โฆษก ศบค.เผยคนไทยแชมป์ใส่หน้ากาก และล้างมือในอาเซียน ขณะที่วัคซีนที่คนไทยพัฒนาคาดจะได้ใช้ปีหน้า ประสบความสำเร็จขั้นทดสอบในหนู และเตรียมใช้กับลิงในสัปดาห์หน้า

ข่าวทั่วไป Wednesday May 20, 2020 14:22 —สำนักโฆษก

โฆษก ศบค.เผยคนไทยแชมป์ใส่หน้ากาก และล้างมือในอาเซียน ขณะที่วัคซีนที่คนไทยพัฒนาคาดจะได้ใช้ปีหน้า ประสบความสำเร็จขั้นทดสอบในหนู และเตรียมใช้กับลิงในสัปดาห์หน้า

วันนี้ (20 พ.ค.63) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน และมาตรการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ในไทย

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ในประเทศไทย มีผู้ป่วยใหม่ 1 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 3,034 ราย มีผู้ที่หายป่วยเพิ่มขึ้น 37 ราย รวมผู้ที่หายป่วยแล้ว 2,888 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยังคงที่ 56 ราย มีผู้ที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 90 ราย สำหรับผู้ป่วยใหม่ 1 รายอยู่ในโรงแรมที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ ทำให้ตัวเลขของผู้ป่วยกรุงเทพฯ ที่อยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้รวมเป็น 17 ราย ผู้ป่วยรายนี้เป็นเพศชาย อายุ 45 ปี อาชีพเชฟร้านอาหารไทย เดินทางกลับจากประเทศบาห์เรน เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 63 เข้าพักในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ในกรุงเทพฯ ตรวจหาเชื้อวันที่ 18 พฤษภาคม 63 ขณะนี้ไม่มีอาการ

สำหรับสถิติสถานการณ์โรคไวรัสโคโรนา 2019 ในสถานกักกันโรคของรัฐที่ส่วนกลางและส่วนจังหวัดพบว่า มีผู้ที่เดินทางจากประเทศบาห์เรน 238 คน เดิมมีการรายงานผู้ติดเชื้อ 1 ราย วันนี้เพิ่ม 1 ราย รวมเป็น 2 ราย สถิติของผู้ป่วยยืนยันที่เดินทางมาจากประเทศต่าง ๆ อันดับที่ 1 คือ อินโดนีเซีย รองลงมาเป็นปากีสถาน คาซัคสถาน มาเลเซีย ยูเออี ตามลำดับ

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ข้อมูล ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 63 ประเทศไทยตรวจแล้วกว่า 328,073 ตัวอย่าง และจำนวนห้องปฏิบัติการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับรอง ข้อมูล ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 63 มีถึง 167 แห่งทั่วประเทศ โดยไทยมีการตรวจ 4,926 รายต่อ 1 ล้านประชากร มากกว่าเวียดนาม ญี่ปุ่นตรวจ 1,902 รายต่อ 1 ล้านประชากร ขณะที่อิตาลี สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ก็มีจำนวนตรวจที่สูงกว่า โดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการของไทย พบร้อยละ 0.92 หรือประมาณเกือบ 1 คนต่อ 100 คน ขณะที่อิตาลี ตรวจพบร้อยละ 7.63 ซึ่งตัวเลขน้อยจะดีกว่าตัวเลขมาก เพราะแสดงถึงความสามารถในการนำกลุ่มคนที่ไม่มีโอกาสติดเชื้อเข้ามาตรวจได้มากกว่า มีกลุ่มที่ตรวจสอบได้กว้าง และเป็นตัวเลขที่ดีกว่าสิงคโปร์ที่ตรวจพบร้อยละ 11.39 ทั้งนี้ สถิติของห้องปฏิบัติการมีการตรวจสอบเป็นระยะ เพื่อให้อยู่ในมาตรฐานระดับโลกที่น่าเชื่อถือได้ ซึ่งจะต้องตรวจตัวอย่างเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น ประชาชนที่คิดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง สามารถขอรับการตรวจได้

2. สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ของโลก

สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ของโลก พบผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยู่ที่ 4,986,332 ราย เพิ่มขึ้นภายในวันเดียว 95,000 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 4,776 ราย ทำให้ตัวเลขรวมผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 324,910 ราย โดยสหรัฐอเมริกายังมีผู้ป่วยยืนยันสะสมเป็นอันดับที่ 1 ของโลก ขณะที่บราซิลมีการเสียชีวิตมากขึ้น รวมถึงทางราชอาณาจักร (อังกฤษ) ด้วย

ทั้งนี้ 3 ประเทศอันดับแรกที่มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่และผู้ป่วยยืนยันสะสมมากคือ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และสเปน ขณะที่อินเดียก็มีจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมเพิ่มขึ้นถึง 106,475 ราย รองลงมาคือปากีสถาน 40,000 กว่าราย สิงคโปร์ อินโดนีเซียตัวเลขยังอยู่ในอันดับต้น ๆ เช่นกัน ขณะที่สถานการณ์ของกลุ่มเอเชีย/อาเซียนยังพบว่าอินเดียเป็นอันดับที่ 1 โดยประเทศไทยอยู่อันดับที่ 70 ของโลก

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศต่าง ๆ นั้น สหรัฐอเมริกา มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย ขณะที่บราซิลแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่วนรัสเซีย ในส่วนสถานการณ์ผู้ป่วยรายใหม่ของเอเชียก็ยังพบว่าอินเดีย ปากีสถานและบังกลาเทศ ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นเดียว

โฆษก ศบค. รายงานสถานการณ์ข่าวที่น่าสนใจในต่างประเทศและในประเทศไทยว่า วัคซีนของคนไทยที่คาดว่าจะได้ใช้ในปีหน้าโดยคนไทยทำเองนั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นทดสอบในสัตว์คือหนู และเตรียมใช้กับลิงในสัปดาห์หน้า รายงานระบุว่าวัคซีน mRna ทางศูนย์วิจัยวัคซีนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประสบความสำเร็จในหนูทดลอง และกำลังเตรียมทดสอบในลิงสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เผยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้คนไทยและประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกที่มีวัคซีนใช้อย่างเพียงพอ ขอชื่นชมนักวิทยาศาสตร์ไทยสำหรับความคืบหน้าในเรื่องวัคซีนดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ยังมีข่าวระบุว่า คนไทยแชมป์ใส่หน้ากากและล้างมือในอาเซียน โดยบริษัท YouGov จากประเทศอังกฤษเปิดเผยการสำรวจพฤติกรรมการป้องกันโรคโควิด-19 ของประชาชนใน 6 ประเทศ กลุ่มอาเซียน สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซียและประเทศไทย ในกลุ่มตัวอย่างประมาณ 13,000 กว่าราย พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมการใส่หน้ากากอนามัยและการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์สูงสุดในอาเซียน ถึงร้อยละ 95 โดยใส่หน้ากากอนามัยในช่วงเวลารอบ 7 วันที่ผ่านมาและล้างมือถึงร้อยละ 89 ขณะที่ประเทศอื่น ๆ น้อยกว่าไทย

3. ผลการดำเนินงานตามมาตรการ

รายงานข้อมูลสรุปการใช้งาน www.ไทยชนะ.com ยอดสะสมตั้งแต่เริ่มโครงการ มีร้านค้าลงทะเบียน 67,904 ร้าน ผู้ใช้งาน 5,077,0978 คน แบ่งจำนวนการเข้าใช้งานออกเป็น เช็คอิน 8,584,803 ครั้ง เช็คเอ้าท์ 6,359,921 ครั้ง และการประเมินร้านค้า 3,984,691 ครั้ง โดย 10 จังหวัด ผู้ให้บริการที่ลงทะเบียนร้านค้าสูงสุด ได้แก่ 1. กรุงเทพมหานคร 2. ชลบุรี 3. นนทบุรี 4. สมุทรปราการ 5. ปทุมธานี 6. เชียงใหม่ 7. นครราชสีมา 8. ภูเก็ต 9. ขอนแก่น และ 10. สุราษฎร์ธานี ตามลำดับ

ผู้ให้บริการที่ลงทะเบียนร้านค้าสูงสุด 10 ประเภทกิจการ ได้แก่ 1. ร้านอาหาร/เครื่องดื่มฯ 2. ห้างสรรพสินค้าฯ 3. ซูเปอร์มาร์เก็ตฯ 4. ธนาคาร 5. การให้บริการ 6. การจำหน่ายสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค 7. คลินิกเสริมความงาม/ร้านเสริมสวย 8. ร้านขายปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม 9. สินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต และ 10. ร้านขายยา 661 ร้าน ตามลำดับ ขณะที่ร้านสะดวกซื้อในประเทศไทยคาดว่ามีมากกว่า 11,156 ร้าน จึงขอเชิญชวนให้ผู้บริหาร ผู้ประกอบการ ลงทะเบียนเพื่อเป็นระบบป้องกันพี่น้องประชาชนให้มากขึ้น

ผู้รับบริการเข้าใช้บริการสูงสุด 10 ประเภทกิจการ ได้แก่ 1. ห้างสรรพสินค้าฯ 2. ซูเปอร์มาร์เก็ตฯ 3. ร้านอาหาร/เครื่องดื่ม 4. ธนาคาร 5. การจำหน่ายสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค 6. การให้บริการ 7. ร้านขายปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม 8. สินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต 9. ฟิตเนสฯ และ 10. ที่ทำการของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ตามลำดับ

สำหรับ 10 ประเภทกิจการ ที่ผู้รับบริการประเมินร้านค้า ได้แก่ 1. ร้านอาหาร/เครื่องดื่มฯ 2. ห้างสรรพสินค้าฯ 3. ซูเปอร์มาร์เก็ตฯ 4. ธนาคาร 5. การให้บริการ 6. การจำหน่ายสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค 7. ร้านขายปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม 8. คลินิกเสริมความงาม/ร้านเสริมสวย 9. สินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต และ 10.ร้านขายยา ตามลำดับ ขอบพระคุณทุกท่านที่ให้ความร่วมมือ

โฆษก ศบค. เผยจำนวนชุดตรวจตามมาตรการผ่อนคลาย โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ซึ่งมีการวางกำลังชุดตรวจตามมาตรการหลัก แบ่งออกเป็น ชุดตรวจร่วม 90 ชุดตรวจ ชุดตรวจทั่วไป 2,081 ชุดตรวจ และชุดตรวจส่วนกลาง 148 ชุดตรวจ โดยชุดตรวจอื่น ๆ ได้แก่ ชุดตรวจตามมาตรการเสริม จะมี กรุงเทพมหานคร ศูนย์ปฏิบัติการจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ ศูนย์ปฏิบัติการตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบ และชุดตรวจเฉพาะ (ตรวจตามคู่มือ) จะมีกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รับผิดชอบ โดยผลการตรวจ วันที่ 19 พฤษภาคม 63 ได้ทำการตรวจทั้งหมด 17,588 แห่ง ไม่ปฏิบัติ 5 แห่ง ซึ่งหากไม่ปฏิบัติการตามมาตรการจะมีการตักเตือน แนะนำ ตรวจซ้ำ และปิดกิจการ ปฏิบัติไม่ครบ 1,863 แห่ง โดยพบผู้ปฏิบัติไม่ครบ ได้แก่ กองถ่ายร้อยละ 20 สถานออกกำลังกายร้อยละ 16.5 ร้านตัดผมร้อยละ 13.9 ห้องสมุดร้อยละ 12.9 โดยมีเหตุของการปฏิบัติไม่ครบ ได้แก่ การเว้นระยะห่างร้อยละ 45.6 จำนวนผู้ใช้บริการร้อยละ 17.4 การใช้เจลแอลกอฮอล์ร้อยละ 15.2 โฆษก ศบค. แนะนำให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันให้ครบทั้ง 5 ข้อ จะได้ปลดล็อคในระยะที่ 3 – 4 ต่อไป

การปฏิบัติงานตามมาตรการเคอร์ฟิว

โฆษก ศบค. รายงานผลจากการปฏิบัติการจากการประกาศมาตรการเคอร์ฟิวประจำวันที่ 20 พฤษภาคม 63 โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงพบว่า มีผู้กระทำความผิดกรณีชุมนุมมั่วสุม 26 ราย ลดลง 11 ราย ผู้กระทำความผิดกรณีออกนอกเคหสถาน 301 ราย ลดลง 13 ราย โดยเหตุของการชุมนุมมั่วสุม 3 ลำดับแรกคือ ดื่มสุราร้อยละ 85 ลักลอบเล่นการพนันร้อยละ 11 และอื่น ๆ ร้อยละ 4

**********************

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ