โฆษก ศบค. เผยผลวิจัยไวรัสโควิด-19 ของสหรัฐฯ พบไวรัสจะตายเร็วขึ้น เมื่อโดนความร้อนสูง 54 องศาฯ นาน 20 นาที แนะประชาชนนำรถยนต์จอดตากแดดช่วยฆ่าเชื้อโรค

ข่าวทั่วไป Thursday May 21, 2020 15:16 —สำนักโฆษก

โฆษก ศบค. เผยผลวิจัยไวรัสโควิด-19 ของสหรัฐฯ พบไวรัสจะตายเร็วขึ้น เมื่อโดนความร้อนสูง 54 องศาฯ นาน 20 นาที แนะประชาชนนำรถยนต์จอดตากแดดช่วยฆ่าเชื้อโรค

วันนี้ (21 พ.ค.63) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน และมาตรการในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ในไทย

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ในประเทศไทยมีผู้ป่วยใหม่ 3 ราย ผู้ป่วยสะสม 3,037 ราย มีผู้หายป่วยเพิ่มขึ้น 9 ราย รวมผู้ที่หายป่วยแล้ว 2,897 ราย ไม่มีผู้ที่เสียชีวิตเพิ่ม ยังคงที่ 56 ราย มีผู้ที่ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 84 ราย ทั้งนี้ ตั้งแต่ประกาศ พรก. ฉุกเฉิน ประกาศเคอร์ฟิว ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยลดลงมาเรื่อย ๆ ต่อมาเมื่อได้ดำเนินมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 1 ตั้งแต่ 3 พฤษภาคม 63 ตัวเลขผู้ป่วยก็ยังอยู่ในหลักเดียวตลอดสลับกับตัวเลข 0 รายในบางวัน ยกเว้นวันที่ 18 เมษายน 63 ที่มีผู้ป่วยอยู่ในศูนย์กักกันฯ และเมื่อผ่านมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 63 ถึงวันนี้เป็นวันที่ 5 ซึ่งเหลืออีก 9 วัน ดังนั้น สิ่งต่าง ๆ ที่กำลังทำอยู่ตอนนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 7 วันกับ 14 วันที่ผ่านมา หมายความว่าผลของวันนี้ที่มีผู้ป่วยใหม่อยู่ 1-3 คน เกิดขึ้นจากระยะของมาตการผ่อนปรนระยะที่ 1 โดยสิ่งที่กำลังจะทำในวันนี้ จะเกิดขึ้นเป็นผลในอีก 7 ถึง 14 วันข้างหน้า ฉะนั้น การ์ดอย่าตก เราถึงจะได้ไปต่อระยะที่ 3

สำหรับผู้ป่วยใหม่ 3 รายนั้น 2 รายแรกอยู่ในระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ เกิดจากการไปสถานที่ชุมชน ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว หรือสถานพยาบาล โดยรายที่ 1 เป็นชายไทยอายุ 72 ปี มีโรคประจำตัวคือเบาหวาน มะเร็งปอด ไปรักษาที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อ 4 วันที่ผ่านมา มีประวัติไปตัดผมที่ร้านแถวประชาชื่น ต่อมา 18 พฤษภาคม 63 มีอาการไข้ ไอ มีเสมหะ จึงไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง และได้ย้ายมาโรงพยาบาลรัฐเดิมที่รักษาตัวอยู่วันที่ 20 พฤษภาคม 63 แล้วตรวจพบเชื้อ ซึ่งผู้สูงอายุ 72 ปีรายนี้มีโรคประจำตัวที่ต้องไปโรงพยาบาล 1 แห่ง และไปร้านตัดผม 1 แห่ง รวมเป็น 2 แห่งที่เป็นพื้นที่ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงในรายนี้ รายที่สอง เป็นผู้ป่วยชายอายุ 42 ปี สัญชาติเยอรมัน ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีอาการ มีประวัติเดินทางไปเยี่ยมญาติที่จังหวัดชัยภูมิ ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน ถึง 16 พฤษภาคม โดยวันที่ 8 พฤษภาคม 63 มีญาติหนึ่งคนมีอาการไข้ คอแห้ง แต่ไม่ได้ไปตรวจรักษา ถือเป็นปัจจัยที่ 1 จากนั้น ชายคนนี้เดินทางไปห้างสรรพสินค้าในชัยภูมิ เป็นปัจจัยที่ 2 หลังจากกลับมา ได้ไปตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน ผลตรวจยืนยันพบติดเชื้อวันที่ 18 พฤษภาคม 63 ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งรายที่ 2 นี้อยู่กรุงเทพฯ แต่ไปเยี่ยมญาติที่ต่างจังหวัด แล้วไปสัมผัสกับคนมีอาการไข้ และไปห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีความสงสัยว่าที่จังหวัดชัยภูมิอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้ชายคนนี้ติดเชื้อมา ฉะนั้น มาตรการผ่อนคลายทั้งหลายยังมีความจำเป็น การไปห้าง ไปตัดผม ไปทำอะไรก็ตาม เกิดขึ้นในช่วงที่เริ่มมีการใช้แพลตฟอร์มไทยชนะแล้วหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องไปตรวจสอบ หากลงทะเบียนยังไม่ทันก็อาจจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่ถ้าลงทะเบียนแล้ว ประโยชน์ของการใช้ไทยชนะจะตามคนที่เกี่ยวข้องมาตรวจได้ง่าย ไม่ต้องไปจับคนกลุ่มก้อนใหญ่มาตรวจ เช่นเดียวกับการไปร้านตัดผมแถวประชาชื่น ถ้ามีช่วงเวลาต่าง ๆ ที่ทีมสอบสวนโรคสามารถเข้าไปได้ ก็จะได้เห็นการใช้แพลตฟอร์มนี้ในการมาทำงาน

ส่วนผู้ป่วยใหม่รายที่ 3 เดินทางกลับจากต่างประเทศ เป็นผู้หญิงอายุ 25 ปี ไปเรียนภาษาแล้วเดินทางกลับจากประเทศฟิลิปปินส์วันที่ 13 พฤษภาคม 63 เข้าพักที่สถานกักกันที่รัฐจัดให้ ตรวจพบเชื้อวันที่ 19 พฤษภาคม 63 ไม่มีอาการใด ๆ ทั้งนี้ มีผู้ที่เดินทางกลับจากฟิลิปปินส์ 171 คน เพิ่งมีบวกรายนี้ 1 ราย เท่ากับกลุ่มของเนเธอร์แลนด์และอื่น ๆ ที่มีตัวเลข 1 ราย

2. สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ของโลก

สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ของโลก โดยแนวโน้มสถานการณ์จำแนกตามผู้ป่วยรายใหม่ ผู้ป่วยกลับบ้าน และเสียชีวิต พบว่าแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยทั่วโลกยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงแนวโน้มตัวเลขป่วยใหม่ก็เพิ่มขึ้น โดยในส่วนของสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส ก็มียอดที่ทำให้เพิ่มสูงขึ้นอยู่ช่วงหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามตัวเลขผู้ป่วยที่หายแล้วกลับบ้านได้ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน ขณะที่แนวโน้มผู้เสียชีวิตยังทรงตัวอยู่

ทั้งนี้ มีผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมทั่วโลกขณะนี้อยู่ที่ 5,085,504 ราย โดยเพิ่มขึ้นถึง 99,000 ราย แต่ทาง WHO ระบุว่าบางสำนักรายงานตัวเลขขึ้นไปที่ 100,000 รายแล้วภายในวันเดียวซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก ขณะเดียวกันก็มีผู้เสียชีวิตภายในวันเดียวถึง 4,800 ราย ทำให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 329,731 ราย โดยบราซิลเป็นประเทศที่ผู้ป่วยรายใหม่มากเป็นอันดับที่ 1 ของโลก 21,472 ราย แทนสหรัฐอเมริกาที่ลงมาอยู่ในอันดับที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่อยู่ที่ 21,408 ราย ตามด้วยรัสเซียอยู่อันดับที่ 3 ผู้ป่วยรายใหม่ 8,764 ราย ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิตสหรัฐอเมริกายังคงเป็นอันดับที่ 1 ของโลก รองลงมาบราซิล และสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ซึ่งกรณีของตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่อังกฤษที่ติดลบ -525 ราย คือเป็นการรายงานระยะหนึ่งที่เคยบอกว่าบวก (+) และภายหลังจากที่ได้มีการตรวจสอบชัดเจนแล้วพบตัวเลขข้อมูลไม่ใช่ตามนั้น จึงขอลบออกไป ลดลง -525 รายดังกล่าว

ส่วนกรณีเช่นนี้สามารถเกิดที่ประเทศไทยได้หรือไม่นั้น จากการประชุมหารือในกลุ่มศูนย์ปฏิบัติการด้านสาธารณสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวว่า หากให้ยืนยันตามความเป็นจริงถ้าประเทศไทยมีกรณีที่จะต้องดึงตัวเลขออกมาจากบวกที่เคยรายงานไปแต่ในข้อเท็จจริงเป็นลบ จะต้องผ่านกระบวนการ 1) คือ แล็ป (Lab) และ 2) ต้องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการวิชาการในระดับประเทศ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้แต่งตั้ง มีข้อมูลชัดเจนและมีคณะกรรมการรองรับว่าไม่ใช่ จึงจะมีการประกาศตัวเลขที่เป็นลบออกไป และจะมีการรายงานให้ประชาชนรับทราบอย่างแน่นอน เพื่อที่จะให้เกณฑ์เข้ามาสู่ความเป็นจริงมากที่สุด

ด้านสถานการณ์ของอาเซียนและเอเชียพบว่า อินเดียเป็นอันดับที่ 1 และสิงคโปร์ก็ยังอยู่ในอันดับต้น ๆ ขณะที่ไทยก็ยังอยู่ในอันดับที่ 70 ของโลกเช่นเดิม

โฆษก ศบค. กล่าวถึงประเด็นข่าวที่น่าสนใจในต่างประเทศว่า อินเดีย รัฐบาลประกาศว่ายังคงใช้มาตรการล็อคดาวน์ต่อเนื่องครอบคลุมไปถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 โดยมีบางรัฐที่เริ่มอนุญาตให้ตลาด ธุรกิจ ห้างร้าน ร้านทำผม รวมทั้งการขนส่งบางประเภทเปิดให้บริการได้ ขณะที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงภาพยนตร์ และห้างสรรพสินค้า ยังคงปิดบริการ อนุญาตให้แท็กซี่ในกรุงนิวเดลีสามารถวิ่งให้บริการประชาชนได้แต่ต้องรับได้ไม่เกิน 2 คน

สหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยจอร์เจีย เผยผลวิจัยว่าไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) คงทนแค่ไหน ที่เคยมีข้อมูลว่าอาจจะอยู่ได้ 2-3 วัน แต่ไวรัสจะตายเร็วขึ้นถ้าโดนความร้อนสูง และมีชีวิตนานขึ้นถ้าอุณหภูมิต่ำลง ดังนั้น อุณหภูมิในรถยนต์ที่สูงขึ้นจากการจอดตากแดดสามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ ถ้าความร้อนถึงประมาณ 54 องศาเซลเซียสเป็นเวลานาน 20 นาที เชื้อไวรัสประมาณ 99.99% เปอร์เซ็นต์จะตาย และจะใช้เวลาสั้นลงเหลือ 5 นาที แต่ยังสนับสนุนให้ทุกคนใส่หน้ากากอนามัยเมื่อเข้าไปตามชุมชน จึงขอแนะนำให้ประชาชนนำวิธีดังกล่าวไปปรับใช้ โดยควรนำรถไปจอดตากแดดไว้ เพื่อช่วยฆ่าเชื้อโรค ซึ่งเป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้ทุกคนปลอดภัยและปลอดโรคได้

สเปน ออกกฎหมายบังคับใส่หน้ากาก ทั้งภายในและภายนอกสถานที่ โดยสเปนออกกฎหมายบังคับประชาชนทุกคนใส่หน้ากากอนามัยในสถานที่นอกบ้าน ทั้งที่เป็นพื้นที่เปิด และในสถานที่ปิดที่เป็นพื้นที่สาธารณะ เมื่อไม่สามารถเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร โดยกฎหมายนี้ยกเว้นเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี และผู้มีปัญหาสุขภาพที่ไม่สามารถใส่หน้ากากได้

3. การดำเนินการตามมาตรการ

มาตรการนำคนไทยกลับจากต่างประเทศ

วันนี้ เวลา 11.15 น. จะมีคนไทยเดินทางกลับมาจากเวียดนาม (ฮานอย) 15 คน เวลา 17.45 น. จากจีน (กว่างโจว) 87 คน เวลา 17.20 น. จากออสเตรเลีย 295 คน และเวลา 19.25 น. จากอินเดีย (กัลกัตตา) 215 คน สาเหตที่มีผู้เดินทางกลับมาในวันนี้มากเป็นพิเศษเพราะมีบางเที่ยวบินดีเลย์เนื่องจากพายุใต้ฝุ่นอำพัน ในวันพรุ่งนี้ (22 พฤษภาคม 63) เวลา 22.40 น. จะมีผู้เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา (ผ่านเกาหลีใต้) 100 คน เวลา 22.00 น. จากเกาหลีใต้ (โซล) 80 คน เวลา 19.25 น.จากกาตาร์ (โดฮา) 216 คน และเวลา 08.55 น. จากตูนิเซีย (ตูนิส) 4 คน ทุกคนจะเข้าสู่สถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) และนอกเหนือสถานกักกันที่รัฐจัดให้ ตอนนี้มี Alternative State Quarantine หรือ สถานกักกันทางเลือก คือการกักกันตัวที่โรงแรมหรือโรงพยาบาลที่ผู้เดินทางได้เลือก และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง มีการทดลองทำระบบนี้มาสักระยะหนึ่ง ที่ให้โรงพยาบาลเอกชน โรงแรม และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกันดูแล เป็นระบบที่ไว้ใจได้ เนื่องจากเมื่อครบ 14 วันจะมีบุคลากรทางการแพทย์เข้าไปทำการตรวจ และออกใบรับรองแพทย์ให้ ปรากฏว่ามีผู้นิยมใช้บริการในลักษณะนี้เป็นจำนวนมาก และแนวคิดนี้อาจจะต้องได้พัฒนาต่อไป เมื่อหมด พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ที่หากยังมีคนเดินทางเข้าประเทศแต่โรคในต่างประเทศยังคงมีอยู่ ทางภาครัฐอาจจะไม่สามารถดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้

แผนเที่ยวบินนำคนไทยที่ตกค้างกลับไทยในวันที่ 23 พฤษภาคม มี 3 เที่ยวบิน ได้แก่ เยอรมนี (แฟรงก์เฟิร์ต) อินโดนีเซีย (จาการ์ตา) และบังกลาเทศ (ธากา) วันที่ 14 พฤษภาคม 3 เที่ยวบิน ได้แก่ ไทเป สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (อาบูดาบี) และคูเวต วันที่ 25 พฤษภาคม 5 เที่ยวบิน ได้แก่ ศรีลังกา – มัลดีฟส์ (โคลัมโบ – มาเล) เกาหลีใต้ (โซล) และญี่ปุ่น (โตเกียว) 3 เที่ยวบิน วันที่ 26 พฤษภาคม 3 เที่ยวบิน ได้แก่ มาเลเซีย (กัวลาลัมเปอร์) อิตาลี (โรม) และไทเป วันที่ 27 พฤษภาคม 4 เที่ยวบิน ได้แก่ แคนาดา (ผ่านญี่ปุ่น) เนเธอร์แลนด์ (อัมสเตอร์ดัม) อินโดนีเซีย (สุราบายา) และฮ่องกง และวันที่ 28 พฤษภาคม 3 เที่ยวบิน ได้แก่ เวียดนาม (โฮจิมินห์) ออสเตรเลีย (เมลเบิร์น) และสหรัฐอเมริกา (ผ่านเกาหลีใต้)

รายงานผู้เดินทางกลับเข้าประเทศผ่านจุดผ่านแดนทางบก มีผู้เดินทางจากเมียนมา 10 คน มาเลเซีย 236 คน สปป.ลาว 8 คน และ กัมพูชา 2 คน รวม 256 คน โดยตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน – 20 พฤษภาคม 63 มีผู้เดินทางเข้าสะสม 12,913 คน

รายงานข้อมูลสถานการณ์ผู้เดินทางเข้าประเทศที่ต้องกักกันตัวในที่กักกันของรัฐจัดให้ (State Quarantine และ Local Quarantine) ตั้งแต่ 3 เมษายน – 20 พฤษภาคม 63 มีผู้เข้ากักกันสะสม 22,535 ราย ผู้เข้ากักกันปัจจุบัน 9,413 ราย และผู้กลับบ้านสะสม 13,122 ราย

รายงานข้อมูลสรุปการใช้งาน www.ไทยชนะ.com ยอดสะสมตั้งแต่เริ่มโครงการมีร้านค้าลงทะเบียน 73,295 ร้าน ผู้ใช้งาน 6,333,746 คน แบ่งจำนวนการเข้าใช้งานออกเป็น เช็คอิน 11,570,610 ครั้ง เช็คเอ้าท์ 8,652,113 ครั้ง และการประเมินร้านค้า 5,200,209 ครั้ง โดยการประเมินมีการให้คะแนน 5 คะแนนเป็นส่วนใหญ่

รายงานการตรวจกิจการ/กิจกรรมที่ได้รับการผ่อนคลายด้านการดำเนินชีวิต วันที่ 20 พฤษภาคม 63 ได้ทำการตรวจทั้งหมด 21,697 แห่ง พบว่าปฏิบัติไม่ครบ 31 แห่ง โดยเหตุของการปฏิบัติไม่ครบคือ การเว้นระยะห่างร้อยละ 53.2 จำนวนผู้ใช้บริการร้อยละ 16.3 และการใช้สบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ร้อยละ 12

โฆษก ศบค. กล่าวว่า หากพบการกระทำผิด พ.ร.ก.ฯ หรือต้องการร้องเรียนพบผู้ไม่ปฏิบัติตามมาตรการผ่อนคลาย สามารถแจ้งได้ที่เบอร์ 191, 1599 และ 1138 สายด่วนศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง โดยรายงานการร้องเรียนวันที่ 21 พฤษภาคม ทั้งหมด 84 เรื่องเหตุมั่วสุม/การกระทำผิด พ.ร.ก.ฯ พบสาเหตุดื่มสุราร้อยละ 50 อื่น ๆ ร้อยละ 33 และลักลอบเล่นการพนันร้อยละ 17 การร้องเรียนเหตุไม่ปฏิบัติตามมาตรการผ่อนคลาย พบ ร้านอาหารร้อยละ 58 ร้านเสริมสวยร้อยละ 25 ร้านค้าปลีก-ส่งร้อยละ 10 และสนามกีฬาร้อยละ 9

-----------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ