โฆษก ศบค. เผย ร่างการผ่อนคลายมาตรการกิจการ/กิจกรรม ในระยะที่ 5 เตรียมเสนอที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่พิจารณา 29 มิถุนายน นี้

ข่าวทั่วไป Wednesday June 24, 2020 13:19 —สำนักโฆษก

โฆษก ศบค. เผย ร่างการผ่อนคลายมาตรการกิจการ/กิจกรรม ในระยะที่ 5 เตรียมเสนอที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่พิจารณา 29 มิถุนายน นี้

วันนี้ (24 มิ.ย.63) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน และร่างการผ่อนคลายมาตรการกิจการ/กิจกรรมที่ยังไม่ได้รับการผ่อนผัน ตามที่คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้บางมาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มี พลเอก สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ในประเทศไทย วันนี้ไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศเป็นวันที่ 30 แต่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 รายจากสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ รวมผู้ป่วยสะสม 3,157 ราย มีผู้ที่หายป่วยเพิ่ม 3 ราย รวมผู้ที่หายป่วยแล้ว 3,026 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ผู้ที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 73 ราย ซึ่งผู้ป่วยใหม่ 1 รายเป็นชายไทยอายุ 31 ปีเดินทางมาจากฟิลิปปินส์ อาชีพพนักงานร้านอาหาร ถึงไทย 17 มิถุนายน 63 เข้าพัก State Quarantine ที่กรุงเทพฯ ตรวจหาเชื้อ 22 มิถุนายน 63 พบเชื้อแต่ไม่มีอาการใด ๆ ทั้งนี้ มีคนไทยที่เดินทางกลับจากฟิลิปปินส์รวม 961 ราย มีผู้ติดเชื้อ 2 ราย

2. สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 โลก ผู้ป่วยยืนยันสะสม 9,353,739 ราย เพิ่มขึ้น 165,878 รายใน 1 วัน ถือเป็นภาวะวิกฤตของโลกและวิกฤตของโรค เป็นผู้ป่วยที่อาการหนัก 57,000 กว่าราย คิดเป็นร้อยละ 0.6 หายป่วยแล้ว 5 ล้านกว่าราย คิดเป็นร้อยละ 53.9 มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นในวันเดียว 5,467 ราย รวมเป็น 479,000 กว่าราย หรือคิดเป็นร้อยละ 5.1 สหรัฐอเมริกาเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือบราซิล รัสเซีย อินเดีย โดยไทยอยู่อันดับที่ 93 สามารถผ่อนปรนผ่อนคลายกิจกรรมต่าง ๆ ได้ แต่ทั่วโลกยังมีตัวเลขผู้ป่วยใหม่ที่พุ่งขึ้น ทำให้ตัวเลขสะสมรวมยังพุ่งทแยง ฉะนั้นยังต้องการ์ดไม่ตก

3. ร่างการพิจารณาผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรมที่ยังไม่ได้รับการผ่อนผัน รวม 5 กิจการ/กิจกรรมโฆษก ศบค. กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ได้พิจารณามาตรการเรื่องการลงทะเบียนแอพพลิเคชันไทยชนะ ที่ผู้ประกอบกิจการ/กิจกรรม จะต้องลงทะเบียนเพื่อให้เกิดการติดตามได้ โดยเน้นย้ำว่า 1. ต้องลงทะเบียนโดยเฉพาะกลุ่มกิจการ/กิจกรรมที่จะประกาศในระยะที่ 5 จะต้องลงทะเบียนก่อนการประกาศการผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรม เพื่อการวางแผนและกำกับติดตามของหน่วยงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ 2. ทุกกิจการ/กิจกรรม จัดให้มีการลงทะเบียนเข้าและออกสถานที่ และเพิ่มมาตรการใช้แอพพลิเคชันผู้พิทักษ์ไทยชนะ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในการตรวจประเมินการประกอบกิจการ/กิจกรรม ก็ต้องลงทะเบียนเช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันการแอบอ้างการเป็นเจ้าหน้าที่ 3. มาตรการการคัดกรองไข้และอาการไอ หอบ เหนื่อย จาม หรือเป็นหวัด สำหรับพนักงานบริการและผู้ใช้บริการ และรายงานหน่วยงานรับผิดชอบกรณีพบผู้ที่เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรคตามแนวทางที่กำหนด 4. ให้พิจารณาการพัฒนานวัตกรรม เช่น การลงทะเบียนเข้า-ออกสถานที่ ระบบการเรียนการสอน การจองคิวแบบออนไลน์ เพื่อให้เกิดการบริการรูปแบบใหม่ในระยะยาว นำไปสู่การป้องกันและควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ ให้มีการรายงานผลการตรวจประเมินติดตามกำกับมาตรการการควบคุมหลัก โดย ศปก.จังหวัด และ ศปม. ให้ ศบค. ทราบเป็นระยะ

โฆษก ศบค. กล่าวถึงการผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรมในระยะที่ 5 เป็นกิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงมาก ซึ่ง ศบค. รับฟังทุกเสียงของผู้ที่เดือดร้อน โดย 5 กิจการ/กิจกรรมที่มีการร้องขอเพื่อให้เปิดคือ 1) การผ่อนผันการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา โดยจะมีการเปิดทั้งหมดทั้งของรัฐ-เอกชนในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ 2) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมิวนิตี้มอลล์ เปิดได้ทุกแห่งโดยไม่จำกัดเวลา ให้กลับไปในรูปแบบเดิมทั้งหมด 3) สถานบริการ สถานประกอบการคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ โดยจะมีการตรวจใบอนุญาตผู้ประกอบการสถานบริการ ที่มีการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม มีการจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อนุญาตให้ขายในเวลา 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น. และมีการแสดงดนตรี บันเทิง เต้นรำ ฉายภาพวีดิทัศน์ในคาราโอเกะ ซึ่ง มท. สตช. วธ. สธ. จะออกคู่มือเกณฑ์ปฏิบัติและประเมินความพร้อมอีกครั้ง ทั้งนี้ มีมาตรการควบคุมหลักคือเปิดให้บริการได้ไม่เกิน 24.00 น. เป็นเวลาเดียวกันทั้งหมด มีระยะยืน-นั่ง 1 เมตร จำกัดผู้ใช้บริการตามขนาดพื้นที่มากกว่า 4 ตร.ม./คน และห้ามร่วมโต๊ะกับกลุ่มอื่น พนักงานต้องสวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัยตลอดเวลา บริการจุดล้างมือให้เพียงพอ ทำความสะอาดห้องสุขา พื้นผิวสัมผัส และระยะห่างของโต๊ะควรจะมากกว่า 2 เมตร หากทำไม่ได้ให้ทำฉากกั้นความสูง 1.5 เมตร รวมทั้งต้องมีระบบระบายอากาศ ระบบหมุนเวียนอากาศที่ดี มีพื้นที่เฉพาะสำหรับการสูบบุหรี่ที่ต้องอยู่ภายนอก ทั้งนี้ ผู้ที่จะไปใช้บริการทุกคนต้องลงทะเบียนเข้า-ออกสถานที่โดยแอพพลิเคชันไทยชนะ ตามมาตรการก่อนใช้บริการ ขณะที่มาตรการเสริมคือ การคัดกรองเรื่องอายุ การวัดอุณหภูมิร่างกาย อาการทางเดินหายใจ ตรวจหาเชื้อโควิดกลุ่มพนักงานเป็นระยะ งดกิจกรรมส่งเสริมการขายทุกรูปแบบ ทั้งโปรโมชั่น ลดราคาขายพ่วง โฆษณาโดยพนักงานเชียร์เบียร์ รวมทั้งต้องไม่ยินยอมให้ลูกค้านำสุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาบริโภค ให้นั่ง-ยืนเป็นกลุ่มได้ไม่เกิน 5 คน งดนั่งร้องเพลง เต้น หรือยินยอมให้มีการเต้นกับลูกค้า งดการเต้นนอกพื้นที่ บริเวณโต๊ะที่นั่ง หลีกเลี่ยงการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรูปแบบของเหยือก ถ้วย หรือภาชนะที่ใช้ร่วมกัน มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดครอบคลุมพื้นที่ของรัฐ เพื่อกำกับติดตาม โดยต้องบันทึกข้อมูลไว้มากกว่า 1 เดือน และมีระบบพื้นที่รอคิวห่างกันมากกว่า 1 เมตร ซึ่งมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้เป็นการเรียนรู้จากต่างประเทศและนำมาปรับใช้ หากทำได้ดีก็จะไม่มีการติดเชื้อเหมือนกับต่างประเทศ โดยมาตรการควบคุมหลักและเสริม จะช่วยปกป้องเจ้าหน้าที่ ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการได้ ซึ่งขอให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐในระดับจังหวัดทุกคนได้เตรียมการลงทะเบียนแอพพลิเคชันไทยชนะ และต้องมีแผนการตรวจประเมินเตรียมความพร้อมด้วย

4) ร้านเกมและร้านอินเทอร์เน็ต ที่ต้องมีใบอนุญาตประกอบการที่ถูกต้อง เด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี เข้าใช้บริการได้ 2 ช่วง วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 14.00 – 20.00 น. วันหยุด 10.00-20.00 น. อายุ 15-18 ปี เข้าใช้บริการได้ 2 ช่วง วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 14.00 – 22.00 น. วันหยุด 10.00-22.00 น. และอายุมากกว่า 18 ปี เข้าใช้บริการได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่ง วธ. กับ สธ. จะออกคู่มือเกณฑ์ปฏิบัติและประเมินความพร้อม โดยมาตรการควบคุมหลักคือ ต้องใส่หน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัยตลอดเวลา มีจุดบริการล้างมือให้เพียงพอ ทำความสะอาดห้องสุขา ผิวสัมผัสบ่อย ๆ จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการมากกว่า 5 ตร.ม/คน มีการเว้นระยะนั่ง ยืน เดิน มากกว่า 1 เมตร และจำกัดเวลาการให้บริการในระบบรอบละ 2 ชั่วโมง หยุดพัก 15 นาทีทำความสะอาด และใช้แอพพลิเคชันไทยชนะตรวจการเข้า-ออก รวมทั้งมีกล้องวงจรปิดครอบคลุมพื้นที่ร้านโดยเก็บข้อมูลไว้มากกว่า 1 เดือน งดบริการเครื่องดื่มและอาหาร ไม่ให้มีการรวมกลุ่ม งดกิจกรรมแจกรางวัล

5) สถานประกอบกิจการ อาบอบนวด โรงน้ำชา ซึ่งมาตรการหลักคือต้องใส่หน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ยกเว้น ขณะอาบน้ำ มีจุดบริการล้างมือเพียงพอ ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสบ่อย ๆ เว้นระยะนั่ง ยืน มากกว่า 1 เมตร ยกเว้นขณะอาบน้ำ ควบคุมไม่ให้แออัด และให้คำแนะนำลูกค้าตามมาตรการก่อนใช้บริการทุกราย ทุกคนที่ไปใช้บริการต้องลงทะเบียนเข้า-ออกสถานที่ด้วยแอพฯ ไทยชนะ หรือจดบันทึกรายงานแทนได้ รวมทั้งมีการตรวจหาเชื้อโควิดในกลุ่มพนักงานเป็นระยะ ๆ พร้อมกับการเฝ้าระวังโรคอื่น ๆ ส่วนมาตรการเสริม คือ ดูแลอุณหภูมิร่างกาย ระบบระบายอากาศ ติดตั้งกล้องวงจรปิดในพื้นที่ส่วนรวมของร้านเพื่อติดตามกำกับบันทึกข้อมูลในช่วงเวลามากกว่า 1 เดือน

4. การผ่อนคลายการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรของชาวต่างชาติ

ได้มีการผ่อนคลายให้กับ 1) กลุ่มเป้าหมายที่ตอบรับมาตรการ State Quarantine และได้ทำการลงทะเบียนไว้แล้ว ได้แก่ นักธุรกิจ/นักลงทุนประมาณ 700 คน แรงงานฝีมือ/ผู้เชี่ยวชาญประมาณ 15,400 คน คนต่างด้าว กรณีครอบครัวเป็นคนไทย และ/หรือ มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยประมาณ 2,000 คน ครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนนักศึกษาประมาณ 2,000 คน และ Medical and Wellness Tourism ประมาณ 30,000 คน ให้สามารถเข้ามาในประเทศไทยได้ โดยจะต้องกักตัว 14 วัน ใน State Quarantine 2) กลุ่มเป้าหมายที่ใช้มาตรการคุมไว้สังเกต ได้แก่ นักธุรกิจ/นักลงทุน ที่เดินทางเข้ามาในระยะเวลาสั้น ๆ และแขกของรัฐบาลหรือส่วนราชการต่าง ๆ ให้มีการตรวจปลอดโควิด-19 ทั้งจากประเทศต้นทาง และเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย ให้มีทีมติดตามด้านการแพทย์ และสาธารณสุข หรือทีมที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุขติดตามคณะเดินทาง ตามมาตรการคุมไว้สังเกต และกลุ่มนักท่องเที่ยวผู้เดินทางตามโครงการ Travel Bubble โดยจะมีขั้นตอน ดังนี้

ขั้นที่ 1 กลุ่มที่ 1 นักธุรกิจ/นักลงทุนที่ตอบรับมาตรการ ASQ (Waiting List) ให้ดำเนินการได้ทันที และกลุ่มที่ 2 กลุ่มแรงงานฝีมือ/ผู้เชี่ยวชาญ คนต่างด้าว กรณีเป็นครอบครัวของคนไทย และ/หรือ มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย และครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนนักศึกษา รวมถึงกลุ่มนักธุรกิจ/นักลงทุน ที่เข้ามาในระยะสั้น ๆ และแขกของรัฐบาล (ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณามาตรการผ่อนคลายฯ) ให้ดำเนินการในวันที่ 1 กรกฎาคม 63 เป็นต้นไป ขั้นที่ 2 กลุ่ม Medical and Wellness Tourism ในพื้นที่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงใหม่ และเชียงราย (ตามความพร้อม) และ Medical and Wellness Tourism/กระทรวงสาธารณสุข ผนวกกับ Safety Tour (SHA) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ดำเนินการในวันที่ 1 กรกฎาคม 63 หรือเมื่อมีความพร้อม ขั้นที่ 3 โครงการ Travel Bubble รูปแบบที่ 1 แบบมาตรการ Villa Quarantine ให้เริ่มในวันที่ 1 สิงหาคม 63 และรูปแบบที่ 2 แบบผ่อนคลายมาตรการ State Quarantine ให้เริ่มดำเนินการเมื่อพร้อมและสังคมเชื่อมั่นในมาตรการ

--------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ