วันนี้ (27 เม.ย.63) เวลา 12.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันและผลการประชุม ในโอกาส พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในไทย มีผู้ที่หายป่วยเพิ่มขึ้น 15 ราย รวมเป็น 2,609 ราย คิดเป็นร้อยละ 89.01 ผู้ป่วยรายใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาคือ 9 ราย รายงานผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมผู้เสียชีวิตเป็น 52 ราย โดยผู้เสียชีวิตรายที่ 52 เป็นผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 64 ปี อาชีพแม่บ้าน โรคประจำตัวคือโลหิตจาง มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันซึ่งเป็นคนในครอบครัว เริ่มป่วย 2 เมษายน 63 ด้วยอาการไข้ ไอ หอบ เหนื่อย ผลตรวจยืนยันเป็นผู้ป่วยโควิด-19 วันที่ 10 เมษายน 63 อาการแย่ลง เหนื่อยมากขึ้น การทำงานของไตลดลง แพทย์ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตในวันที่ 26 เมษายน 63 ด้วยระบบหายใจล้มเหลวและไตวายเฉียบพลัน ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้ที่เสียชีวิตด้วย
จำนวนผู้ป่วยที่ยังรับการรักษาตัว อยู่ที่ 270 รายใน 68 จังหวัด ทั้งนี้ สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 9 ราย จำแนกเป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 3 ราย พบว่าเป็นผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้จากจังหวัดภูเก็ต สุพรรณบุรี และยะลา และใช้วิธีการตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชนที่จังหวัดยะลา 4 ราย รวมทั้ง ผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศแล้วเข้า State Quarantine ที่กรุงเทพฯ 2 ราย รวมทั้งหมด 9 ราย ซึ่งต่ำกว่า 10 รายเป็นวันแรกตั้งแต่ที่มีการรายงานสถานการณ์
โฆษก ศบค. กล่าวถึงการกระจายตัวของผู้ป่วยรายใหม่ว่า 5 ราย อยู่ที่จังหวัดยะลา กรุงเทพฯ ภูเก็ตและสุพรรณบุรี และจังหวัดที่ไม่มีการรายงานการรับรักษาผู้ป่วยยังเป็น 9 จังหวัดเดิม ด้านจังหวัดที่รับรักษาผู้ป่วยยืนยันสะสมไม่รวม State Quarantine อันดับ 1 ยังเป็นภูเก็ต รองลงมาคือ กรุงเทพฯ ยะลา ปัตตานี นนทบุรี ตามลำดับ ด้านอัตราป่วยต่อแสนประชากร อันดับ 1 คือ กรุงเทพฯ รวม 1,481 ราย หรือ 26.11 ต่อแสนประชากร รองลงมาคือ ภูเก็ต นนทบุรี ยะลา สมุทรปราการ
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ของโลก ตัวเลขผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยูที่ 2,994,000 กว่าราย อาการหนัก 57,000 ราย หายป่วยแล้ว 870,000 ราย เสียชีวิตไป 206,995 รายคิดเป็นร้อยละ 6.9 โดยประเทศที่มีผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมมากที่สุดคือสหรัฐอเมริกา พบผู้ป่วยรายใหม่ถึง 26,000 กว่าคน ตามด้วยรัสเซียพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 6,361 คน อังกฤษ ผู้ป่วยรายใหม่ 4,463 คน ส่วนประเทศที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา โดยในวันเดียวเสียชีวิต 1,148 ราย อังกฤษ เสียชีวิต 413 รายและสเปน เสียชีวิต 288 ราย ส่วนประเทศไทยขณะนี้ลงมาอยู่อันดับที่ 58 ของโลก
สถานการณ์ในเอเชียพบว่า สิงคโปร์ยังมีตัวเลขที่สูงอยู่โดยมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 931 รายเสียชีวิต 12 ราย เกาหลีใต้มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 10 รายมีผู้ป่วยยืนยันสะสมรวม 10,738 ราย ญี่ปุ่น มีผู้ป่วยรายใหม่ 210 ราย อินโดนีเซีย ผู้ป่วยรายใหม่ 275 ราย ฟิลิปปินส์ ผู้ป่วยรายใหม่ 285 ราย ส่วนมาเลเซีย พบผู้ป่วยรายใหม่ลดลงอยู่ที่ 38 ราย
3. รายงานผลการปฏิบัติการตามมาตรการ
รายงานผลจากการปฏิบัติการ จากการประกาศมาตรการเคอร์ฟิวประจำวันที่ 27 เมษายน 63 โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงพบว่า จำนวนตัวเลขของผู้กระทำผิดกรณีฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ลดลง โดยประชาชนที่กระทำความผิด กรณีออกนอกเคหะสถานลดลงไป 119 ราย เหลือ 449 ราย ประชาชนที่กระทำความผิดกรณีมั่วสุมลดลง 28 ราย เหลือ 59 ราย ขอขอบคุณทุกคนที่ให้ความร่วมมือ
วันนี้ (27 เมษายน) เวลา 15.40 น. จะมีคนไทยเดินทางกลับมาจากประเทศญี่ปุ่น จำนวน 15 คน เวลา 17.05 น. จากเนเธอร์แลนด์ 25 คน และเวลา 20.15 น. จากนิวซีแลนด์ 168 คน เป็นนักเรียน นักศึกษา ซึ่งมีการสนธิกำลังกันในหลายส่วนทั้งจากกระทรวงการต่างประเทศ การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย รวมถึงฝ่ายความมั่นคง ในการจัดหาเครื่องบิน เตรียมสถานที่กักกันตัวของรัฐหรือ State Quarantine และในวันพรุ่งนี้ (28 เมษายน) เวลา 11.55 น. จะมีคนไทยเดินทางกลับมาจากสเปน 12 คน และจากประเทศอินเดีย (นิวเดลี) เป็นนักเรียน นักศึกษา และคนไทยตกค้างจำนวน 200 คน เดินทางมาในเวลา 07.10 น.
กระทรวงมหาดไทยได้รายงานสถิติคนไทยที่เดินทางกลับประเทศผ่านจุดผ่านแดนทางบก มีผู้เดินทางเข้ามาแล้ว (วันที่ 26 เมษายน) โดยการลงทะเบียน 293 คน ไม่ลงทะเบียน 107 คน รวม 400 คน ยอดสะสมจำนวนผู้ที่เดินทางกลับมาแล้วตั้งแต่วันที่ 18-26 เมษายน 63 โดยการลงทะเบียน 3,131 คน ไม่ลงทะเบียน 1,043 คน รวม 4,174 คน สำหรับผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียน ภาครัฐจะต้องเข้าไปดูแลให้ เพราะอาจจะเกี่ยวข้องกับการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งทุกคนต้องได้รับการดูแลที่เรียกว่าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ โดยมีการรายงานสถานภาพ State Quarantine ตอนนี้มีจำนวนห้องพัก 5,468 ห้อง เข้าพักแล้ว 2,132 ห้อง คงเหลือห้องพัก 3,336 ห้อง และมีผู้กักตัวสะสม 3,379 คน อยู่ระหว่างการกักตัว 2,150 คน และกลับบ้านแล้ว 1,229 คน
นายกรัฐมนตรีในนาม ผอ. ศบค. ชื่นชมการทำงาน หลังจากที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ตลอดระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งทุกภาคส่วนยังต้องร่วมมือกัน ทั้งข้าราชการฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำและภาคธุรกิจ ซึ่งได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โดยยังคงยึดหลักสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลก แม้จะยังคงมีความกังวลด้านเศรษฐกิจ โดยจะได้มีกำหนดระยะเวลาผ่อนปรนในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปโดยอาจะเริ่มที่ร้อยละ 25 ร้อยละ 50 ร้อยละ 75 และ 100 โดยจะมีการทบทวนในแต่ละระยะทุก ๆ 14 วัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก รวมทั้งพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อการควบคุมโรคเพราะเป้าหมายสำคัญ คือ ต้องไม่ให้มีการระบาดในรอบ 2 เพราะจะทำให้การดำเนินการต่าง ๆ ที่ผ่านมาสูญเสีย
สาระสำคัญของการประชุม ประกอบด้วย การรายงานปฏิบัติการด้านสาธารณสุข โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอฉากทัศน์ในการควบคุมการแพร่ระบาดใน 3 กรณี คือ การควบคุมได้ดี จะมีผู้ติดเชื้อประมาณ 15-30 รายต่อวัน โดยมีมาตรการเช่นนี้ในขณะนี้ อาทิ การห้ามการเดินทางเข้า-ออกประเทศ จำกัดการเคลื่อนย้ายภายในประเทศ กรณี 2 สถานการณ์ควบคุมได้มีความเสี่ยงต่ำ การระบาดอยู่ในวงจำกัด สาธารณสุขรับรองได้โดยต้องมีมาตรการ อาทิ การชะลอเข้าประเทศ เปิดธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ อาจมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 40-70 รายต่อวัน และกรณี 3 สถานการณ์ควบคุมได้ยาก มีการเปิดแบบเต็มรูปแบบจำนวนคนไข้จะมีมาก 500-2,000 รายต่อวัน โดยการพยากรณ์คนไข้ระหว่างพฤษภาคม-มิถุนายนจะอยู่ที่ 46,596 ราย กรณีความเสี่ยงต่ำ 4,661 ราย กรณีการดำเนินมาตรการเข้มข้นเช่นที่ผ่านมา พยากรณ์ผู้ป่วยจะอยู่ที่ 1,189 ราย
สำหรับตัวอย่างที่ได้รับการตรวจผู้ป่วยสงสัยตั้งแต่เปิดดำเนินการถึง 24 เมษายน 63 มีจำนวนทั้งสิ้น 178,083 ตัวอย่าง และจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นโดยการตรวจเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งคณะกรรมการ EOC ของ สธ. จะมีการชี้เป้า โดยเฉพาะกลุ่ม อาทิ มีการอยู่ร่วมกลุ่ม กลุ่มคนแออัด แรงงานต่างด้าว เป็นต้น
พลเอก สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เสนอรายงานประเมินผลสัมฤทธิการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 2548 ทำให้การดำเนินการตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ในนาม ผอ.ศูนย์ ศบค. เป็นไปอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ และเป็นเอกภาพ ส่งผลให้การติดเชื้อลดอย่างต่อเนื่อง จากแบบสำรวจความพึงพอใจพบว่า ประชาชนพึงพอใจมากกว่าร้อยละ 70 จึงเสนอเห็นควรขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน ถึง 31 พฤษภาคม 63 โดยยังคง 4 มาตรการ 1. ควบคุมการเดินทางเข้า-ออกนอกราชอาณาจักร 2. ห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถาน (เคอร์ฟิว 22.00 น.- 04.00 น.) 3. งด ชะลอการเดินทางข้ามเขตจังหวัด 4. งดการดำเนินกิจกรรมในคนหมู่มาก เช่น การอบรม สัมมนา กิจกรรมในที่โล่งแจ้ง ทั้งนี้ หลักคิดของแนวทางผ่อนปรน ต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นหลักและนำปัจจัยอื่นมาประกอบการพิจารณา โดยยังต้องให้มีการทำงานที่บ้านร้อยละ 50 พิจารณากิจกรรมที่จำเป็น ทุกคนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา กิจกรรมนั้นต้องประกอบด้วย 5 เรื่อง ได้แก่ 1. เว้นระยะห่างทางสังคม 2. การวัดอุณหภูมิ 3. การล้างมือ การมีเจลแอลกอฮอล์ ฆ่าเชื้อโรค บริการ 4. การจำกัดจำนวนคนที่เหมาะสมต่อสถานที่ และ 5. การมีแอปพลิเคชันติดตามตัว โดยต้องจัดสมดุลระหว่างสิทธิมนุษยชนและความปลอดภัยของสาธารณชน ขณะเดียวกัน ก็ยังคงต้องเร่งรัดตรวจหาผู้ติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยง มีเทคโนโลยีตรวจตรา ติดตาม การดำเนินการของสถานที่ประกอบการต่าง ๆ อาทิ การใช้กล้อง CCTV เป็นต้น ซึ่งการประเมินผลการผ่อนปรนอย่างน้อยทุก 14-15 วัน ซึ่งสามารถผ่อนคลายหรือระงับการผ่อนปรนทันที
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะคณะที่ปรึกษาธุรกิจเอกชนของ ศบค. เสนอแนวทางการผ่อนปรน ภายหลังการขยายระยะเวลาพ.ร.ก. ฉุกเฉิน โดยแบ่ง 4 กลุ่มธุรกิจ คือ กลุ่มสีขาว มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน ร้านขนาดเล็กอยู่ที่โล่งแจ้ง ควบคุมได้ สวนสาธารณะ กลุ่มสีเขียว สถานที่ประกอบการขนาดเล็ก อาจติดเครื่องปรับอากาศหรือไม่ มีมาตรการควบคุมได้ พื้นที่ไม่มาก สนามออกกำลังกายกลางแจ้ง กลุ่มสีเหลือง สถานที่ปิด มีคนมาจำนวนมาก ติดแอร์ ขนาดใหญ่ และกลุ่มสีแดง ที่มีคนมาชุมนุมแออัดมาก เป็นที่เสี่ยงสูง อาทิ สนามมวย สถานบันเทิง เป็นต้น
ผอ ศบค. เห็นชอบในหลักการ ได้ให้แนวทางโดยพิจารณาประเภทและช่วงเวลา แต่ให้พิจารณากิจการที่สามารถเปิดดำเนินการได้ทั่วประเทศ ทุกจังหวัดเปิดได้พร้อมกัน โดยมอบสภาพัฒน์ฯ และคณะทำงานฯ หารือในรายละเอียดเพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในโอกาสต่อไป
**********************
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th