ก.อุตฯ นัดถกภาครัฐ ภาคเอกชนเร่งหาข้อสรุปจัดมาตรการเยียวยา เสริมสภาพคล่องหลังกระทบโควิด-19 [กระทรวงอุตสาหกรรม]

ข่าวทั่วไป Wednesday April 22, 2020 13:31 —สำนักโฆษก

ก.อุตฯ นัดถกภาครัฐ ภาคเอกชนเร่งหาข้อสรุปจัดมาตรการเยียวยา เสริมสภาพคล่องหลังกระทบโควิด-19

วันนี้ (22 เมษายน 2563) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นัดหารือร่วมภาครัฐ ภาคเอกชน อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน และเอสเอ็มอีแบงค์ เร่งหาข้อสรุป เตรียมเคาะมาตรการช่วยเหลือเยียวยา พร้อมเพิ่มสภาพคล่อง เน้นชะลอการจ้างงาน และร่วมแก้ปัญหาที่ตรงจุด พร้อมย้ำ Local Economy ทางออกทางเศรษฐกิจหลังรับผลกระทบ โควิด-19

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากข้อสรุปในที่ประชุมซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นประธานหารือร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อหาข้อสรุปมาตรการช่วยเหลือ เยียวยาเสริมสภาพคล่อง และชะลอการจ้างงานให้แก่เอสเอ็มอี โดยเร่งให้เกิดการดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม สรุปข้อเสนอของภาคเอกชนที่ขอให้รัฐช่วยเหลือ เยียวยา แบ่งออกเป็น 5 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย มาตรการทางภาษี อาทิ ให้กรมสรรพากรเร่งรัดการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล ส่วนที่ชำระเกินภายใน 30 วัน ขยายเพดานค่าลดหย่อนภาษีการกุศลของนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา ในปี 2563 มาตรการด้านการเงิน อาทิ สินเชื่อที่รัฐให้เพิ่มสภาพคล่อง ขอให้ บสย. ค้ำประกันวงเงินกู้เพิ่มเป็น 80% สถาบันการเงินปรับลดระยะเวลาพิจารณาประวัติการผิดนัดชำระหนี้ในเครดิตบูโร จาก 3 ปี เหลือ 1 ปี มาตรการด้านสาธารณูปโภค/ที่ดิน อาทิ ลดค่าจดจำนองและค่าโอนที่ดินเหลือ 0.01% เฉพาะภายในปีนี้ และพิจารณาคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับธุรกิจ SMEs ที่ใช้มิเตอร์ขนาดไม่เกิน 50 แอมป์ เพื่อจะได้นำมาเป็นเงินหมุนเวียนในธุรกิจช่วงวิกฤติ มาตรการด้านประกันสังคม/กองทุน/แรงงาน อาทิ ลดเงินสมทบประกันสังคมนายจ้างจาก 4% เหลือ 1% ระยะเวลา 180 วัน ผ่อนผันการต่อใบอนุญาตแรงงานต่างชาติ (Work Permit) รวมถึงแรงงานต่างด้าวไป 6 เดือน มาตรการด้านอื่น อาทิ ให้รัฐประชาสัมพันธ์และสนับสนุนการจัดซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ (Made-in-Thailand) และให้เพิ่มแต้มต่อสำหรับธุรกิจ SMEs ผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐใช้ระบบ Online ในการออกใบอนุญาตและรับชำระค่าธรรมเนียม รวมทั้งบริการอื่นๆ

โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการดังนี้ เช่น มาตรการด้านการเงิน มอบหมาย กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ดูแลเรื่องค่าเงิน มาตรการด้านสาธารณูปโภค/ที่ดิน มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลัง มาตรการด้านประกันสังคม/กองทุน/แรงงาน มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมประสานกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอื่นๆ มาตรการด้านอื่น มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทยร่วมกันพิจารณาอุตสาหกรรมที่ได้รับผลจากสถานการณ์โควิดโดยตรง เพื่อจะได้รับการแก้ไขได้ตรงจุด

ทั้งนี้ ทางกระทรวงได้เตรียมพร้อมตอบรับนโยบายของภาครัฐในด้านผลักดันให้เป็น Local Economy โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการผลักดันด้าน อี-คอมเมิร์ซ เน้นการพึ่งพาอุตสาหกรรม และผลิตภัณฑ์ที่มาจากผลผลิตภายในประเทศ ซึ่งเชื่อว่า จะเป็นทางออกทางเศรษฐกิจของประเทศหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ได้อย่างดี

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ