นายกฯ เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ข่าวทั่วไป Wednesday August 19, 2020 14:04 —สำนักโฆษก

นายกฯ เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

วันนี้ (19 สิงหาคม 2563) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พร้อมด้วยคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ เข้าร่วมการประชุม นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้

นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายและแนวทางการทำงานของศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ (ศบศ.) ว่า เป็นหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้ โดยคณะกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนนี้จะร่วมมือกันวางแผนงานที่ชัดเจนตามช่วงระยะต่างๆ

เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะเลขานุการศูนย์ฯ ได้รายงานถึงรายนามคณะกรรมการตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และ แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ และจะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอีก 4 ชุด ทั้งนี้ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยังได้รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยควบคุมได้ดี และได้รายงานถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ดังนี้ GDP ไทยได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคและทั่วโลก โดยที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงการส่งออกค่อนข้างมาก อย่างไรก็ดีสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ตลอดจนรายงานถึงปัญหาแรงงาน เนื่องจากเกิดการเลิกจ้าง ทำให้ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบ มีกลุ่มผู้ว่างงาน

อย่างไรก็ดี เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้รายงานมาตรการช่วยเหลือและเยียวยา ซึ่งสามารถช่วยเหลือได้ระดับหนึ่ง และในหลายมาตรการจะยังดำเนินต่อไปเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบอย่างยั่งยืน

ที่ประชุมฯ ได้พิจารณากรอบแนวคิดการดำเนินงานของคณะกรรมการ ศบศ. ที่คาดว่าจะยังต้องคงมาตรการดูแลสถานการณ์ต่อไปถึงปี 2564 จึงต้องมีแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งในระดับพื้นที่มี คณะกรรมการขับเคลื่อนประเทศไทยไปด้วยกัน และระดับประเทศที่มีศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมาตรการดูแลระยะเร่งด่วน เช่น การจ้างงาน สนับสนุนการท่องเที่ยวซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้การท่องเที่ยวทุกจังหวัดขับเคลื่อนไปพร้อมกัน สนับสนุนภาคธุรกิจ/SMEs กระตุ้นการใช้จ่าย ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการช่วยเหลือ SMEs การแก้ปัญหาการว่างงาน และแผนกระตุ้นการจ้างงานด้วย

ในโอกาสนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาแผนงานต่างๆ ที่หน่วยงานนำเสนอ เช่น แผนกระตุ้นการท่องเที่ยวที่มีการหยิบยกข้อจำกัด หรือประเด็นปัญหา ที่อาจเป็นอุปสรรค ซึ่งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะสามารถช่วยกันแก้ไขได้ เช่น การเดินทาง ค่าใช้จ่าย และการตรวจเชื้อโควิด-19 โดยนายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เรื่องการเดินทาง ที่พัก จะต้องพิจารณาการบริหารจัดการให้เกิดความสะดวก ได้รับความร่วมมือจากประชาชน อาทิ พิจารณาภูเก็ตโมเดล Phuket Model ในรายละเอียดปลีกย่อย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา โดยภาคเอกชนได้หยิบยกประเด็นเกี่ยวกับ มาตรการพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) และการทำให้ประชาชนยอมรับให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยได้ ซึ่งหากการดำเนินการนี้ได้รับการยอมรับจะเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่นๆ ดำเนินการได้อย่างมั่นใจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้แต่ละภาคส่วนไปพิจารณาลงรายละเอียดอย่างรอบคอบ และครอบคลุม โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้รับไปพิจารณาศึกษาเชิงลึกด้วยการลงพื้นที่ และจะประสานบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการถึงความสำคัญของการตรวจคัดกรอง การแพร่ระบาด การติดตามตัว กรณีมีความผิดพลาดเกิดขึ้น เนื่องจากเป็น 3 กระบวนการที่สำคัญ และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงการสร้างการรับรู้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานให้สอดรับกับพฤติกรรมการรับรู้ของประชาชนด้วย

อนึ่ง ที่ประชุมฯ วันนี้ ได้แต่งตั้ง นายสมิทธ์ พนมยงค์ เป็นโฆษกประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจด้วย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ