วันนี้ (6 กรกฎาคม 63) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันและมาตรการในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทย มีผู้ป่วยใหม่เพิ่ม 5 ราย ในสถานกักกันของรัฐ State Quarantine ทั้งสิ้น ซึ่งเดินทางมาจากประเทศคูเวต เป็นชาย จำนวน 4 ราย อาชีพรับจ้าง แบ่งเป็น อายุ 34 ปี 46 ปี 48 ปี และอายุ 51 ปี เป็นผู้หญิง 1 ราย อายุ 37 ปี อาชีพพนักงานนวด โดยผู้ติดเชื้อทั้งหมดไม่มีอาการใด ๆ ทั้งนี้พบว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยแรงงานจึงไม่ค่อยที่จะแสดงอาการใด ๆ ออกมา สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยู่ที่ 3,195 ราย ในประเทศยังคงอยู่ 2,444 รายเช่นเดิม หายป่วยแล้ว 3,072 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มซึ่งตัวเลขยังคงที่ 58 ราย รักษาอยู่ที่โรงพยาบาล 65 ราย
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของโลก พบผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยู่ไปที่ 11.5 ล้านราย อาการหนัก 58,000 กว่าราย หายป่วยแล้ว 6,500,000 กว่าราย และเสียชีวิตไปแล้ว 530,000 กว่าราย สหรัฐอเมริกา ยังเป็นประเทศที่มีตัวเลขรวมผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมและเสียชีวิตสูงเป็นอันดับที่ 1 ผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยู่ที่ 2,900,000 กว่าราย คาดว่าอีกไม่นานจะขึ้นไปที่ 3 ล้านราย
โฆษก ศบค. ได้ให้ข้อสังเกตว่า แม้ว่าขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ทางประเทศทางยุโรปจะเป็น 0 ราย ได้แก่ สเปน ฝรั่งเศส แต่สถานการณ์โดยรวมในต่างประเทศก็ยังไม่น่าไว้วางใจเพราะเส้นกราฟผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงพุ่งขึ้นต่อเนื่อง ส่วนประเทศไทยขณะนี้อยู่ลำดับที่ 97
แผนนำคนไทยกลับมาจากต่างประเทศ วันที่ 6 กรกฎาคม 63 จากสิงค์โปร์ 128 ราย วันที่ 7 กรกฎาคม 63 จากญี่ปุ่น (โตเกียว) 160 ราย จีน (เซี่ยงไฮ้) 30 ราย และจีน (ปักกิ่ง) 30 รายจะสำหรับจีนจะมีนักธุรกิจ 20 รายที่จะกลับมาพรุ่งนี้จากเซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง 32 ราย โดยโควตาพื้นที่ให้นั่งบนเครื่องบินต่อวันประมาณ 500 ที่นั่งตาม state quarantine และเมื่อเดินทางถึงไทยต้องเข้าสถานที่กักกันตัวของรัฐจัดให้
ขณะที่ประชุมศบค.ชุดเล็กได้รับรายงานว่า 1 เดือนที่ผ่านมาได้มีคนต่างด้าวที่หลบหนีเข้าประเทศผ่านจุดผ่านแดนทางบกประมาณ 3,000 กว่าคน สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองยืนยันว่า มีการดูแลคนเหล่านี้อย่างดีและผลักดันบางส่วนกลับประเทศ ทั้งนี้ ยอดรวมของคนไทยที่กลับเข้ามา 52,957 ราย กลับบ้านแล้ว 43,849 ราย พบผู้ติดเชื้อสะสม 258 ราย
มีผู้ใช้งาน 34,249,575 ราย กิจการ/ร้านค้า ลงทะเบียน 262,882 ร้าน สัดส่วนการเช็คอิน/เช็คเอาท์ ผ่านแพลตฟอร์มไทยชนะ ร้อยละ 53.7 ผ่านแอปไทยชนะ ร้อยละ 84.1 และดาวน์โหลดใช้แอปพลิเคชัน 623,300 ราย กิจการ / กิจกรรมได้รับความร่วมมือสูงขึ้นถึงร้อยละ 97
นอกจากนี้ สวนดุสิตโพลได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนหลังผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ระหว่างวันที่ 1- 4 กรกฎาคม 2563 กลุ่มตัวอย่าง 1,109 ราย พบว่า ความวิตกกังวลของประชาชนกับสถานการณ์โควิด-19 ณ วันนี้ ที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศกว่า 30 วัน มีความกังวลมากขึ้นกับความกังวลเหมือนเดิม 1 ใน 3 หรือร้อยละ 30 ขณะที่ประชาชนร้อยละ 39.40 คาดหวังอยากจะให้โควิด-19 ของไทยเข้าสู่สถานการณ์ปกติภายในสิ้นปี 2563 ส่วนร้อยละ 27.95 คาดหวังกลางปี 2564 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 8.75
โฆษก ศบค. กล่าวถึง Medical and Wellness Program จะมีระบบการกักกันตัวร่วมกับการรักษาพยาบาล กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ป่วยและผู้ติดตามชาวต่างชาติที่มีความจำเป็นต้องเข้ามารับการรักษาพยาบาลเท่านั้น โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองและกักกันตัวจนครบ 14 วัน ในสถานพยาบาลที่กำหนดและต้องตรวจ Lab โควิด 19 รวม 3 ครั้ง โดยมีโรงพยาบาลเอกชน 67 แห่ง คลินิกเฉพาะทาง 1 แห่ง มีลักษณะรูปแบบของการลงทะเบียนทั้งหมด 34 ประเท (รวม 3 เดือน) ผู้ป่วย รวม 1,169 ราย ผู้ติดตาม 1,521 ราย แบ่งเป็นอาเซียน 1685 ราย จีน 389 ราย ยุโรป 23 อเมริกาเหนือ 26 แอฟริกา 29 โอเชียเนีย 2 ตะวันออกกลาง 427 เอเชียใต้ 125 ยืนยันมีขั้นตอนดำเนินการก่อนการเดินทางเข้ามายังประเทศไทย
ช่วงท้ายของการแถลงสถานการณ์ประจำวัน โฆษก ศบค. ขอให้ประชาชนคนไทยมั่นใจในระบบจัดการ Medical and Wellness Program ซึ่งเป็นกิจกรรมที่อิงกับทางด้านการแพทย์ สามารถตอบสังคมได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ส่วนหนึ่ง
______________
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th