วันนี้ (22 พ.ค.63) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน มาตรการในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และผลการประชุม ศบค. ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. เป็นประธานการประชุม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทย ผู้ป่วยรายใหม่เป็น 0 ราย ผู้ป่วยสะสม 3,037 ราย มีผู้หายป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 2,910 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยังคงที่ 56 ราย ผู้ที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลลดลงเหลือ 71 ราย แต่ในตัวเลขผู้ป่วยใหม่ 0 รายวันนี้ไม่ได้เป็น 0 แบบเต็มที่ เพราะเมื่อคืนนี้ State Quarantine แห่งหนึ่งยังมีผลตรวจที่ต้องรออย่างเป็นทางการ โดยจะมีการยืนยันผลการตรวจช่วงเช้าวันนี้ จึงทำให้ตัวเลข 0 รายจะต้องวงเล็บไว้ 2 ราย คือมีรายที่กลับมาจากอียิปต์และอินเดีย ซึ่งอยู่ในกระบวนการของการรายงาน อย่างไรก็ตาม ต้องชื่นชมกับตัวเลข 0 รายที่ไม่มีการรายงานผู้ป่วยในพื้นที่ประเทศไทย ทั้งนี้ ได้มีการทบทวนข้อมูลในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 8-21 พฤษภาคม 63 พบว่า มีการรายงานผู้ป่วยใหม่ 45 ราย จำแนกเป็นผู้ป่วยกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ ผู้ป่วยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ เข้า State Quarantine 15 ราย กับผู้ป่วยที่อยู่ในศูนย์กักกัน ผู้ต้องกัก อีก 5 ราย รวมเป็น 20 ราย ส่วนที่เหลือ 25 ราย แบ่งเป็นผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายก่อนหน้า 11 ราย การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชน 6 ราย ผู้ป่วยที่ไปอยู่ในที่ชุมชน และอื่น ๆ 5 ราย อาชีพเสี่ยง พนักงานขายของ 3 ราย โดย 25 รายนี้น่ากังวลใจ เพราะเป็นผู้ที่เดินไปเดินมาอยู่ในพื้นที่ชีวิตประจำวันทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ที่ยังมีผู้ติดเชื้ออยู่ด้วย “เบาใจได้ แต่วางใจไม่ได้”
ด้านระยะของการระบาดโควิด-19 จำแนกตามปัจจัยเสี่ยงและตามวันที่รับรายงานของประเทศไทย ที่มีคำถามบ่อย ๆ ว่าทำไมจึงต้องมีการเก็บข้อมูลเป็นเวลายาวนานถึง 60 วัน นั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับชุดข้อมูลด้านสาธารณสุข โดยตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 63 ถึง 20 พฤษภาคม 63 พบว่า ในช่วงแรกที่มีการแพร่ของโรคต่ำในวงจำกัด จาก 0 แล้วค่อย ๆ สูงขึ้น จากนั้น เริ่มมีรายงานการติดเชื้อที่สนามมวยวันที่ 11 มีนาคม 63 แล้วเริ่มสูงสุดช่วงสัปดาห์ที่ 3 และ 4 ของเดือนมีนาคม 63 ที่มีตัวเลขการรายงานผู้ป่วยต่อวันเป็นร้อยคน จากนั้น เข้าสู่เดือนเมษายน ตัวเลขก็ยังสูงอยู่ จนกระทั่งมีการประกาศ พรก. ฉุกเฉิน และประกาศเคอร์ฟิวตามมา ทำให้คุมสถานการณ์ได้ระดับหนึ่ง โดยกฎหมายมีความสำคัญระดับหนึ่ง แต่ความสำคัญที่สุดที่เป็นข้อสรุปในกลุ่มนักวิชาการและคณะกรรมการต่าง ๆ คือความร่วมมือของพี่น้องประชาชนที่มีความสำคัญสูงสุด กฎหมายคือสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญคือใจของทุกคนที่ทำให้สามารถควบคุมโรคได้ ทำให้ยอดผู้ป่วยสูงสุดช่วงเดือนเมษายน ปรับลดลง ควบคุมได้ พบผู้ป่วยประปราย ซึ่งเป็นความร่วมมือร่วมใจของทุกคน จนกระทั่งเข้าสู่เดือนพฤษภาคม ที่คุมได้เต็มที่ ยอดผู้ป่วยใหม่เป็นหลักหน่วย บางครั้งเป็นตัวเลข 0
โฆษก ศบค. กล่าวว่า ระยะเวลาที่มีความสำคัญคือประมาณ 2 เดือน ถ้ามีการติดเชื้อรายที่ 1 ที่ไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่เมื่อคนที่ 2 ติดเชื้อแล้วมีอาการไข้ สมมติคนที่ 1 อายุน้อย คนที่ 2 มีอายุมาก ติดเชื้อจากคนที่ 1 จะต้องย้อนกลับไปถามว่าคนที่ 1 คือใคร ซึ่งต้องใช้เวลา 14 วันหรือมากกว่านั้นจึงจะทราบว่าคนที่ 1 เป็นใคร แต่ถ้าคนที่ 1 อายุน้อย คนที่ 2 อายุน้อย ไปเจอคนที่ 3 อายุมาก แล้วคนที่ 3 มีอาการ ก็จะต้องไล่ย้อนประวัติว่าไปสัมผัสกับใคร โดยต้องเป็น 3 ช่วง ซึ่งจากการรายงานพบว่ามีถึง 4 ช่วงที่มีอาการ ดังนั้น การเก็บข้อมูลเป็นเวลายาวนานถึง 60 วัน จึงมีที่มาในเชิงวิชาการทั้งสิ้น ยืนยันว่าไม่อยากให้ต้องใช้มูลปริมาณมาก แต่ใช้อย่างพอเหมาะเพื่อให้สามารถติดตามเคสต่าง ๆ ได้
สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ของโลก พบผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยู่ที่ 5,194,210 ราย เสียชีวิตไป 334,000 กว่าราย โดยสหรัฐอเมริกา ยังเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 ของโลก รองลงมาคือรัสเซีย และบราซิล รวมทั้งประเทศที่มีผู้เสียชีวิตรายใหม่อันดับที่ 1 ก็ยังเป็นสหรัฐอเมริกา 1,360 ราย ตามด้วยบราซิล 1,188 ราย และรัสเซีย ตามลำดับ ทั้งนี้ ยังมีความกังวลใจเกี่ยวกับประเทศทางฝั่งเม็กซิโก อินเดีย และปากีสถานอยู่ ในส่วนสถานการณ์โควิด-19 ของอาเซียนและเอเชียพบว่า สิงคโปร์ยังนำขึ้นสูงอยู่ รวมถึงบังกลาเทศ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ก็ยังสูงเช่นกัน ขณะที่เกาหลีใต้ รายใหม่ก็เพิ่มขึ้นมาเพียง 20 รายเท่านั้น
ทั้งนี้ โฆษก ศบค. ให้ข้อสังเกตกรณีสถานการณ์ของประเทศสวีเดนซึ่งอยู่ในอันดับที่ 24 ว่า สวีเดนใช้วิธีการไม่ล็อคดาวน์ และมีอิสระเสรีทั้งหลายได้ ซึ่งขณะนี้พบว่ามีผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยู่ที่ 32,000 กว่ารายแล้ว และเสียชีวิตไปถึง 3,871 ราย โดยเสียชีวิตเพิ่มเมื่อวานนี้ 40 ราย ภาพสะท้อนดังกล่าวเป็นวิธีการที่แต่ละประเทศเลือกใช้ และชุดข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบเรียนรู้ว่าวิถีของการเลือกในการที่จะดำเนินมาตรการของแต่ละประเทศแตกต่างกัน แต่ก็ต้องยอมรับในเรื่องของการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น หลายประเทศก็เลือกในสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นดังที่ปรากฏดังกล่าว ส่วนอันดับของกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียพบว่าอันดับที่ 1 คืออินเดีย ขณะที่ประเทศไทยลงมาจากอันดับที่ 70 ไปอยู่ในอันดับ 73 ของโลกแล้ว
สถานการณ์โควิด-19 ของโลกจำแนกตามผู้ป่วยรายใหม่ ผู้ป่วยกลับบ้าน และเสียชีวิตประเมินเปรียบเทียบกับของประเทศไทยพบว่า สถานการณ์ของประเทศไทยจากเส้นกราฟที่ขึ้นไปขณะนี้ได้ลดลงมาแล้ว ส่วนสถานการณ์ของโลกเส้นกราฟยังมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยทิศทางของผู้ป่วยรายใหม่ ผู้ป่วยกลับบ้าน และเสียชีวิต ยังชันขึ้น ทั้งนี้ ย้ำว่าข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญและจำเป็นซึ่งผู้บริหาร ศบค. ได้รับทราบเพื่อนำมาพิจารณาในการตัดสินใจอย่างรอบด้านก่อนมีมาตรการต่าง ๆ ออกมา
โฆษก ศบค. กล่าวถึงประเด็นข่าวที่น่าสนใจในต่างประเทศว่า เกาหลีใต้ระบุว่าป่วนเปิดเรียนวันแรกพบติดเชื้อโควิด-19 ปิดอีกรอบ โดยมีโรงเรียนมัธยม 75 แห่งในเกาหลีใต้ต้องรุดส่งเด็กกลับบ้านไม่กี่ชั่วโมงหลังเพิ่งกลับมาเปิดการเรียนการสอนวันพุธที่ 20 พฤษภาคม 2563 หลังพบนักเรียน 2 คนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นักเรียนบางส่วนถูกส่งตัวกลับบ้านทันทีที่เพิ่งเดินผ่านประตูรั้วเข้าไปในโรงเรียนเป็นครั้งแรกในรอบปี หลังจากนั้นนักเรียน 2 คนของโรงเรียนระดับมัธยมเมืองอินชอนมีผลตรวจโควิด-19 ออกมาเป็นบวกในเช้าวันพุธ
โฆษก ศบค. ได้กล่าวรายงานสาระสำคัญการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ชุดใหญ่ ที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชม โดยได้กล่าวถึงกรณีที่ทั่วโลกได้ชื่นชมประเทศไทยที่ได้มีการป้องกันควบคุมโรค โดยการให้ความรู้กับประชาชนจนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดโรคได้ในระดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งเอกอัครราชทูตรัฐคูเวตประจำประเทศไทยได้กล่าวชื่นชมการทำงานและการจัดการกับโรคติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยว่า ประเทศไทยมีการดูแลแรงงานไทยที่อยู่ในต่างประเทศอย่างดี จึงอยากให้มีการเชื่อมการทำงานในทุกระดับ ให้ผลงานที่ดีของไทยได้ขยายกว้างออกไป จึงต้องการให้มีการร่วมมือกันในหลายๆ ด้าน ทั้งในการพัฒนาประเทศ แรงงาน การลงทุน เศรษฐกิจต่าง ๆ และได้กล่าวถึงการผลิตวัคซีนของไทยที่มีความสำเร็จในระดับสัตว์ทดลอง แต่ยังต้องมีอีกหลายขั้นตอนที่จะต้องใช้เวลาเป็นปี โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้รายงานว่า ผู้ที่พัฒนาวัคซีนทั้งหมด 6 เทคโนโลยี โดยผู้ทำงานล้วนแล้วแต่เป็นระดับแนวหน้าของไทย บางท่านเป็นนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก ซึ่งอยู่ในทิศทางเดียวกับการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของโลก โดยระยะเวลาในการผลิตวัคซีนจะต้องใช้เวลารอคอยอย่างน้อย 1 ปี มีการร่วมมือกับหลายประเทศทั่วโลกในการพัฒนาวัคซีน ในด้านกระบวนการทดสอบวัคซีนในคน การพัฒนาวัคซีน การรับถ่ายทอดเทคโนโลยี และการซื้อวัคซีนล่วงหน้า ทางภาครัฐของไทยได้มีการสนับสนุนเจรจาในระดับรัฐบาลเพื่อให้เชื่อมโยงกับต่างประเทศ จะต้องมีการสนับสนุน ทั้งในเรื่องงบประมาณ การสนับสนุนการขับเคลื่อนระดับชาติ เพื่อให้ผู้ที่มีความสามารถมาทำงานด้านนี้
โฆษก ศบค. เผยจำนวนชุดตรวจตามมาตรการผ่อนคลาย โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ซึ่งมีการวางกำลังชุดชุดตรวจตามมาตรการหลัก แบ่งออกเป็น ชุดตรวจร่วม 90 ชุดตรวจ ชุดตรวจทั่วไป 1,992 ชุดตรวจ และชุดตรวจส่วนกลาง 148 ชุดตรวจ โดยชุดตรวจอื่น ๆ ได้แก่ชุดตรวจตามมาตรการเสริม จะมีกรุงเทพมหานคร ศูนย์ปฏิบัติการจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ ศูนย์ปฏิบัติการตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบ และชุดตรวจเฉพาะ (ตรวจตามคู่มือ) จะมีกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้รับผิดชอบ โดยผลการตรวจ ตั้งแต่วันที่ 3 – 21 พฤษภาคม ได้ทำการตรวจทั้งหมด 353,495 แห่ง ปฏิบัติครบ 304,946 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 86.3 ปฏิบัติไม่ครบ 43,415 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 12.3 ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ 5,134 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 1.5
โฆษก ศบค. กล่าวว่า พลเอก สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้รายงานเรื่องเพื่อพิจารณา เรื่องการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ด้วยเหตุผล 3 ข้อ โดย ผอ.ศบค. ได้เน้นย้ำขยายเพื่อความมั่นคงด้านสาธารณสุข คือ 1. ยังคงมีความจำเป็นและต้องมีการบังคับใช้ พ.ร.ก. โดยการป้องกันการแพร่ระบาดในราชอาณาจักรของโรคโควิด-19 จะต้องสามารถดำเนินการต่อไปให้ได้อย่างมีเอกภาพ รวดเร็ว มีความต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานกลางในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวโยงกับทางด้านสาธารณสุขการควบคุมโรค ไม่ใช่แค่นำ พ.ร.บ.โรคติดต่อมาใช้แล้วได้ผล ซึ่งไม่เพียงพอ ยังต้องมีการประกอบกฎหมาย 40 กว่าฉบับ มาอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถึงจะปฏิบัติตรงนี้ได้ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ การเคลื่อนย้าย การใช้ยานพาหนะ อากาศยาน การตรวจคนเข้าเมือง และอื่น ๆ อีกมากมาย 2. การเตรียมรองรับในระยะต่อไป ประเทศไทยอยู่ระหว่างการกำหนดมาตรการผ่อนคลายในระยะที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นกิจกรรมและกิจการที่มีความเสี่ยงสูง จึงจำเป็นต้องมีมาตรการตามกฎหมาย เพื่อกำกับการบริการจัดการ เพื่อบริหารจัดการมาตรการผ่อนคลายให้เป็นระบบในเวลาที่เหมาะสม 3. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคยังคงไม่สิ้นสุด โดยมีข้อมูลว่า หลายประเทศยังคงมีการระบาดและมีจำนวนผู้ที่ติดเชื้อในระดับที่สูง และเมื่อประเทศไทยได้จัดทำมาตรการครบทั้ง 4 ระยะแล้ว จำเป็นจะต้องมีระยะเวลาเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ อาทิ มาตรการด้านกฎหมาย แผนปฏิบัติการในการบริหารวิกฤตการณ์เพื่อรองรับกับความเสี่ยงที่อาจจะมีการกลับมาแพร่ระบาดของโรค
โฆษก ศบค. กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค. เห็นชอบให้มีการเสนอข้อเสนอนี้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขยายต่อ พรก.ฉุกเฉิน จากวันที่ 1 ถึง 30 มิถุนายนนี้ ขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 ของการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่จะหมดสิ้นเดือนนี้ ถ้าให้ยกเลิก พ.ร.ก.จะเกิดอะไรขึ้น ขณะนี้มีความมั่นใจในทุก ๆ เรื่องถึงแม้มี พ.ร.ก. ไม่ได้หมายความว่าเป็นที่สุด แต่ก็เป็นเครื่องมือที่ทำให้ทุกคนมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และมีความเข้าใจว่าเป็นการทำเพื่อคนทุกคนและเพื่อประเทศไทย จึงประสบความสำเร็จถึงวันนี้
โฆษก ศบค. กล่าวว่า การจัดทำมาตรการผ่อนคลายในระยะที่ 3 แบ่งออกเป็น 5 ช่วง ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 วันที่ 23-24 พฤษภาคม การจัดเตรียมข้อมูลเพื่อประชุมคณะทำงานกลั่นกรองกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้ ในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขั้นตอนที่ 2 วันที่ 25-26 พ.ค. ประชุมคณะทำงานกลั่นกรองกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อฯ ขั้นตอนที่ 3 วันที่ 27 พ.ค. ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อฯ ขั้นตอนที่ 4 ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อฯ ขั้นตอนที่ 5 มาตรการผ่อนคลายในระยะที่ 3 มีผลบังคับใช้ต่อไป
----------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th