โฆษก ศบค. เผย มีการจัดทีมแพทย์และอนามัยดูแล แรงงานต่างด้าวในพื้นที่แออัด ย้ำทุกคนต้องมีชุดพฤติกรรมใหม่ ระหว่างรอยาและวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19

ข่าวทั่วไป Sunday April 26, 2020 11:27 —สำนักโฆษก

โฆษก ศบค. เผย มีการจัดทีมแพทย์และอนามัยดูแล แรงงานต่างด้าวในพื้นที่แออัด ย้ำทุกคนต้องมีชุดพฤติกรรมใหม่ ระหว่างรอยาและวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19

วันนี้ (26 เม.ย.63) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ตอบคำถามของสื่อมวลชนที่ส่งผ่านโซเซียลมีเดีย ระหว่างการแถลงข่าวของศูนย์ข่าวโควิด-19 และ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

โฆษก ศบค. ชี้แจงถึงมาตรการดูแลประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของการทำ State Quarantine ที่มีจำนวนตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมาตรการดูแลแรงงานต่างด้าว อาทิ แรงงานต่างด้าวในจังหวัดสมุทรสาครที่อยู่กันอย่างแออัดว่า กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการค้นหาผู้ป่วยติดเชื้อในเชิงรุก คือ การทำ Active Case Finding โดยกองระบาดวิทยา และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมทั้งกรมอนามัยที่ลงพื้นที่ตรวจสอบดูแลด้านสุขอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อลดความเสี่ยงการเป็นพื้นที่แพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตามต้องได้รับความร่วมมือจาก ประชาชน แรงงานต่างด้าว ผู้ประกอบการ ปรับพฤติกรรมช่วยกันเป็นผู้เฝ้าระวัง สังเกตอาการของคนในชุมชน ขณะที่ภาครัฐจะเป็นผู้ให้ข้อมูล ให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ

โฆษก ศบค. ยังชี้แจง การกลับไปใช้ชีวิตตามปกติของประชาชน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคดีขึ้นแล้วว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ จากการแพร่กระจายผ่านระบบทางเดินหายใจ ซึ่งพบว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน ไม่พบอาการ ฉะนั้น หากกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ มีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้ได้รับเชื้อและส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อได้ แม้ไทยจะคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อได้ดี แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่จำนวนตัวเลขผู้ป่วยพุ่งสูงขึ้น จึงยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ เพราะมีความเสี่ยงที่อาจจะทำให้โรคโควิด-19 กลับมาระบาดได้อีก ทั้งนี้ การจะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติจำเป็นต้องใช้เวลาพอสมควร ด้วยความร่วมมือกันของทุกประเทศ จึงจะมั่นใจได้ การจะกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ก็คือ 1. ต้องมียารักษาที่ไม่เพียงแค่ระงับหรือต้านอาการเท่านั้น และ 2. ต้องมีวัคซีนป้องกัน ซึ่งยังคงต้องใช้เวลานาน จากการศึกษาต่างประเทศที่ไม่มีการปรับใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) พบตัวเลขของผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้น เมื่อมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมพบว่าจำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อนั้นลดลง หากไทยยกเลิกการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) อาจจะทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคกลับมาได้อีก เพราะการ์ดตกเมื่อไหร่ สิ่งที่ทำมาจะเป็นศูนย์ทันที

ในตอนท้าย โฆษก ศบค. กล่าวว่าตั้งแต่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ได้ประกาศ พรก. ฉุกเฉิน พบว่าประชาชนได้ให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ได้ว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ทุกคนเข้าใจสถานการณ์ร่วมกัน ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ ช่วยกันประคองสถานการณ์ เชื่อว่าจะก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

..............................

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ