วันนี้ (18 พ.ค. 63) เวลา 12.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “COVID-19” ณ ทำเนียบรัฐบาล นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน แถลงมาตรการช่วยเหลือด้านเงินแก่ผู้ประกอบการรายย่อย จากโรคระบาดโควิด-19 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เร่งออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ SME เพื่อลดผลกระทบจากภาระหนี้ 2 มาตรการ ได้แก่มาตรการแรก คือ เป็นมาตรการช่วยเหลือโดยตรงแก่ ผู้ประกอบการรายย่อยและลูกหนี้รายย่อย ที่มีภาระหนี้สินบัตรเครดิต สินเชื่อเงินสดหมุนเวียน สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ โดยสถาบันการเงินทั้งธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของรัฐหรือไม่ใช่ธนาคาร (Non Bank) ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งลดดอกเบี้ยลดเงินต้น พักเงินต้นและดอกเบี้ยระยะเวลา 3 - 6 เดือน สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตก็ให้สถาบันการเงินลดขั้นต่ำของหนี้ค้างชำระ ซึ่งแต่เดิมจะต้องจ่ายค้างชำระต้องร้อยละ 10 ลงเหลือเพียงแค่ร้อยละ 5 และขยายเวลาผ่อนเงินคงค้างที่เหลือออกไปเป็น 48 เดือน รวมถึงมีการลดดอกเบี้ยจากร้อยละ 18 เหลือร้อยละ 12 นอกจากนี้ สินเชื่อหมุนเวียน วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี (OD) ขยายระยะเวลาการผ่อน 48 เดือน ลดดอกเบี้ยลงเป็นร้อยละ 22 และมีการพักดอกเบี้ยและเงินต้นอีก 3 เดือนเป็นต้น รวมถึงมีการขยายระยะเวลาผ่อนพักเงินต้นและดอกเบี้ย และลดค่างวดสำหรับสินเชื่ออื่น ๆ ด้วย จากข้อมูลล่าสุดได้มีลูกหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือจากสถาบันการเงินรวมแล้วประมาณ 13 ล้านราย วงเงินทั้งหมดประมาณ 4.6 ล้านล้านบาท โดยเป็นรายย่อยอยู่ที่ประมาณ 13 ล้านราย และจำนวนเงินอยู่ที่ 3.4 ล้านล้านบาท เป็นมาตรการชั่วคราวเฉพาะหักเงินต้นและดอกเบี้ย ระยะเวลาเพียง 3-6 เดือนเท่านั้น ซึ่งธนาคารจะร่วมมือกับสถาบันการเงินเพื่อเข้าไปช่วยเหลือเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้จากนี้ไปที่เกิดขึ้นจากผลกระทบจากโควิด-19
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เริ่มคิดใช้การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่ รวมกับสถาบันการเงินตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยให้ใช้วิธีคำนวณดอกเบี้ยเฉพาะเงินต้นของค่างวดที่ผิดนัดชำระหนี้เท่านั้น โดยไม่ให้นำเงินต้นที่คงเหลือทั้งหมดมาคำนวณ ซึ่งช่วยให้ภาระหนี้ของลูกหนี้ลดลงอย่างมาก ตัวอย่างสินเชื่อบ้าน จำนวน 5 ล้านบาท ผ่อน 20 ปี ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ครั้งเดียว แต่วิธีการคำนวณในแบบเดิมจะคำนวณเงินต้นคงค้างทั้งหมด คือ 4.77 ล้านบาท ซึ่งหมายความว่าลูกหนี้จะต้องเสียดอกเบี้ยถึง 27,443 บาทเป็นดอกเบี้ยปรับ แต่ในวิธีการใหม่ให้คำนวณเฉพาะเงินต้นในงวดที่ค้างชำระเท่านั้น แสดงว่า ลูกหนี้ค้างชำระเพียงแค่ 10,000 บาทในงวดนั้น นำ 10,000 บาทมาคำนวณ ลูกหนี้จะต้องเสียดอกเบี้ยปรับเพียงแค่ 57 บาท เท่านั้น ซึ่งสร้างความเป็นธรรมแก่ลูกหนี้
รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงินกล่าวเพิ่มเติมมาตรการที่สองเสริมสภาพคล่อง คือ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ที่จะช่วยส่งเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมโดยตรง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการเสริมสภาพคล่องให้กับลูกหนี้มีเงินสดหมุนเวียนในการจ่ายเงินเดือนพนักงาน จ่ายเจ้าหนี้การค้า จัดซื้อวัตถุดิบในการเปิดกิจการช่วงเริ่มต้น โดยมีวงเงินถึง 500,000 ล้านบาท โดยจะให้อนุมัติสินเชื่อวงเงินไม่เกินร้อยละ 20 ของวงเงินสินเชื่อคงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 และเป็นสินเชื่อดอกเบี้ยถูกเพียงแค่ร้อยละ 2 เป็นเวลานาน 2 ปี โดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรกและต้องไม่มีค่าธรรมเนียมทุกประเภทรวมถึงขายพ่วงประกัน นอกจากนี้ยังมีมาตรการควบคู่คือ ชะลอการชำระหนี้ เลื่อนการชำระหนี้ไม่ว่าจะเป็นเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน โดยอัตโนมัติ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการผิดชำระหนี้และไม่เสียประวัติในเรื่องของ NCV สำหรับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิยื่นขอรับ Soft loan 4 ลักษณะ ได้แก่ 1) เป็นลูกหนี้ที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย 2) จะต้องไม่เป็นลูกหนี้ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 3) จะต้องไม่เป็นลูกหนี้ npl เมื่อ 31 ธันวาคม 2562 และ 4) จะต้องมีวงเงินกับสถาบันการเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท ดังนั้น หากมีคุณลักษณะดังกล่าวสามารถมายื่นขอ soft loan จากสถาบันการเงินได้ ความคืบหน้าล่าสุด มาตรการส่งเสริมสินเชื่อ soft loan วงเงิน 5 แสนล้านบาท ได้มีสินเชื่ออนุมัติแล้ว 49,308 ล้านบาท จำนวนลูกหนี้ 28,601 ราย อนุมัติสินเชื่อเฉลี่ยจำนวน 1.7 ล้านบาท/ราย แบ่งเป็นธุรกิจขนาดเล็กวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท ประมาณร้อยละ 72.4 และ ธุรกิจขายส่ง ขายปลีก ร้อยละ 49 และมีกระจายตามต่างจังหวัดด้วยทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำชับสถาบันการเงินโดยเฉพาะสถาบันการเงินที่มีโครงสร้างลูกหนี้ SME ขนาดใหญ่ให้เร่งติดต่อลูกค้าเพื่อยื่น SME และการประสานงานกับสมาพันธ์ SME ไทย รวมถึงสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าที่จะเร่งให้สมาชิกของสมาคมทั้งหมดเข้ามายื่นขอ soft loan จากสถาบันการเงิน
ช่วงท้าย รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงินยังกล่าวเชิญชวนให้เข้าไปศึกษามาตรการช่วยเหลือการเงินจากเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศ BOT COVID-19 (www.bot.or.th/covid19 BOT COVID-19) โดยมีข้อมูลสำคัญ ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs มาตรการด้านตลาดตราสารหนี้ ซึ่งประชาชนที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดของมาตรการของสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งจะเชื่อมโยงเข้าไปติดต่อกับสถาบันการเงินโดยตรง สำหรับลูกหนี้ของสถาบันการเงินที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเท่าที่ควร สามารถติดต่อมาที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยสายด่วน 1213 ตามเวลาราชการ รวมถึงเปิดช่องทาง “ทางด่วนแก้หนี้” เพื่อเป็นช่องทางเสริม โดยแสกนคิวอาร์โค๊ด ข้อมูลที่ได้รับผ่านช่องทางนี้จะถูกส่งต่อไปยังผู้ให้บริการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือดูแลลูกหนี้อย่างเร็วต่อไป
………………….
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th