โฆษก ศบค. รายงานมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 3 ราย ระบุการเดินทางข้ามจังหวัด ยังมีความเสี่ยงแพร่เชื้อ ขอบคุณคนไทยและกิจการต่าง ๆ ที่ให้ความร่วมมือ ดำเนินชีวิตวิถีใหม่โดยการใช้เทคโนโลยี

ข่าวทั่วไป Monday May 18, 2020 15:57 —สำนักโฆษก

โฆษก ศบค. รายงานมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 3 ราย ระบุการเดินทางข้ามจังหวัด ยังมีความเสี่ยงแพร่เชื้อ ขอบคุณคนไทยและกิจการต่าง ๆ ที่ให้ความร่วมมือ ดำเนินชีวิตวิถีใหม่โดยการใช้เทคโนโลยี

วันนี้ (18 พ.ค.63) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน และมาตรการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ในไทย

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ประเทศไทย มีผู้ป่วยใหม่ 3 ราย ตัวเลขผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 3,031 ราย มีผู้ที่หายป่วยเพิ่มขึ้น 1 ราย รวมผู้ที่หายป่วยแล้ว 2,857 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยังคงที่ 56 ราย ผู้ที่รักษาตัวในโรงพยาบาล 118 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ มี 2 รายที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยรายยืนยันก่อนหน้านี้ โดยรายแรกเป็นผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 29 ปี มีประวัติกับผู้ป่วยยืนยันที่ทำงานในกรุงเทพมหานคร ด้วยอาการถ่ายเหลว เข้ารับการตรวจหาเชื้อวันที่ 15 พฤษภาคม 63 รักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลในจังหวัดนนทบุรี รายที่ 2 สืบเนื่องในกลุ่มเดียวกัน เป็นชายไทยอายุ 55 ปี มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันในที่ทำงานเดียวกันกับผู้ป่วยรายแรก เข้ารับการตรวจหาเชื้อวันที่ 15 พฤษภาคม 63 รักษาต่อในโรงพยาบาลเดียวกันกับผู้ป่วยรายแรก ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มก้อนนี้เกิดขึ้นในที่ทำงานเดียวกันที่พบผู้ป่วยแล้วรวม 6 ราย โดยสองรายล่าสุดนี้เกิดขึ้นใหม่ จากการติดตามของกรมควบคุมโรค ซึ่งจะมีการขยายผลตรวจผู้ที่ใกล้ชิดกับสองรายนี้ให้ได้รับการตรวจเพิ่มเติมอีก และรายที่ 3 เป็นผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 27 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต อาชีพพนักงานขายสินค้า มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันรายที่อยู่จังหวัดปราจีนบุรี เข้ารับการตรวจหาเชื้อวันที่ 15 พฤษภาคม 63 รักษาต่อที่โรงพยาบาลในจังหวัดภูเก็ต

โฆษก ศบค. กล่าววิเคราะห์กรณีมีผู้ป่วยที่เดินทางออกจากจังหวัดภูเก็ต แล้วไปพบผลตรวจยืนยันที่จังหวัดปราจีนบุรี 1 ราย และที่จังหวัดเชียงใหม่ 1 ราย เพื่อให้เห็นภาพของทิศทางการสอบสวนโรค ว่า มีผู้ที่เดินทางออกจากจังหวัดภูเก็ตไปในเดือนมีนาคม 7 ราย และเดินทางออกจากจังหวัดภูเก็ตในเดือนเมษายน ไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก แบ่งเป็น 2 กลุ่ม รวมทั้งเดินทางไปในเดือนพฤษภาคม ที่ปรากฏผู้ป่วยในจังหวัดปราจีนบุรีและเชียงใหม่ โดยผู้ป่วยที่พบนี้มีความเชื่อมโยงกับการเดินทางข้ามจังหวัด ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่เวลามีโรคระบาดโรคติดต่อจะเกิดลักษณะอย่างนี้ โดยไม่ได้เป็นประเด็นของจังหวัดแต่อย่างใด ประชาชนมีอิสระเสรีที่จะเดินทางไปได้ทุกที่ แต่ต้องมีความเข้าใจถึงความเสี่ยงของตัวเอง เมื่อมีอาการขึ้นมา ต้องรีบเข้ารับการรักษา รีบขอรับการตรวจโดยเร็วถึงจะไม่มีอาการอะไร หรือแค่จมูกไม่ได้กลิ่น มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้หรือประวัติมีไข้ ก็ให้ไปตรวจได้ ถ้าเจอโรคได้เร็วจะรีบรักษาได้เร็ว ขอขอบคุณประชาชนจังหวัดภูเก็ตที่พยายามดูแลตัวเอง ทั้งระดับฝ่ายปกครองและประชาชนที่ทำงานกันอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ถ้าจังหวัดภูเก็ตได้มีการดูแลอย่างดีแล้วเชื่อว่าตัวเลขจะน้อยลงเรื่อย ๆ

ทั้งนี้ เมื่อ 1 มีนาคม 63 ที่ผ่านมา มีผู้ที่ติดเชื้อจำนวนน้อยไม่กี่จังหวัด จากนั้นมา 1 เมษายน 63 มีการติดเชื้อไปทั่วประเทศ การแพร่กระจายของเชื้อใช้เวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น แต่เมื่อมีการประกาศ พรก. ฉุกเฉินเมื่อ 26 มีนาคม 63 ถึง 17 พฤษภาคม 63 อัตราการติดเชื้อได้ลดน้อยลง ซึ่งการลดลงของการติดเชื้อ ใช้เวลามากกว่าการติดเชื้อ เพราะฉะนั้น อย่าให้เกิดการติดเชื้อเลย เพราะจะต้องทุ่มเทสรรพกำลังและลงทุนต่าง ๆ ซึ่งการใช้มาตรการล็อคดาวน์ทำให้สูญเสียด้านเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่ตัวเลขของการสูญเสียทั้งการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของไทยก็น้อยกว่าประเทศอื่น ๆ

2. สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ของโลก

สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ของโลก พบผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยู่ที่ 4,800,000 กว่าราย เสียชีวิตไป 316,000 ราย โดยขณะนี้ประเทศไทยลงอยู่ในอันดับที่ 70 ของโลก

โฆษก ศบค. กล่าวถึงประเด็นข่าวที่น่าสนใจในต่างประเทศว่า นายกรัฐมนตรีอิตาลีแถลงการณ์ระบุว่าการผ่อนปรนมาตรการปิดเมืองและกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง อาจจะเสี่ยงต่อการเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรควิด-19 ระลอกที่ 2 และเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องยอมรับหากเกิดขึ้น โดยรัฐบาลจำเป็นจะต้องดำเนินการปิดเมืองอีกครั้งหนึ่งมีหากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ทั้งนี้ อิตาลีเตรียมอนุญาตให้ร้านอาหาร ร้านกาแฟ สถานเสริมความงาม และพิพิธภัณฑ์ เปิดทำการในวันพรุ่งนี้ ส่วนสถานที่ออกกำลังกาย สระว่ายน้ำจะอนุญาตเป็นลำดับถัดไป ซึ่งตรงนี้ทำคล้ายกับประเทศไทยที่ค่อย ๆ ทยอยผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ออกมาแต่ก็ยังต้องระมัดระวังด้วย อินเดียต้องขยายล็อคดาวน์ไปถึง 31 พฤษภาคม 2563 ซึ่งมาตรการดังกล่าวเริ่มแต่ 25 มีนาคม 2563 และคาดว่าจะหมดในอีก 1-2 วันนี้ จึงต้องมีการขยายมาตรการล็อคดาวน์อีก เพราะมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้น 90,000 ราย รวมทั้งกระทรวงมหาดไทยยังต้องสั่งปิดโรงเรียนและห้างสรรพสินค้า และสถานที่สาธารณะ

เกาหลีใต้ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมโรคของเกาหลีใต้ระบุว่าการหย่อนวินัยเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดในการต่อสู้กับโรคนี้ จึงได้มีการบังคับให้ทุกคนที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะในเมืองแทกู ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน ถ้าไม่ใส่หน้ากากปรับสูงสุดถึง 50,000 บาท นอกจากนี้กรุงโซลยังปิดสถานบันเทิงทุกแห่งซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดระลอกที่ 2 หลังจากเกิดการแพร่ระบาดในย่านอิแทวอน และล่าสุดมีผู้ติดเชื้อในกรณีนี้ไปแล้ว 168 ราย

3. การดำเนินการตามมาตรการ

รายงานสรุปผลการเฝ้าระวังตามมาตรการป้องกันโรค COVID – 19 (มาตรการหลัก) ทำการสำรวจ 6 กลุ่มกิจการ ระหว่าง 7-15 พฤษภาคม จำนวน 2,375 แห่งทั่วประเทศ พบว่า 1. ตลาด การใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทำได้ดี แต่ควรเน้นย้ำเรื่อง การกำหนดจำนวนคนต่อพื้นที่ การกำหนดระยะเวลาที่ใช้บริการ การทำความสะอาด และการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 2. ร้านอาหาร/แผงลอย มาตรการที่ทำได้ดีคือ มีจุดล้างมือ แต่ควรเน้นย้ำเรื่องการทำความสะอาดพื้นผิว 3. ซูเปอร์มาร์เก็ต/มินิมาร์ท มาตรการที่ทำได้ดีคือการเว้นระยะห่างและการล้างมือ แต่ควรเน้นย้ำเรื่องการทำความสะอาดพื้นผิว 4. สวนสาธารณะ/กีฬา มาตรการที่ทำได้ดี คือการใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย การทำความสะอาด และการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล แต่ควรเน้นย้ำเรื่องการทำความสะอาดวัสดุอุปกรณ์กีฬา ม้านั่ง ถังขยะ และควรมีจุดล่างมือเพิ่มขึ้น 5. ร้านเสริมสวย/ร้านตัดผม มาตรการที่ทำได้ดีคือ การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และการทำความสะอาดอุปกรณ์ แต่ควรเน้นย้ำเรื่องการสวมหน้ากาก และภาชนะรองรับขยะ 6. ร้านตัดขนสัตว์และรับฝากสัตว์ มาตรการที่ทำได้ดีคือ การล้างมือ การทำความสะอาดเป็นประจำทุกวัน และการจำกัดจำนวนผู้มารับบริการ แต่ควรเน้นย้ำเรื่องการทำความสะอาดพื้นที่และอุปกรณ์ การสวมหน้ากาก และจุดล้างมือ โฆษก ศบค. ย้ำว่า ขอความร่วมมือให้สถานประกอบกิจการ/กิจกรรม พัฒนาและดำเนินการตามมาตรการด้วย

รายงานข้อมูลจาก www.ไทยชนะ.com ซึ่งเป็น Platform ที่ทางการไทยให้การรับรอง และเป็น Platform เดียวที่ครอบคลุมทั้งประเทศในการลงทะเบียนของผู้ดำเนินกิจการและผู้ใช้บริการ รวมถึงการให้ rating ในการประเมินสถานประกอบกิจการ/กิจกรรม พบว่า มีร้านค้าที่ลงทะเบียน 44,386 ร้าน ผู้ใช้งาน 2,002,897 คน แบ่งจำนวนการใช้ออกเป็น เช็คอิน 2,658,754 ครั้ง เช็คเอ้าท์ 1,845,191 ครั้ง และการประเมินร้าน 1,258,261 ครั้ง โดย 10 จังหวัด ผู้ให้บริการที่ลงทะเบียนร้านค้าสูงสุด ได้แก่ 1. กรุงเทพมหานคร 2. ชลบุรี 3. นนทบุรี 4. สมุทรปราการ 5. ปทุมธานี 6. เชียงใหม่ 7. นครราชสีมา 8. ภูเก็ต 9. สุราษฎร์ธานี และ 10. ขอนแก่น ตามลำดับ

ผู้ให้บริการที่ลงทะเบียนร้านค้าสูงสุด 10 ประเภทกิจการ ได้แก่ 1. ร้านอาหาร/เครื่องดื่มฯ 2. ห้างสรรพสินค้าฯ 3. ซูเปอร์มาร์เก็ตฯ 4. การจำหน่ายสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค 5. การให้บริการ 6. ร้านขายปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม 7. สินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต 8. คลินิกเสริมความงาม/ร้านเสริมสวย 9. ธนาคาร และ 10. ร้านขายยา 661 ร้าน ตามลำดับ

ผู้รับบริการเข้าใช้บริการสูงสุด 10 ประเภทกิจการ ได้แก่ 1. ห้างสรรพสินค้าฯ 2. ซูเปอร์มาร์เก็ตฯ 3. ร้านอาหาร/เครื่องดื่ม 4. การจำหน่ายสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค 5. ร้านขายปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม 6. การให้บริการ 7. ธนาคาร 8. สินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต 9. ร้านขายยา และ 10. คลินิกเสริมความงาม/ร้านเสริมสวย ตามลำดับ โดยจังหวัดที่มีผู้รับบริการเข้าใช้บริการสูงสุด 10 จังหวัด ได้แก่ 1. กรุงเทพมหานคร 2. ชลบุรี 3. สมุทรปราการ 4. นนทบุรี 5.ปทุมธานี 6. นครราชสีมา 7. เชียงใหม่ 8. สงขลา 9. ภูเก็ต และ 10.นครปฐม ตามลำดับ

โฆษก ศบค. ได้อธิบายในเรื่องจำนวนส่วนต่างในการเช็คอิน – เช็คเอ้าท์ สาเหตุมาจากผู้ใช้บริการเช็คอินเข้ารับบริการและลืมเช็คเอ้าท์ คาดว่าเป็นปัญหาจากการใช้แอพพลิเคชันวันแรก โดยหากผู้ใดที่ลืมเช็คเอาท์ ชื่อของผู้นั้นจะยังคงอยู่ในร้านค้านั้น ๆ

สำหรับ 10 ประเภทกิจการ ที่ผู้รับบริการประเมินร้านค้า ได้แก่ 1. ร้านอาหาร/เครื่องดื่มฯ 2. ห้างสรรพสินค้าฯ 3. ซูเปอร์มาร์เก็ตฯ 4. การจำหน่ายสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค 5. ร้านขายปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม 6. การให้บริการ 7. ธนาคาร 8. คลินิกเสริมความงาม/ร้านเสริมสวย 9. สินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต และ 10.ร้านขายยา ตามลำดับ

ข้อมูลล่าสุดวันที่ 18 พ.ค. 63 เวลา 06.00 น. มีจำนวนร้านค้าลงทะเบียน 46,744 ร้าน และจำนวนผู้ใช้บริการ 2,725,877 คน ขอบคุณพี่น้องประชาชนคนไทย รวมถึงกิจการทั้งหลายที่ให้ความร่วมมือในการดำเนินชีวิตวิถีใหม่โดยการใช้เทคโนโลยี

----------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ