โฆษก ศบค. แถลงสารนายกฯ ย้ำมาตรการผ่อนปรน ต้องควบคุมไวรัส ลดผลกระทบเศรษฐกิจ เผยตลาดสด ตลาดน้ำ ตลาดชุมชน ถนนคนเดิน แผงลอย ร้านอาหาร เป็น 1 ใน 6 กลุ่มกิจการแรกที่เปิดบริการ 3 พ.ค.นี้

ข่าวทั่วไป Thursday April 30, 2020 15:16 —สำนักโฆษก

โฆษก ศบค. แถลงสารนายกรัฐมนตรี ในนาม ผอ.ศบค. ย้ำมาตรการผ่อนปรน ต้องควบคุมไวรัส ลดผลกระทบเศรษฐกิจ เผยตลาดสด ตลาดน้ำ ตลาดชุมชน ถนนคนเดิน แผงลอย ร้านอาหาร เป็น 1 ใน 6 กลุ่มกิจการแรกที่ให้เปิดบริการ 3 พ.ค.นี้

วันนี้ (30 เม.ย.63) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน และมาตรการในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในไทย

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ในประเทศไทย พบผู้ป่วยรายใหม่ 7 ราย ผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 2,954 ราย มีผู้ที่หายป่วยเพิ่มขึ้น 22 ราย รวมผู้ที่หายป่วยแล้ว 2,684 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่ม ผู้เสียชีวิตยังคงที่ที่ 54 ราย ผู้ที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 213 รายใน 68 จังหวัด ถือเป็นวันแรกที่ผู้ป่วยรายใหม่ที่เกิดขึ้นจากระบบเฝ้าระวังโรคจากผู้ป่วยรายยืนยันก่อนหน้า มีตัวเลขเป็นศูนย์ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 7 รายนี้ 4 รายเป็นผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชนที่ภูเก็ต 3 ราย กระบี่ 1 ราย และผู้ป่วยที่เดินทางกลับมาจากมาเลเซียอยู่ใน State Quarantine กรุงเทพฯ 3 ราย ทำให้กรุงเทพฯ มีตัวเลขผู้ป่วยสะสมมากที่สุด 1,488 ราย รองลงมาคือ ภูเก็ต 216 ราย ขณะที่อัตราส่วนของผู้ป่วยต่อแสนประชากร ภูเก็ตจะเป็นอันดับ 1 คือ 52 รองลงมา ได้แก่ นนทบุรี ยะลา และสมุทรปราการ ตามลำดับ

โฆษก ศบค. กล่าวถึงผู้ป่วย PUI หรือผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค ขณะนี้ มีรวมทั้งหมด 62,000 กว่าราย ซึ่งได้มีการปรับเกณฑ์ผู้ป่วย PUI เมื่อ 7 เมษายน ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากหรือแค่มีประวัติมีไข้ก็รับการตรวจได้ ซึ่งตั้งแต่ 7 เมษายน ถึงปัจจุบันประมาณ 3 สัปดาห์ สามารถตรวจได้ถึงเกือบครึ่งหนึ่งของช่วงที่ผ่านมาคือเกือบ 30,000 กว่าราย

2. สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 โลก

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ของโลก พบผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยู่ที่ 3,220,000 กว่าคน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ภายในวันเดียวกว่า 82,000 รายและเสียชีวิตไปแล้วกว่า 228,000 ราย เสียชีวิตวันเดียวถึง 10,249 ราย รวมแล้วมากถึงร้อยละ 7.1 ของผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมทั้งหมด ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยรายใหม่ภายในวันเดียวเพิ่มถึง 28,000 กว่าราย บราซิล 6,400 กว่าราย รัสเซีย ประมาณ 5,800 กว่าราย ประเทศที่มีการเสียชีวิตสูงที่สุดในรอบ 24 ชั่วโมง คือ อังกฤษ 4,419 ราย สหรัฐอเมริกา 2,402 รายและสเปน 453 ราย สะท้อนว่าสถานการณ์โรคในต่างประเทศ โดยเฉพาะทางตะวันตกยังคงมีความรุนแรง

สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) โซนเอเชีย อินเดียมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 1,738 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 33,000 กว่าราย ส่วนประเทศไทยเลื่อนลงมาอยู่ที่อันดับ 59 ของโลก สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 25 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 690 ราย รวมผู้ติดเชื้อยันยันสะสม 15,000 กว่าราย ญี่ปุ่น มีผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยู่ที่ 13,000 ราย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 159 ราย ขณะที่เกาหลีใต้ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4 ราย ตัวเลขสะสมรวมของเกาหลีใต้ 10,765 ราย มากกว่าไทยประมาณ 4 เท่า อินโดนีเซีย ผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยู่ที่ 7,900 ราย ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 260 ราย ฟิลิปปินส์ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 259 ราย รวมผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 8,200 ราย มาเลเซีย ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 94 ราย รวมผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 5,900 ราย สำหรับอันดับของประเทศกลุ่มอาเซียนและเอเชียขณะนี้ พบว่า อินเดียนำเป็นอันดับที่ 1 ตามด้วยสิงคโปร์ ปากีสถาน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้

แนวโน้มสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด -19 พบว่า สหรัฐอเมริกามีแนวโน้มลดลง แต่จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันยังเพิ่มขึ้น ขณะที่รัสเซียมีแนวโน้มคงที่และเพิ่มขึ้น เพราะพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น ในเอเชีย อินเดียยังมีแนวโน้มพุ่งขึ้นต่อเนื่อง เนื่องมาจากมีประชากรจำนวนมากและพื้นที่กว้างใหญ่ ขณะที่ปากีสถานและสิงคโปร์ มีแนวโน้มทรงตัวอยู่

3. สารนายกรัฐมนตรี

สารจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในนามผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ต่อการเริ่มดำเนินการมาตรการผ่อนปรนในวันที่ 30 เมษายน 2563 ความว่า

“เน้นย้ำว่าการดำเนินการในครั้งนี้ ถือเป็นความรับผิดชอบของคนไทยทั้งประเทศ ที่ได้ตัดสินใจร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสถานการณ์การระบาดของไวรัส โควิด-19 ไปด้วยกัน ทั้งในเรื่องของการระบาด และผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยหากเราสามารถควบคุมสถานการณ์ทางด้านสาธารณสุขในระยะแรกนี้ได้ ก็จะมีการดำเนินมาตรการผ่อนปรนในระยะต่อ ๆ ไปได้ และขอให้เจ้าหน้าที่ทุกคน ร่วมมือกันปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความเสียสละ ทำให้ประชาชนปลอดภัย บรรเทาความเดือดร้อนในเรื่องค่าครองชีพ ค่าใช้จ่าย วิถีชีวิตของประชาชน และป้องกันการแพร่ระบาดไม่ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้ หากเราควบคุมได้ไม่ดี ทุกอย่างอาจจะแย่ลง ทุกคนเข้าใจดีว่าภารกิจนี้อาจจะเป็นงานที่ยาก ท้าทาย แต่หากเราทุกคนโดยเฉพาะผู้ประกอบการ ผู้รับบริการ ผู้อุปโภคบริโภค และประชาชนร่วมมือกันด้วยความตั้งใจ มุ่งเน้นในเรื่องของการป้องกันตนเองและผู้อื่น มีสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เผื่อแผ่แบ่งปันกัน ก็จะสำเร็จได้ ต้องขอขอบคุณทุกคนที่มาร่วมกันในคณะกรรมการพิจารณามาตรการผ่อนปรน ซึ่งประกอบไปด้วยภาครัฐ ธุรกิจ เอกชน ประชาชน ผู้ประกอบการ บุคลากรทางการแพทย์ที่ได้ให้ข้อเสนอ และหามาตรการที่เหมาะสมในการดำเนินการมาอย่างรอบคอบ คงไม่ใช่เพราะคำสั่ง หรือการตัดสินใจของนายกฯ เพียงคนเดียว และต่อจากนี้จะเป็นหน้าที่ของคนไทยทั้งประเทศที่ต้องช่วยกัน ร่วมมือกัน มาตรการครั้งนี้ถึงจะสำเร็จได้”

โฆษก ศบค. ชี้แจงการขยายเวลาประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ต่อไปอีก 1 เดือน จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ได้กำหนดมาตรการผ่อนปรนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพียงหลักเดียว โดยยังคงต้องตรึงในมาตรการตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ที่ต่าง ๆ ดังนี้

1. มาตรการเคอร์ฟิว ยังคงอยู่ที่เวลา 22.00 – 04.00 น.

2. มาตรการควบคุมการเดินทางเข้า - ออก ราชอาณาจักร ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ

3. มาตรการสถานกักกันโดยรัฐจัดให้หรือ State Quarantine ซึ่งมีผู้ยังคงเฝ้าระวังพำนักอยู่กว่าพันราย ตรวจพบผู้ติดเชื้อกว่า 80 ราย หากคนกลุ่มเหล่านี้ไม่ถูกกักตัวใน State Quarantine อาจจะทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นร่วมหมื่นราย

4. มาตรการจำกัดการบินเข้า – ออก ของสายการบินระหว่างประเทศ โดยอนุญาตเฉพาะสายการบินบางประเภทเท่านั้น เช่น กรณีขนส่งสินค้า และรับคนไทยกลับมาจากต่างประเทศ

5. งดการเดินทางข้ามจังหวัดโดยไม่มีเหตุจำเป็น

6. คงแนวทางการทำงานที่บ้านให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50 และ

7. เข้มงวดไม่ให้ประชาชนเข้าไปในพื้นที่ หรือสถานที่ที่มีคนจำนวนมากไปทำกิจกรรมร่วมกัน หรือเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเป็นการชั่วคราว โดยมาตรการดังกล่าวเหล่านี้ จะขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563

4. การผ่อนปรนมาตรการ

ศบค. จะเป็นผู้กำหนดมาตรการผ่อนปรน ต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก และนำปัจจัยด้านสังคม เศรษฐกิจ มาประกอบการพิจารณาโดยจะกำหนดให้มีมาตรฐานกลางของแต่ละประเภทกิจการและกิจกรรม เพื่อให้ทุกพื้นที่ยึดถือปฏิบัติ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สามารถกำหนดรายละเอียดต่อไปได้ โดยสามารถมีความเข้มข้นมากกว่าได้ แต่เข้มข้นน้อยกว่ามาตรฐานกลางไม่ได้ ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินงานยึดถือข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปี พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 1 ข้อ 11 ซึ่งมีมาตรการดำเนินการดังต่อไปนี้ เช่น การทำความสะอาดพื้นผิวของสถานที่ที่เกี่ยวข้องก่อนและหลังการทำกิจกรรม การกำจัดขยะมูลฝอย การใส่หน้ากากผ้าอยู่เสมอทั้งผู้ใช้และผู้ให้บริการ การล้างมือ การเว้นระยะนั่งหรือยืน 1 เมตร ยังต้องมีมาตรฐานเหล่านี้ในข้อกำหนด โดยนำไปปรับใช้ในการประกอบกิจการและกิจกรรมต่อไป

ทั้งนี้ กลุ่มแรกที่เห็นชอบให้ผ่อนปรน ทั้งหมด 6 กลุ่มกิจกรรมและกิจการ ได้แก่

1. ตลาด ตลาดสด ตลาดน้ำ ตลาดชุมชน ถนนคนเดิน แผงลอย

2. ร้านจำหน่ายอาหาร ร้านอาหารทั่วไป ร้านเครื่องดื่ม ขนมหวาน ไอศกรีม (นอกห้างฯ) ร้านอาหารริมทาง หาบเร่ รถเข็น

3. กิจการค้า ปลีก-ส่ง ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อบริเวณพื้นที่นั่ง/ยืนรับประทาน รถเร่หรือรถวิ่งขายสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านค้าปลีกขนาดย่อม/ร้านค้าปลีกชุมชน ร้านขายปลีกสื่อสารโทรคมนาคม

4. กีฬาสันทนาการ กิจกรรมในที่สาธารณะ เดิน รำไทเก็ก สนามกีฬากลางแจ้งที่เป็นการออกกำลังกาย โดยไม่ได้เล่นเป็นทีมและไม่มีการแข่งขัน ได้แก่ เทนนิส ยิงปืน ยิงธนู จักรยาน กอล์ฟและสนามซ้อม

5. ร้านตัดผมเสริมสวย เฉพาะตัด สระ และไดร์ผม

6. อื่น ๆ ได้แก่ ร้านตัดขนสัตว์และร้านรับเลี้ยงรับฝากสัตว์

มาตรการการควบคุมหลักและมาตรการเสริม จะมีรายละเอียดปลีกย่อยเชื่อมโยงปรับไปตามสถานการณ์ของแต่ละที่ โดยกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จะร่วมกันส่งชุดข้อมูลไปถึงจังหวัดต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ โดยเริ่มมาตรการผ่อนปรนตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. 63 เป็นต้นไป และใช้เวลาประมาณ 14 วัน ติดตามประเมินผล หากแนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่ดี ก็สามารถเลื่อนลำดับกิจการ/กิจกรรม ให้ผ่อนคลายมากขึ้น แต่ถ้ามีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จะต้องทบทวนมาตรการใหม่ และกลับมาตรึงกิจการและกิจกรรม ซึ่งประชาชนทุกคนต่างมีส่วนร่วมมือ ร่วมศึกษาและปรับพฤติกรรมร่วมไปด้วยกัน

**********************

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ