โฆษก ศบค. เผย โครงการ Medical and Wellness Tourism นำร่องในพื้นที่โรงพยาบาลเอกชน ยืนยัน การรักษาสามารถกำกับและควบคุมได้

ข่าวทั่วไป Thursday July 9, 2020 13:41 —สำนักโฆษก

โฆษก ศบค. เผย โครงการ Medical and Wellness Tourism นำร่องในพื้นที่โรงพยาบาลเอกชน ยืนยัน การรักษาสามารถกำกับและควบคุมได้

วันนี้ (9 ก.ค. 63) เวลา 12.00 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ตอบคำถามสื่อมวลชนที่สอบถามผ่านโซเชียลมีเดียช่วงการแถลงข่าวของศูนย์ข่าวโควิด-19 และสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

โฆษก ศบค. ชี้แจงกรณีการเดินทางเข้าประเทศไทยโดยแขกพิเศษของรัฐบาล และผู้ที่เดินทางมาตามข้อตกลงพิเศษที่มาในระยะสั้น (Special Arrangement) อาทิ ผบ.ทบ. สหรัฐฯ ถูกจัดอยู่ใน 11 กลุ่มที่ผ่อนผันไม่ต้องเข้าสู่การกักตัว State Quarantine ตามข้อกำหนดในการผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 5 ทั้งนี้ จะต้องมีคณะผู้กำกับ/ติดตามการเดินทาง แบ่งออกเป็น 2 คณะ คณะที่ 1 คือกลุ่มผู้ติดตามที่จัดขึ้นโดยผู้เป็นฝ่ายเชิญ และคณะที่ 2 คือเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งทั้งหมดจะต้องผ่านการอบรมวิธีการป้องกันตนเองมาก่อนและต้องรายงานหน่วยงานของตน ให้มีการตรวจสุขภาพเพื่อความมั่นใจ อย่างไรก็ตามการปฏิบัติหน้าที่ของคณะทำงาน 2 กลุ่มนี้เป็นการทำงานระยะสั้น รักษาระยะห่าง Social Distancing ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องกักตัว 14 วัน หลังเสร็จภารกิจ โดยเป็นการใช้หลักการเดียวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่มีความใกล้ชิดกับชาวต่างชาติเป็นจำนวนมากแต่ไม่จำเป็นต้องทำการกักตัว หรือ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ณ พื้นที่ State Quarantine ที่ใกล้ชิดกับกลุ่มผู้มีความเสี่ยง ก็ไม่จำเป็นต้องทำการกักตัวเช่นกัน

โฆษก ศบค. เผยถึงการเปิดรับชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยในโครงการ Medical and Wellness Tourism โดยจะนำร่องในพื้นที่โรงพยาบาลเอกชน พร้อมยืนยันว่าเป็นโครงการที่เคยทำมาก่อนหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากมีผู้ป่วยเดิมที่จะต้องติดตามการรักษาอีกจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากการงดเดินทางเข้า – ออก ประเทศไทย จึงถือว่าเป็นการรักษาต่อของผู้ป่วยเดิมและเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกด้วย ทั้งนี้ การรักษาทั้งหมดอยู่ในโรงพยาบาลที่ถือว่ามีความเสี่ยงน้อย สามารถกำกับ/ควบคุมได้ ทั้งยืดระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาลให้ครบ 14 วัน เท่ากับระยะเวลาการกักตัวใน State Quarantine และจะต้องไม่เป็นการใช้ทรัพยากรที่เป็นภาระแก่โรงพยาบาล เช่น กรณีการผ่าตัดใหญ่ อย่างไรก็ตาม การรักษาที่สามารถทำได้ คือ การทำศัลยกรรมความงาม การรักษาโรคกระดูกและข้อ การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) การผ่าตัดแปลงเพศ เป็นต้น โดยข้อมูลเบื้องต้นปรากฏว่าอาจมีผู้เดินทางเข้ามาทั้งผู้เข้ารับการรักษาและผู้ติดตาม ประมาณ 2,000 คน ในอนาคตอาจมีการบูรณาการร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในการสนับสนุนการท่องเที่ยวหลังรับการรักษาเสร็จและไม่พบอาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19

นอกจากนี้ โฆษก ศบค. เผยเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุขได้หารือในเรื่องของกลุ่มแรงงานที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งการเดินทางของกลุ่มบุคคลดังกล่าวนั้นยังไม่สามารถวางใจได้ ทั้งในกลุ่มของคนต่างด้าวหรือคนไทย อย่างไรก็ตามต้องมีการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การเฝ้าระวัง (PUI) เพื่อให้สามารถดำเนินการเฝ้าระวัง ตรวจสอบโรคได้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องมีการเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการป้องกันในจุดตรวจต่าง ๆ เพิ่มขึ้นด้วย

…………………………………………

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ