วันนี้ (27 ก.ค. 63) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน และมาตรการในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4 ราย มาจาก State Quarantine หรือสถานที่กักกันของรัฐจัดให้ทั้งหมด ทำให้มีผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยู่ที่ 3,295 ราย (ติดเชื้อในประเทศ 2,444 ราย และมาจากสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 358 ราย) รักษาหายป่วยเพิ่มขึ้น 2 ราย รวมรักษาหายป่วยแล้ว 3,111 ราย รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 126 ราย และไม่มีเสียชีวิตเพิ่มตัวเลขยังคงที่ 58 ราย เช่นเดิม สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4 ราย เดินทางมาจากสหรัฐอเมริกา 3 ราย โดยรายแรกเป็นนักท่องเที่ยวหญิงไทย อายุ 44 ปี เดินทางมาถึงไทยเมื่อ 20 กรกฎาคม 2563 เข้าพัก State Quarantine ที่จังหวัดชลบุรี ตรวจหาเชื้อวันที่ 25 กรกฎาคม ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ และ 2 ราย เป็นนักศึกษาชายไทย อายุ 25 ปี และนักศึกษาหญิงไทย อายุ 21 ปี เดินทางมาถึงไทยเมื่อ 25 กรกฎาคม โดยผ่านการคัดกรอง ณ ด่านควบคุมโรค พบว่ามีอาการเข้าเกณฑ์ PUI คือผู้ป่วยชาย มีอาการไข้และเจ็บคอ และผู้ป่วยหญิง มีอาการไข้และจมูกไม่ได้กลิ่นจึงตรวจหาเชื้อใหม่ในวันที่ 25 กรกฎาคม ผลตรวจพบเชื้อ และอีก 1 ราย เดินทางมาจากไต้หวัน เป็นชายไทย อายุ 30 ปี อาชีพนักงานโรงงาน เดินทางมาถึงไทยเมื่อ 21 กรกฎาคม เข้าพัก State Quarantine ที่กรุงเทพฯ และตรวจพบเชื้อวันที่ 25 กรกฎาคม
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของโลก พบผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยู่ที่ 16,000,000 กว่าราย โดยสหรัฐอเมริกามีผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 รองลงมาคือ บราซิล อินเดีย รัสเซีย และแอฟริกาใต้ ตามลำดับ ส่วนประเทศไทยขณะนี้ลงมาอยู่ลำดับที่ 106 ของโลกแล้ว อย่างไรก็ตามยังต้องมีการติดตามสถานการณ์การติดเชื้อของ 5 อับแรกของโลกอย่างใกล้ชิด เพราะขณะนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และต้องมีการติดตามสถานการณ์ว่าเมื่อไรตัวเลขเหล่านั้นจะคงที่หรือค่อย ๆ ลดลง ซึ่งจะเป็นตัวบ่งบอกถึงทิศทางและแนวโน้มที่ดีขึ้นของสถานการณ์การระแพร่บาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทั่วโลก
สำหรับสถานการณ์ในประเทศเอเชียยังพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และเวียดนาม ทั้งนี้ มีข้อสังเกตกรณีที่เกิดขึ้นในเวียดนามซึ่งมีการรายงานปลอดเชื้อมาโดยตลอดและตัวเลข 0 ราย เช่นเดียวกันไทย แต่เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 63 พบมีผู้เชื้อเพิ่ม 1 ราย และวันที่ 26 กรกฎาคม 63 มีรายงานตรวจพบมีผู้ติดเชื้ออีก 3 ราย ซึ่งมีรายงานว่าเวียดนามคุมโควิดเข้ม หลังพบผู้ติดเชื้อล่าสุดอีก 3 ราย โดยออกมาตรการงดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในดานังเป็นเวลา 14 วัน รวมทั้งการรณรงค์สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างและยกเลิกการจัดงานต่าง ๆ ในทันที เพราะฉะนั้นการที่ไม่พบผู้ติดเชื้อไม่ได้หมายว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อเกิดอีก รวมถึงในประเทศไทยเช่นกัน จึงขอให้ทุกคนต้องพยายามช่วยกันให้รับกับสถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้นได้ โดยเฉพาะขณะนี้มีบางประเทศได้เกิดการติดเชื้อขึ้นมาระลอก 2 แล้ว คือ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อิสราเอล และโครเอเชีย เป็นต้น ดังนั้น ขอย้ำให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้าอยู่เสมอเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากโควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวสัปดาห์นี้ที่ออกไปข้างนอกหรือเดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่ต่าง ๆ
ด้านการใช้มาตรการผ่อนคลายในรถโดยสารสาธารณะ ช่วงระหว่างวันหยุดยาว ทางกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม รายงานต่อที่ประชุม ศบค. เช้านี้ว่ามาตรการต่าง ๆ ได้รับความร่วมมือจากทางผู้ประกอบการและทางขนส่งของทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นอย่างดี ในทุก ๆ กระบวนการ ส่วนการกำกับดูแลจะมีผู้กำกับประเมินที่สถานีขนส่งผู้โดยสารและจุดเช็คพ้อยท์ 99 จุดกระจายไป ตลอด 24 ชั่วโมง ดูในเรื่องของการปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ จากการประเมินผลช่วงวันที่ 28 มิถุนายน ถึง 19 กรกฎาคม 63 รายงานว่ามีการใส่หน้ากากผ้า หน้ากากอนามัยร้อยละ 99.7 เจลแอลกอฮอล์ร้อยละ 98.22 การเว้นระยะห่างร้อยละ 99.97 QR Code ร้อยละ 98.74 โดยขอความร่วมมือจากภาคประชาชนคนทั่วไป ผู้ใช้บริการ ได้ช่วยเป็นผู้ประเมินด้วย เพื่อจะได้เกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้น
โฆษก ศบค. กล่าวถึงแนวทางการผ่อนคลายมาตรการของสถานศึกษา หลังเปิดสถานศึกษามา 1 เดือน ว่า ศบค. ชุดเล็กมอบหมายให้กรมควบคุมโรคร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการประเมินทิศทางที่ผ่านมาตลอด 1 เดือน ยังไม่พบการติดเชื้อในกลุ่มนี้ จากข้อมูล เด็กเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงการติดเชื้อค่อนข้างต่ำ ในประเทศมีเพียงแค่ร้อยละ 1-6 ช่วงอายุ 0 - 9 ปี พบเพียงแค่ร้อยละ 1.9 หรือ 62 ราย ตั้งแต่เริ่มมีการติดเชื้อมา อายุ 10-19 ปี มี 126 รายคิดเป็นร้อยละ 3.87 และไม่เคยมีรายงานพบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนเลย ปัจจุบันมี 4,528 โรงเรียน ที่ต้องใช้วิธีการสลับเวลาเรียน สลับวันเรียน เนื่องจากสถานที่คับแคบและเด็กมีจำนวนมากกว่าห้องเรียน มีผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็ก ขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การเหลื่อมล้ำทางการเข้าถึงทรัพยากร และผลกระทบด้านโภชนาการ จึงมีการประชุมร่วมกันของ สธ. และ ศธ. ถึงข้อพิจารณาการผ่อนคลายนี้ให้นักเรียนไปเรียนได้ตามปกติ โดยมีมาตรการเสริม มีการกำกับโดยสถานศึกษาและหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ ผ่านการดูแลจากแต่ละหน่วยงานเป็นลำดับ สอดคล้องกับเรื่องประเด็นที่ 3 มีกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุขเข้าไปดูการตรวจประเมินและติดตามผลหลังการเปิดภาคเรียน และแนวปฏิบัติของสถานการณ์การเสี่ยงต่อการติดโรคในมาตรการผ่อนคลายของสถานศึกษา พบว่าสถานศึกษามีมาตรการความปลอดภัยจากการลดการแพร่เชื้อโรคถึงร้อยละ 99.47 มีไม่ครบเพียงแค่ 0.53 หรือ 132 แห่ง ก็ได้มีการชี้แนะให้ปรับปรุงให้ครบ จากโรงเรียน 25,140 แห่งที่เข้าไปสำรวจ พบรายงานเด็กป่วยอยู่ที่ 687 คน มีรายงานป่วยเป็นไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ แต่ไม่ใช่โควิด-19 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มาตรการนี้มีมาพร้อมกับเรื่องของการสวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัยทำให้พบเด็กป่วยน้อยลง โรงเรียนส่วนใหญ่ร้อยละ 96 มีแผนรองรับ ไม่มีเพียงร้อยละ 3.75 เท่านั้นที่จำเป็นต้องเข้าไปแนะนำเพิ่มเติม ซึ่ง ศบค. ได้นำข้อมูลต่าง ๆ มาพิจารณาอย่างละเอียด เพื่อการผ่อนคลายมาตรการให้เกิดผลกระทบต่อเด็กนักเรียนให้น้อยที่สุด การเรียนการสอนต้องไม่สะดุดและการควบคุมโรคเป็นไปได้ด้วยดี
โฆษก ศบค. ยังรายงานมาตรการนำคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศวันนี้รวม 725 ราย และวันพรุ่งนี้ 331 ราย พร้อมมีผู้เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยผ่านจุดผ่านแดนทางบกจำนวน 45 ราย โดยยอดรวมผู้เดินทางเข้าประเทศที่เข้าสู่สถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine และ Local Quarantine) ตั้งแต่ 3 เมษายน – 26 กรกฎาคม มีจำนวน 65,835 ราย กลับบ้านแล้ว 56,443 ราย พบผู้ติดเชื้อจากสถานกักกันที่รัฐจัดให้จำนวนสะสม 358 ราย ซึ่งรักษาหายและกลับบ้านได้แล้ว 232 ราย ทั้งนี้ ได้มีการหารือถึง Organization Quarantine (OQ) สำหรับกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย จะต้องมีความพร้อมของสถานที่และมีมาตรการทางสาธารณสุขที่รัดกุมเช่นเดียวกับ SQ และ LQ อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานจะเร่งดำเนินการจัดหาสถานที่ที่เหมาะสม และไม่ให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป สำหรับยอดสะสมการใช้งาน www.ไทยชนะ.com มีผู้ใช้งาน 39,062,116 คน ร้านค้าลงทะเบียน 279,980 ร้าน เช็คอิน/เช็คเอาท์ผ่านแพลตฟอร์มไทยชนะอยู่ที่ร้อยละ 95.6
----------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th