“ไทยชนะ” เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ให้บางกิจการสร้างคิวอาร์โค้ดหน่วยย่อยได้ [กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม]

ข่าวทั่วไป Thursday June 11, 2020 13:45 —สำนักโฆษก

“ไทยชนะ” เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ให้บางกิจการสร้างคิวอาร์โค้ดหน่วยย่อยได้

“ไทยชนะ” พัฒนาระบบเพิ่มเติมอำนวยความสะดวกสหกรณ์/อู่รถแท็กซี่ และร้านค้า/กิจการเจ้าของเดียวกันที่มีร้านย่อยๆ อยู่ในพื้นที่เดียวกัน สามารถใช้เบอร์โทรศัพท์เดียวลงทะเบียนรับคิวอาร์โค้ดหลัก และเข้าไปสร้าง QR หน่วยย่อย ล่าสุดยอดเช็คอิน/เช็คเอาท์ทะลุ 100 ล้านครั้งแล้ว

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ล่าสุดแพลตฟอร์มไทยชนะ ได้พัฒนาระบบเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกให้ร้านค้า/ผู้ประกอบการ เนื่องจากบางกิจการ/ร้านค้ามีเจ้าของคนเดียวกัน แต่ร้านค้าย่อยมากกว่า 1 แห่งอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกัน ให้สามารถลงทะเบียนผ่านหมายเลขโทรศัพท์หลักเพื่อขอรับ QR Code ของกิจการ จากนั้นสามารถเข้าไปสร้าง QR หน่วยย่อยให้กับร้านค้าในเครือข่ายได้

ผศ.(พิเศษ) นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะรองหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และสื่อสังคมออนไลน์ ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) กล่าวยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน เช่น ร้านเสื้อผ้า/ร้านค้าตามห้างสรรพสินค้า หรือพลาซ่า, สหกรณ์แท็กซี่ หรืออู่แท็กซี่ อู่รถบริการ หรืออู่รถโรงเรียน ซึ่งมีเจ้าของคนเดียว แต่มีรถหลายคัน ซึ่งถ้าใช้หลักเกณฑ์เดิมคือ 1 หมายเลขโทรศัพท์ต่อ 1 QR Code ก็จะต้องทำการลงทะเบียนหลายครั้งเพื่อขอ QR ของแต่ละร้าน หรือสำหรับแท็กซี่แต่ละคันในสังกัด

ขณะที่ ระบบเพิ่มเติมเข้ามา จะช่วยให้เจ้าของกิจการสามารถออก QR Code แบบพ่วงบริการคิวอาร์ลูกได้ และระยะต่อไปจะขยายไปถึงบริการรถสาธารณะต่างๆ เช่น รถไฟ รถไฟฟ้า

“ตัวอย่างการลงทะเบียน เช่น สหกรณ์แท็กซี่/อู่รถแท็กซี่ หลังจากเจ้าของอู่ลงทะเบียนและได้รับ QR Code หลักแล้ว ให้เข้าไปที่ปุ่มแก้ไขข้อมูล เพื่อเข้าไปสร้าง QR หน่วยย่อย โดยกรอกข้อมูลทะเบียนรถแต่ละคันของ จากนั้นรอรับเอสเอ็มเอส OTP ยืนยัน เมื่อระบบแจ้งกลับว่าได้ทำการแก้ไขข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ก็จะเห็นคิวอาร์โค้ดลูก ที่จะระบุเลขทะเบียนรถต่อท้าย” นพ.พลวรรธน์กล่าว

ดังนั้น เมื่อผู้ใช้บริการสแกนคิวอาร์รถแท็กซี่คันนั้นๆ เมื่อมีกรณีกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ ก็จะสามารถติดต่อได้ง่าย เพราะรู้ว่ารถคันนั้นๆ เป็นของอู่/สหกรณ์แท็กซี่ใด ขณะที่ ทางเจ้าของกิจการ ก็ไม่ต้องลำบากไปหาเบอร์โทรศัพท์ของหลายๆ คนเพื่อมาลงทะเบียน อย่างไรก็ตาม ประเภทกิจการร้านค้าที่มีสาขาทั่วประเทศ จะไม่ได้อยู่ในกลุ่มนี้ โดยยังต้องไปลงทะเบียนตามรูปแบบเดิมต่อไป เพราะระบบที่เพิ่มเติมขึ้นมานี้ เน้นที่กิจการซึ่งมีหน่วยย่อยๆ ในพื้นที่เดียวกันเป็นหลัก

นอกจากนี้ ล่าสุดร้านค้าเล็กๆ ตามสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ สนามบิน รวมถึงริมถนนสายต่างๆ ก็จะมีการติดตั้งจุดสแกน QR Code เพื่อรองรับการควบคุมโรค และป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 จากการที่ประชาชนเริ่มมีการเดินทางกันมากขึ้นหลังจากการผ่อนคลายระยะที่ 3 และเตรียมเข้าสู่การผ่อนคลายระยะที่ 4 โดยจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้คนไทยช่วยกันให้ใส่ใจต่อสังคม จนกว่าจะผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19

นพ.พลวรรธน์ กล่าวเสริมว่า ภาพรวมการใช้งานล่าสุด มีจำนวนกิจการ/กิจกรรมเข้าลงทะเบียนแล้ว 173,644 ร้านค้า ยอดรวมผู้ใช้งานล่าสุด ณ เวลา 21.00 น.ของวันที่ 9 มิ.ย. 63 มีจำนวน 24,470,225 คน และปัจจุบันมียอดการเช็คอิน/เช็คเอาท์ผ่านไทยชนะ ทะลุ 100 ล้านครั้งแล้ว ขณะที่ ยอดดาวน์โหลดแอปไทยชนะผ่าน Play Store อยู่ที่ 237,738 ครั้ง ส่วนแอปไทยชนะ เวอร์ชั่นสำหรับ iOS บน App Store ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งไปสู่กระบวนการรีวิวของ Apple เจ้าของระบบ IOS เพื่อรอขั้นตอนการอนุมัติต่อไป

ขณะที่ มีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามการประเมินร้านค้าแล้ว 30,567,129 ครั้ง โดยจากข้อมูลพบว่า มาตรการการรักษาระยะห่าง และมาตรการทำความสะอาดพื้นผิว เป็น 2 มาตรการสำคัญที่ต้องเพิ่มความเข้นข้นกับร้านค้า/สถานประกอบการ

พร้อมกันนี้ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดีอีเอส ย้ำด้วยว่า ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลที่จัดเก็บไว้กับไทยชนะ ซึ่งจะจัดเก็บโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยการบันทึกจัดเก็บข้อมูลการเช็คอิน-เช็คเอาท์ ของผู้เข้าใช้บริการข้อมูลจะถูกจัดเก็บเป็นข้อมูลแบบมีรหัส ซึ่งต้องเป็นหน่วยงาน และผู้ได้รับอนุญาตเท่านั้นจึงสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลนั้นได้

“กำหนดระยะเวลาในการจัดเก็บข้อมูลไว้เพียง 60 วัน ตามการพิจารณาของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ระยะเวลาในการสอบสวนสืบสวนของโรคโควิด -19 ย้อนหลัง 14 วัน แต่จากที่ทางอธิบดีกรมควบคุมโรคให้ชุดข้อมูลมาว่า เราใช้ย้อนหลังกลับไปของสถานการณ์การติดเชื้อที่เราต้องติดตามกันตลอด คือ สนามมวยเพียงแค่ไม่กี่คนจนมีการติดจากรุ่นที่ 1 รุ่นที่ 2 ไปรุ่นที่ 3 และรุ่นที่ 4 ซึ่งรุ่นหนึ่งใช้เวลา 14 วันรวมแล้ว 14x4 ซึ่งต้องวางไว้ถึงประมาณ 2 เดือน ทั้งนี้มีหลักการและมีเหตุผลทั้งสิ้น เพราะเราใช้ประสบการณ์ที่เคยมีมาก่อนซึ่งเป็นประสบการณ์ของประเทศไทยเอง ด้วยเพราะฉะนั้นนี่คือเหตุผลที่ต้องเก็บข้อมูล 60 วัน” นพ.พลวรรธน์กล่าว

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ