วันนี้ (22 มิ.ย. 63) เวลา 12.00 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เผยถึงมาตรการด้านการศึกษา ในกรณีที่จะมีการเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ว่า กระทรวงศึกษาธิการได้มีแคมเปญ Back to Healthy School โรงเรียนสุขภาพดี นักเรียนมีความสุข ที่ได้เลื่อนการเปิดเทอมจากเดิม ที่มีการเปิดเทอมในวันที่ 16 พ.ค. - 10 ต.ค. และวันที่ 1 พ.ย. - 31 มี.ค. เป็นวันที่ 1 ก.ค. - 14 พ.ย. และ 1 ธ.ค. - 10 เม.ย. ซึ่งภาคเรียนใหม่จะมีวันเรียนประมาณ 180 วัน และจะมีวันหยุดที่น้อยกว่าเดิม โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ให้โรงเรียนมีอิสระในการสอนเพิ่ม อาจจะสอนเพิ่มในวันเสาร์-อาทิตย์ หรือสอนเพิ่มตอนเย็นหลังเลิกเรียน เพื่อให้มั่นใจได้ว่านักเรียนจะได้รับความรู้ที่ครบถ้วน
นายวราวิชกล่าวว่า กรมอนามัยและกระทรวงศึกษาธิการได้ออกคู่มือการปฏิบัติของสถานศึกษา ซึ่งได้มีการแจกจ่ายและทำความเข้าใจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในคู่มือได้แบ่งออกเป็น 6 มิติ ในมิติที่ 1 เป็นเรื่องความปลอดภัยจากการลดการแพร่เชื้อโรค จำนวน 20 ข้อ เป็นมิติสำคัญที่สถานศึกษาทุกแห่งจะต้องปฏิบัติให้ครบถ้วน ห้ามขาด จึงจะสามารถเปิดเรียนได้ ส่วนที่เหลือ มิติที่ 2-6 รวม 24 ข้อ จะเป็นมิติเพิ่มเติมที่โรงเรียนจะต้องปฏิบัติต่อไป โดยกรมอนามัยจะประเมินจากแบบประเมินที่เป็นแบบเดียวกันทั้งประเทศ จนถึงวันนี้ได้มีสถานศึกษาที่ผ่านการประเมินจากกรมอนามัยแล้วร้อยละ 90 ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหา ที่สถานศึกษาทั้งหมดจะผ่านเกณฑ์ 20 ข้อนี้ทั้งหมดร้อยละ 100 ก่อนการเปิดภาคเรียน โดยมาตรการหลักที่ใช้ในการตรวจสถานศึกษา ได้แก่ ตรวจอุณหภูมิ ตรวจสอบการสวมหน้ากาก ล้างมือจัดเตรียมสบู่ แอลกอฮอล์ ลดแออัด เว้นระยะห่าง และทำความสะอาดพื้นผิว ซึ่งประเด็นที่คาดว่าปฏิบัติได้ยากที่สุดคือการเว้นระยะห่างในห้องเรียน 1.5 เมตร ได้ข้อสรุปว่า จำนวนโรงเรียนที่สามารถเว้นระยะห่างได้ และสามารถจัดเรียนได้ปกติ มี 31,000 โรงเรียน ส่วนโรงเรียนที่มาเรียนพร้อมกันไม่ได้ ต้องสลับกันมาเรียนมีจำนวน 4,500 โรงเรียน สำหรับนักเรียนที่ไม่ได้มาเรียน ทางกระทรวงศึกษาธิการได้จัดการเรียนการสอนแบบออนแอร์ และออนไลน์ เพื่อดูแลนักเรียนที่ไม่ได้มาเรียน โดยได้มีการประชุมหารือโดยครู และผู้ปกครองที่เป็นกรรมการของสถานศึกษา เพื่อหาวิธีที่จะสลับการเรียนการสอนในโรงเรียนที่จะต้องสลับกันมาเรียน สรุปได้ 5 วิธี ได้แก่ 1. เรียน 5 วัน หยุด 9 วัน (อาทิตย์เว้นอาทิตย์) 2. สลับเรียนเช้า-บ่าย 3. สลับวันคี่/วันคู่ 4. สลับเรียน และ 5. เรียนผสม
สำหรับประเด็นอื่น ๆ กรณีรถโรงเรียน ทั้งที่กระทรวงศึกษาธิการดูแล หรือที่โรงเรียนเหมามาเอง จะต้องนั่งตามที่กำหนดและสวมหน้ากาก หากที่นั่งตามที่กำหนดไม่พอ ให้เพิ่มจำนวนรถ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้มอบงบประมาณในส่วนนี้ให้กับโรงเรียนแล้ว กรณีเด็กเล็ก ในเรื่องการนอน จะต้องนอนห่างกัน 1.5 เมตร หันเท้าชนกัน และไม่ต้องสวมหน้ากาก ส่วนอาหารกลางวัน จะผลัดกันรับประทาน แบ่งให้มี 3-4 ผลัด ระยะเวลาเหลื่อมกัน 30 นาที แล้วแต่จำนวนนักเรียน ส่วนกรณีการสอบวัดผล กระทรวงศึกษาธิการจะประกาศอีกครั้งเร็ว ๆ นี้ โดยนักเรียน ม.6 จะต้องสอบ ส่วนนักเรียนชั้นอื่น หากมีการสอบ จะต้องมีการปรับตัวชี้วัดในปีที่ประสบปัญหาการติดเชื้อของโควิด-19 เพื่อให้นักเรียนถูกวัดผลได้อย่างยุติธรรม ในกรณีที่ร้ายที่สุด หากพบผู้ต้องสงสัยหรือมีเกณฑ์ติดเชื้อภายในโรงเรียน จะมีการคัดแยกผู้มีอาการ แจ้งผู้ปกครอง แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หากตรวจพบเชื้อจะทำการปิดโรงเรียน 3 วันเพื่อทำความสะอาด และผู้ใกล้ชิดกักตัว 14 วัน โดยทางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ประสานกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อต้องการให้ใช้แพลตฟอร์มไทยชนะ โดยเด็กโตสามารถปฏิบัติได้เอง ในส่วนเด็กเล็ก ให้คุณครูเป็นผู้รวมรายชื่อ เพื่อกระทรวงสาธารณสุขสามารถตรวจสอบได้ในอนาคต และกรณีโรงเรียนชายขอบ ไม่อนุญาตให้นักเรียนเดินทางเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเรียนในประเทศ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง หากต้องการเรียนจริง ๆ ให้เดินทางเข้าประเทศเพื่อรับการกักตัว 14 วัน และห้ามกลับออกนอกประเทศระหว่างนั้น จึงจะสามารถเข้าเรียนได้ โดยจะมีการเรียนการสอนผ่านทีวี และให้ครูส่งและเก็บใบงานผ่านกล่องทุกวัน เพื่อลดการสัมผัสโดยตรง
-------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th