องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโกได้จัดการประชุมทางไกลสมัยพิเศษ ครั้งที่ 6 ของคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก (The Sixth Special Session of the Executive Board) ระหว่างวันที่ 8 – 9 มิถุนายน 2563 มีประเทศสมาชิกคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก จำนวน 58 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย เข้าร่วมการประชุม
โดย นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ เป็นผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการประชุมทางไกลดังกล่าว
การประชุมมีวัตถุประสงค์ เพื่อหารือวาระสำคัญเกี่ยวกับผลกระทบและการดำเนินงานและกิจกรรมของยูเนสโก ในช่วงการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด–19 รวมถึงความเป็นไปได้ในการจัดการประชุมคณะกรรมการบริหารของยูเนสโก ครั้งที่ 209 (209th Session of the Executive Board) ซึ่งเลื่อนกำหนดการจากเดือนเมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19
การประชุมเริ่มต้นโดยประธานคณะกรรมการบริหารของยูเนสโก (Mr Agapito Mba Mokuy) และผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก (Madame Audrey Azoulay) กล่าวถึงการทำงานของยูเนสโกในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ที่ต้องปรับวิธีการทำงาน ให้สามารถประสานความร่วมมือกับสาธารณะได้ การแพร่ระบาดโรคโควิด–19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานทุกสาขา
โดยเฉพาะด้านการศึกษาพบว่าโรงเรียนกว่าร้อยละ 95 ต้องปิดชั่วคราว จึงต้องพิจารณาเกี่ยวกับการเปิดโรงเรียนอีกครั้ง การปรับเปลี่ยนตารางเรียน ช่องทางการเรียนออนไลน์และการเข้าถึงการศึกษาเมื่อโรงเรียนเปิด เนื่องจากมีกลุ่มผู้เรียนที่ไม่ได้มีความพร้อมในการเข้าถึงเทคโนโลยี และวิธีการเรียนแบบทางไกล ทำให้การนำเทคโนโลยีการสื่อสารและบทบาทด้านดิจิทัลถูกนำมาใช้มากขึ้น
การให้ความสำคัญกับการผสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ในเรื่องจริยธรรม เพื่อให้เกิดมุมมองทางสังคมในบริบทของวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ในขณะนี้ การพัฒนากลุ่มประเทศแอฟริกาและความเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย ยังคงเป็นสาระสำคัญตามแผนงานของยูเนสโก เนื่องจากยังเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง
การส่งเสริมวิทยาการแบบเปิด (Open Science) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในสภาวะการระบาดของไวรัส ด้านวัฒนธรรมก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก แหล่งความรู้ทั้งพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุดต้องปิดบริการ เสรีภาพของนักข่าวในการนำเสนอข้อมูลในช่วงเวลานี้ก็ยังเป็นประเด็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการประชุมและกิจกรรมต่าง ๆ ถูกเลื่อนกำหนดการออกไป หรือปรับเลี่ยนเป็นช่องทางอื่น แต่สถานการณ์ดังกล่าวก็เอื้อให้เกิดเวที (Platform) ความร่วมมือในรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะช่องทางการออนไลน์ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะคิดทบทวนถึงความร่วมมือที่จะเผชิญปัญหาท้าทายร่วมกัน ทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันและโลกอนาคตภายหลังโควิด–19
ช่วงแรกของการประชุมในวันที่ 8 มิถุนายน 2563 เป็นการกล่าวถ้อยแถลงของประเทศสมาชิกเกี่ยวกับการรับมือและแนวทางการดำเนินงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด–19 โดย นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนไทยในการประชุม ได้กล่าวขอบคุณประธานและฝ่ายเลขานุการ รวมถึงผู้ประสานงาน (เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรโมร็อกโก และสมาพันธรัฐสวิสประจำองค์การยูเนสโก) ที่ประสานและจัดเตรียมให้การประชุมนี้เกิดขึ้น ในส่วนของสถานการณ์ประเทศไทยนั้น มีมาตรการด้านสาธารณสุขที่ดีและทันท่วงที จึงทำให้ควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด และลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้
การแพร่ระบาดโควิด-19 มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต เกิดเป็นวิถีชีวิตแบบใหม่ หรือ New Normal ยูเนสโกและประเทศสมาชิกจึงควรใช้ช่วงโอกาสนี้ปรับเปลี่ยนการทำงานให้มีความเป็นหนึ่งเดียว โดยประสานความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งทั้งในระดับพหุภาคีและหุ้นส่วนต่าง ๆ ซึ่งยูเนสโกก็สามารถปรับเปลี่ยนการทำงานได้ดี โดยใช้รูปแบบการออนไลน์ เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานตามเป้าหมายวาระการพัฒนาปี 2030
ทั้งนี้ ได้มีข้อเสนอแนะต่อยูเนสโกในเรื่องการประสานงานและการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ระหว่างฝ่ายเลขานุการและคณะทำงานของคณะกรรมการบริหารฯ เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้รับข่าวสาร และสามารถตอบสนองการดำเนินงานได้ตามวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะความช่วยเหลือแก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบด้านงบประมาณสนับสนุนโครงการ/กิจกรรมของยูเนสโก
นอกจากนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โครงการ/กิจกรรมมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายวาระการพัฒนาปี 2030 ดังนั้น ยูเนสโกจึงต้องพิจารณาให้เกิดความมั่นใจว่า งบประมาณได้นำไปสนับสนุนกิจกรรม/โครงการอย่างแท้จริง และบรรลุตามวัตถุประสงค์
ในส่วนของถ้อยแถลงประเทศอื่น ๆ นั้น ต่างมีความห่วงกังวลต่อสถานการณ์โรคโควิด–19 ที่ทำให้เกิดความยากลำบากทั้งด้านสังคม สุขภาพ และเศรษฐกิจ ยูเนสโกจึงต้องมีบทบาทในการประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะระหว่างหน่วยงานสหประชาชาติด้วยกัน และต้องคำนึงถึงกลุ่มเปราะบางเช่น เด็กหญิง คนพิการ ผู้อพยพ ผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร เป็นต้น ควรคำนึงถึงประเด็นปัญหาท้าทายต่าง ๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงการศึกษา เนื่องจากยังมีแด็กกว่าร้อยละ 40 เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต การเหยียดเชื้อชาติ เพศ แนวคิดพื้นฐานเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการก่อตั้งองค์การยูเนสโก การส่งเสริมเรื่องประชาธิปไตย
นอกจากนี้ บางประเทศประสงค์จะใช้โอกาสในวิกฤตครั้งนี้ สร้างจุดร่วมทางการเมืองที่เข้มแข็งและชัดเจน เพื่อให้เกิดความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกัน ความร่วมมือร่วมใจ (Solidarity) โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญ และความรับผิดชอบที่จะพัฒนาให้สังคมมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ด้านวาระเกี่ยวกับสภาวะการระบาดของโรคโควิด -19 ณ สำนักงานใหญ่ และผลกระทบต่อการจัดการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 209 นั้น ประเทศสมาชิกเห็นว่า แต่ละประเทศมีความยากลำบากในบริบทที่แตกต่างกันไป จึงต้องร่วมกันพิจารณาทั้งในเรื่องสถานที่ การอยู่รวมกันโดยมีระยะห่าง มาตรการการเดินทางต่างประเทศ ซึ่งหลายประเทศยังไม่เอื้อหรืออนุญาต ยูเนสโกและฝ่ายเลขานุการจึงต้องมีข้อคิดเห็นและแสดงออกถึงการเตรียมความพร้อม ซึ่งจะได้มีการหารือและอภิปรายกันในวันต่อไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th