วันนี้ (17 เม.ย. 2563) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในนามโฆษก ศบค. ตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนี้
โฆษก ศบค. ตอบถึงข้อห่วงใยจากประชาชนและผู้ปกครองนักเรียนกลุ่ม AFS ที่จะเดินทางกลับสู่ประเทศไทยภายในช่วงเวลา 17 – 19 เม.ย. 63 นี้ รวมถึงคนไทยที่จะเดินทางกลับมาจากกลุ่มประเทศอื่น ๆ ว่า ศบค. ได้มีการประชุมหารือถึงมาตรการรองรับผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ซึ่งการปฏิบัติงานมีหลายขั้นตอนด้วยกัน ขั้นตอนแรกต้องมีรายชื่อของผู้ที่ต้องการเดินทางกลับมา โดยกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้จัดลำดับในการเดินทางกลับ ขั้นตอนที่สองคือต้องมีเที่ยวบินที่ยังให้บริการ เนื่องจากขณะนี้หลายประเทศได้งดการเดินทางเข้า – ออก แล้ว แต่ประเทศไทยยังมีบางสายการบินที่ให้บริการส่งสินค้าหรือเที่ยวบินที่รับผู้โดยสารที่ต่อเครื่องกลับประเทศ โดยสถาบันการบินพลเรือนจะดูแลเที่ยวบินทั้งหมดนี้ และขั้นตอนสุดท้ายคือการจัดเตรียมพื้นที่เพื่อเป็น State Quarantine โดยกระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงกลาโหมจัดหาดำเนินการ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์จากกระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องเข้ามาร่วมปฏิบัติงาน ดูแลผู้ที่เดินทางกลับมา จำเป็นปฏิบัติตามทั้ง 3 ขั้นตอน เพื่อให้มีความรอบคอบ
โฆษก ศบค. ย้ำความพร้อมในการจัดพื้นที่เพื่อเป็น State Quarantine กระจายไปในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงจังหวัดทางภาคตะวันออก รวมทั้งยังมีพื้นที่ Local Quarantine ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มนักเรียน AFS และผู้ที่เดินทางกลับมา เพื่อที่จะไม่ให้มีอาการเจ็บป่วย ซึ่งการจำกัดการเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยไม่เกินวันละ 200 คนนั้น เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างเต็มศักยภาพ โฆษก ศบค. ขอยืนยันว่าพื้นที่เพื่อ State Quarantine นั้นเพียงพอ มีมาตรการรองรับอย่างมีประสิทธิภาพ
โฆษก ศบค. ยังชี้แจงการติดตามอาการหรือเรียกตรวจหาเชื้อจากผู้ป่วยซ้ำ และมาตรการในการแก้ไขปัญหากรณีการปกปิดข้อมูลของผู้ป่วยว่า ตามหลักการของผู้ติดเชื้อที่หายเป็นปกติจะมีภูมิคุ้มกันของโรคโดยไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อซ้ำ เพราะขณะที่รักษาตัวอยู่จะมีการตรวจหาเชื้อจนกว่าผลจะออกมาว่าไม่พบเชื้อแล้ว ซึ่งขณะนี้ได้มีการเรียกตัวผู้ป่วยที่หายเป็นปกติกลับเข้ามาเนื่องจากสภากาชาด ต้องการพลาสม่าที่มีภูมิคุ้มกันเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยอื่น ๆ ด้วย
นอกจากนี้ โฆษก ศบค. ได้กล่าวถึงมาตรการในการแก้ไขปัญหากรณีการปกปิดข้อมูลของผู้ป่วย ว่า ข้อมูลและประวัติต่าง ๆ ของผู้ป่วยมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ผู้ป่วยทุกคนต้องให้ความร่วมมือ ซื่อสัตย์ และจริงใจ ถ้าหากต้องการที่จะหายเป็นปกติ ต้องให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงกับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อหาแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้อง หากปกปิดข้อมูลหรือจงใจทำให้เกิดความเสียหายจะต้องได้รับการดำเนินคดี บางกรณีที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็จะต้องมีการตรวจสอบเป็นรายบุคคลไป
ในตอนท้าย โฆษก ศบค. กล่าวฝากข้อความสั้นๆ ว่า “ไม่ประมาท การ์ดอย่าตก” คือ การประมาทแม้แต่เพียงเล็กน้อย เกิดขึ้นจากใครคนใดคนหนึ่งก็ตามแต่ อาจจะทำให้ความเสียหายเกิดขึ้นมากมาย ขอให้ประชาชนทุกคนจงไม่ประมาท ซึ่งจะทำให้เราอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขและรอดพ้นจากช่วงวิกฤตนี้ไปได้
........................................
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th