โฆษก ศคบ. แจงการถอนจีนและเกาหลีใต้ออกจากรายชื่อประเทศเขตโรคติดต่ออันตราย เป็นเพียงข้อเสนอ ศบค. ย้ำไทยยังไม่อนุญาตให้มีเที่ยวบินเข้าประเทศ คงมาตรการ fit to fly

ข่าวทั่วไป Friday May 8, 2020 15:46 —สำนักโฆษก

โฆษก ศคบ. แจงการถอนจีนและเกาหลีใต้ออกจากรายชื่อประเทศเขตโรคติดต่ออันตราย เป็นเพียงข้อเสนอ ศบค. ย้ำไทยยังไม่อนุญาตให้มีเที่ยวบินเข้าประเทศ คงมาตรการ fit to fly

วันนี้ (8 พ.ค. 63) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ตอบคำถามสื่อมวลชนผ่านโซเซียลมีเดียช่วงการแถลงข่าวของศูนย์ข่าวโควิด-19 และสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

โฆษก ศบค. ชี้แจงกรณีการเสนอถอนจีนและเกาหลีใต้ออกจากรายชื่อประเทศเขตโรคติดต่ออันตรายว่า ยังเป็นเพียงข้อเสนอในที่ประชุม ศบค. ซึ่งยังต้องมีขั้นตอนหารือ รวมทั้งเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไทยยังคงมีมาตรการเคร่งครัดในการจำกัดเที่ยวบิน ขณะนี้ยังไม่อนุญาตให้มีเที่ยวบินโดยสารทั่วไปเข้าประเทศ มาตรการ Fit to Fly ต้องมีใบรับรองแพทย์ก่อนเดินทาง ผู้เดินทางเข้าประเทศยังต้องเข้าสู่กระบวนการ State Quarantine หรือ Local Quarantine ในสถานที่ที่รัฐจัดให้ ซึ่งมั่นใจได้ว่า ด้วยมาตรการเหล่านี้ ยังไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาอย่างเสรี

ในระยะยาวนั้น หากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทย ก็จะมีมาตรการดูแลคนต่างชาติเช่นเดียวกับการดูแลคนไทย เช่นกรณี คนจีนที่เป็นผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายแรก สามารถรักษาจนหายและเดินทางกลับบ้านได้ ซึ่งศักยภาพด้านการแพทย์ของไทยสามารถสร้างความมั่นใจของการเดินทางระหว่างประเทศ เมื่อโอกาสที่ประเทศไทยจะต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างปกติมาถึง

โฆษก ศบค. เผยการตรวจผู้ติดเชื้อจำนวน 40 รายที่จังหวัดยะลาและผู้ป่วยที่เป็นทหารเรือ ซึ่งต้องใช้ผลการตรวจถึง 3 แล็บชี้แจงว่า เป็นการทวนสอบหรือการตรวจซ้ำซึ่งเป็นมาตรฐานปกติทั่วไปเพื่อสร้างความมั่นใจ กรณีผู้ป่วย 40 รายนั้น เมื่อผลตรวจจากแล็บ 1 และ แล็บ 2 ไม่ตรงกัน ก็ต้องส่งตรวจเพิ่มเติมที่แล็บ 3 กรณีผู้ป่วยที่มาจากกองทัพเรือ ผลตรวจในครั้งแรกให้ผลเป็นบวก ผลตรวจในครั้งที่ 2 ให้ผลเป็นลบ จึงมีความจำเป็นที่จะเก็บตัวอย่างเพิ่มเติมเพื่อทวนสอบอีกครั้ง

ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้ความสำคัญกับการตรวจเชื้ออย่างมาก หากการตรวจครั้งแรกให้ผลเป็นลบ ครั้งที่สองให้ผลเป็นบวก ก็จะทำการรักษาทันที แต่ถ้าหากครั้งแรกให้ผลเป็นบวก ครั้งที่สองให้ผลเป็นลบ แพทย์ผู้ตรวจจะต้องทำการสังเกตอาการ รวมทั้ง แพทย์อาจมีดุลยพินิจให้ตรวจซ้ำได้ เพื่อความรอบคอบและป้องกันบุคคลากรทางการแพทย์ไม่ให้ติดเชื้อจากผู้ที่มาเข้ารับการตรวจด้วย ถือว่าเป็นการตรวจสอบซึ่งกันและกัน เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสังคม

โฆษก ศบค. ย้ำว่า การเร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อเป็นเรื่องที่สำคัญมาก นอกจากเร่งตรวจสอบกลุ่มเสี่ยงสองกลุ่มหลักแล้ว อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังเน้นการตรวจหาผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เพิ่มเติม รวม 6 กลุ่ม แบ่งเป็น 1. บุคลากรทางการแพทย์ 2. ผู้ต้องขัง 3. คนขับรถสาธารณะ 4. พนักงานไปรษณีย์ พนักงานส่งของ 5. แรงงานต่างด้าว และ 6. ผู้ประกอบอาชีพเสี่ยง เช่น สถานบันเทิง บุคคลเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มของ 85,000 คน ที่จะต้องได้รับการจัดการให้เข้าถึงการตรวจ จำนวนตัวเลขผู้ได้รับการตรวจที่สูงเพียงพอ ยืนยันถึงความสามารถของระบบการทำงาน พร้อมทั้งสร้างความมั่นใจได้

ในช่วงท้าย โฆษก ศบค. ยังชี้แจงถึงกรณีผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนคำสั่งรวมถึงการแนะผู้ประกอบการในเฟส 2 ว่า ศบค. วางแผนตรวจสอบผู้ประกอบการแต่ละประเภท ทั้งมาตรการหลักและมาตรการเสริม ทั้งนี้ ไม่อยากให้ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามเกิดโทษรุนแรงหรือถูกปรับ แต่ต้องการให้เกิดความปลอดภัย การปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัดผลดีคือสามารถเปิดให้บริการต่อไปได้ หากไม่มีการปฏิบัติตามอาจต้องปิดปรับปรุง ก่อนจะอนุญาตให้เปิดบริการใหม่อีกครั้ง โดยชุดตรวจประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ ทั้งฝ่ายความมั่นคง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สาธารณสุข เข้าไปดูแลเพื่อความปลอดภัยทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ โดยมีมาตรการหลักและมาตรการเสริมที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่และประเภทของการใช้บริการ พร้อมย้ำว่าการร่วมมือของประชาชนกว่าร้อยละ 90-100 จะทำเดินหน้าสามารถเปิดระยะต่อไปได้

..............

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ