องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะให้บริการรถโดยสารประจำทางทุกเส้นทาง ตามเวลาปกติ ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป ภายหลังที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมติยกเลิกมาตรการ ห้ามออกนอกเคหสถานทั่วราชอาณาจักร ระหว่างเวลา 23.00 - 03.00 น. และเห็นชอบคลายการผ่อนคลายมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด - 19 ระยะที่ 4
นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ตามมติที่ประชุม ศูนย์บริหารสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 เห็นชอบให้ยกเลิกมาตรการ ห้ามออก นอก เคหสถานทั่วราชอาณาจักร ระหว่างเวลา 23.00 -03.00 น. และเห็นชอบมาตรการ คลายการผ่อนคลายมาตรการ สกัดกั้น การแพร่ ระบาดของเชื้อโควิด - 19 ระยะที่ 4 โดยอนุญาตให้กิจกรรม/กิจการในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง กลับมาเปิดบริการหรือดำเนินการได้ ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2563 แต่ต้องปฏิบัติตามแนวทางการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด โดยคาดว่าเมื่อดำเนินการ ตามมาตรการ ผ่อนคลายดังกล่าว จะส่งผลทำให้ผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางของ ขสมก.เพิ่มขึ้น เป็นวันละประมาณ 650,000 คน
1. จัดรถออกวิ่ง 100 % (3,000 คัน/วัน) หรือจัดรถออกวิ่งให้สอดคล้องกับความต้องการ ของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา โดยมีเที่ยววิ่งเฉลี่ย วันละประมาณ 25,000 เที่ยว
2. ให้บริการรถโดยสารประจำทางในทุกเส้นทาง ตามเวลาปกติ รวมทั้ง จัดรถโดยสารให้บริการตลอดคืน (รถกะสว่าง) ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป
3. ขสมก.ยังคงดำเนินการตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ดังนี้
3.1 ด้านพนักงานประจำรถ
- มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของพนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสารทุกครั้ง ก่อนขึ้นปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร พร้อมทั้งกำชับพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร สวมหน้ากากอนามัย และถุงมือทุกครั้ง ขณะปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร
3.2 ด้านรถโดยสารประจำทาง
- เพิ่มความถี่ในการล้างทำความสะอาดระบบปรับอากาศ และการทำความสะอาดผ้าม่านบนรถโดยสาร
- ใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 70% ฉีดพ่นทำความสะอาดภายในรถโดยสาร และใช้ผลิตภัณฑ์ ดังกล่าว เช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ผู้ใช้บริการต้องสัมผัส เช่น เบาะที่นั่ง ราวจับ กริ่งสัญญาณ เป็นต้น พร้อมทั้งติดตั้งขวด เจลแอลกอฮอล์ สำหรับให้ผู้ใช้บริการล้างมือ บริเวณประตูทางขึ้น
- กำหนดจุดนั่ง (เบาะที่ไม่มีเครื่องหมายกากบาท) และจุดยืนให้มีระยะห่างกัน 1 เมตร ซึ่งรถโดยสาร 1 คัน อนุญาตให้ ผู้ใช้บริการ ยืนได้ไม่เกิน 10 คน กรณีผู้ใช้บริการเต็ม พนักงานเก็บค่าโดยสารจะติดป้ายข้อความ “ ผู้ใช้บริการเต็ม โปรดใช้บริการ รถคันถัดไป ” บริเวณกระจกหน้ารถโดยสาร พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการรับทราบ เพื่อรอใช้บริการรถโดยสารคันถัดไป
- ติดตั้ง QR Code แอปพลิเคชันไทยชนะ บริเวณหลังเบาะที่นั่ง และบริเวณผนังด้านข้างภายในรถโดยสาร สำหรับให้ผู้ใช้บริการสแกนผ่านโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน เพื่อเก็บข้อมูลการเดินทาง กรณีตรวจพบผู้ติดเชื้อใช้บริการรถโดยสารคันเดียว และเวลาเดียวกันกับผู้ใช้บริการ จะมีการแจ้งเตือนผ่านระบบ SMS ว่าผู้ใช้บริการมีความเสี่ยงให้รีบไปพบแพทย์
3.3 ด้านผู้ใช้บริการ
- ผู้ใช้บริการจะต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง ขณะใช้บริการรถโดยสาร
- ผู้ใช้บริการจะต้องนั่ง และยืนตามจุดที่กำหนด กรณีผู้ใช้บริการเต็มจะต้องรอใช้บริการรถโดยสารคันถัดไป
- เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการ ควรสแกน QR Code แอปพลิเคชันไทยชนะ บนรถโดยสาร เพื่อเช็คอินเมื่อขึ้นรถ และเช็คเอาท์ก่อนลงจากรถ
- ผู้ใช้บริการจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานเก็บค่าโดยสาร นายตรวจ และเจ้าหน้าที่สายตรวจพิเศษอย่างเคร่งครัด
......................................
ต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้บริการ สอบถามเส้นทางรถเมล์ หรือ แนะนำบริการได้ที่ www.bmta.co.th , facebook bmta@bmta.co.th หรือ ศูนย์ Call Center 1348 ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.00 - 22.00 น. เป็นต้นไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th