัก 5,446 คน หายแล้ว 546,951 ราย โดยสหรัฐอเมริกายังคงมีผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก 677,570 คน เสียชีวิตไปแล้วถึง 34,617 คน อิตาลี 22,000 กว่าคน สเปนเสียชีวิต 19,000 กว่าคน ฝรั่งเศส เสียชีวิต 17,000 กว่าคน และอังกฤษเสียชีวิต 13,000 คน ซึ่งผู้เสียชีวิตเป็นหลักหมื่นนี้ก็ยังอยู่ในประเทศเดิม ขณะที่ไทยลดลงมาอยู่อันดับที่ 51 แล้ว

ในเอเชีย อินเดียมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นเมื่อวานนี้ 1,060 ราย เกาหลีใต้เพิ่ม 22 ราย ญี่ปุ่นเพิ่มวันเดียว 650 ราย ขณะนี้ญี่ปุ่นได้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินทั้งประเทศแล้ว เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อไปอยู่ที่ 9,000 กว่าราย ส่วนประเทศเพื่อนบ้านของไทยนั้น ฟิลิปปินส์ 270 คน อินโดนีเซีย 380 คน มาเลเซีย 110 คน และสิงคโปร์เพิ่มขึ้นถึง 728 คน

โฆษก ศบค. เผย องค์การอนามัยโลก (WHO) มีการประกาศว่า รัฐบาลที่ต้องการลดระดับมาตรการการควบคุมโรค จำเป็นต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ 6 ข้อ ดังนี้ 1. สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในประเทศได้แล้ว 2. ระบบสุขภาพต้องสามารถ “ตรวจหาผู้มีอาการของโรค ตรวจหาเชื้อ แยกตัวและทำการรักษา พร้อมทั้งทำการสอบสวนโรค” 3. มีความเสี่ยงระดับน้อยที่สุดในสถานที่เสี่ยงภัยมากที่สุด เช่น บ้านพักคนชรา 4. โรงเรียน สำนักงาน และสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ต้องมีมาตรการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ 5. สามารถจัดการความเสี่ยงของโรคจากผู้ที่เดินทางเข้าประเทศได้ และ 6. คนในชุมชนต้องมีความรู้ มีส่วนร่วม และได้รับการสนับสนุนให้มีชีวิตอยู่ภายใต้สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการเกิดโรค

โฆษก ศบค. ยังยืนยันขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนให้ได้ทำตามมาตรการต่าง ๆ ที่ภาครัฐได้ออกมา เนื่องจากพฤติกรรมจะเป็นส่วนสำคัญในการพิจารณาปลดล็อคดาวน์ในประเทศไทยได้ โดยในขณะนี้มีการประชุมจากทั้งทางภาครัฐและเอกชน โดยนักวิชาการด้านต่าง ๆ ในเรื่องการผ่อนคลายสถานการณ์กึ่งล็อคดาวน์นั้น สถานประกอบการณ์ต่าง ๆ จำเป็นจะต้องมีมาตรการอย่างไร ยกตัวอย่าง เช่น กรณีร้านตัดผม ผู้ประกอบการ ต้องจัดเตรียมด้านสถานที่ ให้ใช้บัตรคิวแทนการนั่งรอ ที่นอนสระผมต้องห่างกันเกิน 1 เมตร ระยะเวลาในการให้บริการต้องไม่เกิน 2 ชั่วโมง งดเว้นการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน พนักงานต้องใส่หน้ากากผ้าและล้างมือทุกครั้ง ทำความสะอาดอุปกรณ์ทุกครั้งที่ให้บริการลูกค้าในแต่ละราย สำหรับผู้ใช้บริการจะต้องใส่หน้ากากผ้าและล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งก่อนเข้าร้าน

กรณีห้างสรรพสินค้า จะคำนวณเพื่อจำกัดจำนวนคนเข้าห้าง ไม่เกิน 1 คนต่อตารางเมตร ทยอยเปิดร้านที่มีความสำคัญ จะต้องไม่เปิดทั้งหมด กรณีร้านอาหารจะต้องมีการเว้นว่างระยะห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร หรือเปิดได้เฉพาะ Take Away ต้องไม่มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายที่เรียกคนให้มารวมตัวกัน ต้องมีการคัดกรองและอนุญาตเฉพาะผู้สวมใส่หน้ากากเท่านั้น และจะต้องทำความสะอาดทุกชั่วโมง สำหรับผู้รับบริการจะต้องมีการสวมใส่หน้ากากตลอดเวลา และต้องคัดกรองอาการไข้หรือทางเดินหายใจก่อนเข้าห้าง โดยทั้งหมดนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเท่านั้น

3. รายงานผลการปฏิบัติการตามมาตรการ

การปฏิบัติการตามมาตรการเคอร์ฟิว

รายงานผลการปฏิบัติการจากการประกาศเคอร์ฟิวประจำวันที่ 17 เมษายน 63 พบมีประชาชนกระทำความผิดออกนอกเคหะสถาน 820 ราย ชุมนุมมั่วสุม 109 คดี มีการเล่นการพนัน ดื่มสุรา เล่นยาเสพติด และเดินทางกลับบ้านช้า ดำเนินคดี 642 ราย ซึ่งจะเห็นได้ว่าจังหวัดที่มีการฝ่าฝืนคำสั่งในระดับต้น ๆ ได้แก่ ชลบุรี 76 ราย นนทบุรี 61 ราย ปทุมธานี 45 ราย กรุงเทพมหานคร 37 ราย สมุทรสาคร 25 ราย ขณะที่ 7 จังหวัดที่ไม่มีการรายงานการฝ่าฝืนคำสั่งห้ามออกจากบ้านหรือคำสั่งการห้ามรวมกลุ่มชุมนุมหรือมั่วสุม ได้แก่ มหาสารคาม หนองคาย แม่ฮ่องสอน พิจิตร พังงา ระนอง เพชรบุรี

มาตรการนำคนไทยกลับจากต่างประเทศ

โฆษก ศบค. ระบุว่า นักเรียนทุน AFS จะเดินทางกลับมาในวันที่ 17 เมษายน 63 จำนวน 132 ราย วันที่ 18 เมษายน 63 จำนวน 131 ราย วันที่ 19 เมษายน 63 จำนวน 161 ราย จะมาลงที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิใน 2 วันแรกนี้ และวันสุดท้ายเครื่องบินจะไปลงที่สนามบินอู่ตะเภา เมื่อถึงประเทศไทย ฝ่ายความมั่นคงได้จัดพื้นที่ State Quarantine โดยส่วนใหญ่เป็นโรงแรมเกือบทั้งหมดอยู่ในพื้นที่จัดดูแลให้ โดยเป็นความร่วมมือกันของหลายภาคส่วนเพื่อให้คนไทยได้กลับมาสู่ครอบครัวของตนเอง

มาตรการหน้ากากอนามัย

สถานการณ์จัดส่งหน้ากากอนามัยของกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 17 เมษายน 2563 ประกอบด้วยจำนวนรับเข้า 22,493,500 ชิ้น ระหว่างจัดส่ง 997,050 ชิ้น จัดส่งแล้วทั้งหมด 21,496,450 ชิ้น

โฆษก ศบค. กล่าวในช่วงท้ายว่า “ไม่ประมาท การ์ดอย่าตก” การประมาทเพียงเล็กน้อย ก่อให้เกิดความเสียหายมาก เพราะทำให้เกิดการเจ็บป่วยเสียชีวิตตามมาเช่นประสบการณ์ในต่างประเทศ ขออย่าประมาท เพื่อคนไทยรอดพ้นไม่เจ็บไม่ตาย และอยู่อย่างมีความสุข

*************************

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ