รมว.สธ. เยี่ยมชมบริการทางการแพทย์วิถีใหม่ โรงพยาบาลสมุทรสาคร [กระทรวงสาธารณสุข]

ข่าวทั่วไป Thursday May 21, 2020 14:52 —สำนักโฆษก

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เยี่ยมชมบริการทางการแพทย์วิถีใหม่เขตสุขภาพที่ 5 มอบนโยบายให้โรงพยาบาลในสังกัดปรับระบบ ลดการมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น ลดความเสี่ยงการรับเชื้อ

วันนี้ (21 พฤษภาคม 2563) ที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร เยี่ยมชมการจัดบริการทางการแพทย์รูปแบบวิถีใหม่ (New Normal Medical Service) ของเขตสุขภาพที่ 5 ที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร พร้อมรับมอบห้องตรวจปลอดเชื้อ และคลินิกเคลื่อนที่สำหรับตรวจผู้ป่วยในชุมชน จากคุณปิยพรรณ หันนาคินทร์ ผู้แทนกรรมการผู้จัดการบริษัท OEG กรรมการมูลนิธินักศึกษาเก่าวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานกลุ่มวิศวกรรมรวมใจต้านภัยโควิด-19

นายอนุทินกล่าวว่า ผลจากการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้การบริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ต้องปรับเป็นแบบวิถีใหม่ (New Normal Medical Service) ทั้งการปรับโครงสร้างพื้นฐาน จัดพื้นที่บริการ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อลดความเสี่ยงการรับเชื้อ เช่นที่ โรงพยาบาลสมุทรสาคร ได้ปรับบริการทางการแพทย์แบบวิถีใหม่ เน้นความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากร (2P Safety) ด้วยการลดจำนวนผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล มีการแบ่งประเภทผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาเหมาะสมเฉพาะบุคคลตามความจำเป็นเร่งด่วน โดยกลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ ใช้การจัดส่งยาทางไปรษณีย์ กลุ่มที่ปัญหาเล็กน้อย ใช้การปรึกษาแพทย์ผ่าน Tele -medicine

ส่วนผู้ป่วยที่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาลได้จัดระบบคัดกรอง แยกผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจออกจากระบบอื่นๆ โดยมีคลินิกไข้หวัดรองรับ ส่วนผู้ป่วยฉุกเฉิน ได้จัดแบ่งพื้นที่ให้บริการ หากจำเป็นต้องนอนพักในโรงพยาบาล ได้จัดเตรียมหอผู้ป่วยโรคต่างๆไม่ปะปนกัน โดยแยกผู้ป่วยโรคปอดบวมออกจากผู้ป่วยระบบอื่น ที่สำคัญคือ การนำนวตกรรมมาใช้เพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อ เช่น ห้องหัตถการความดันลบ ตู้จ่ายยาอัตโนมัติ หุ่นยนต์กระจกพระราชทาน หุ่นยนต์ส่งยา ส่งอาหาร กล้อง CCTVสังเกตอาการผู้ป่วย เป็นต้น

นอกจากนี้ โรงพยาบาลสมุทรสาคร ได้เตรียมความพร้อมการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด 19 จัดตั้งคลินิกไข้หวัด จัดระบบให้คำปรึกษาผ่าน Application รวมทั้งการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังและควบคุมป้องกันโรคเข้มแข็งอย่างมีส่วนร่วม ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนไทย-ต่างด้าว สถานประกอบการ เรือนจำ คลินิกแพทย์-พยาบาล ร้านขายยา ฯลฯ การเพิ่มเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ในแรงงานต่างด้าว ครอบคลุมทุกพื้นที่ และสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้ประชาชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ