วันนี้ (19 ส.ค. 63) เวลา 11.40 น. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ นายสมิทธิ์ พนมยงค์ โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ แถลงผลการประชุม ผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ จากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 1/2563 สาระสำคัญ ดังนี้
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อความเดือดร้อนของประชาชนในทุกภาคส่วนทั้งด้านธุรกิจ ผู้ประกอบการและอาชีพอิสระ จึงจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าหลังจากการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแล้ว ไทยยังคงมีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวทางการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจทั้งระดับ Micro (ระดับพื้นที่) ซึ่งมอบหมายให้รัฐมนตรีรายกระทรวง ลงไปดูแลในระดับพื้นที่ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ดูแลแก้ไขปัญหาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งปัญหาเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น ภัยแล้ง สำหรับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระดับ Macro (ระดับประเทศ) นั้น ศบศ. จะเป็นศูนย์ใหญ่ที่รับผิดชอบ โดยอาศัยความร่วมมือในทุกภาคส่วน ตามแนวทาง “รวมไทยสร้างชาติ” ซึ่งภายใต้ศูนย์นี้ ยังมีการทำงานของคณะอนุกรรมการอีก 3 ชุด เพื่อให้ครอบคลุมการดำเนินการทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพราะปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นผลพวงจากวิกฤตโควิด-19 ยังไม่มีวิธีการแก้ไขปัญหาที่แน่นอน การดำเนินการจึงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง รอบคอบ ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์
นายสมิทธิ์ พนมยงค์ โฆษก ศบศ. ได้แถลงเพิ่มเติม เป้าหมายการทำงานของ ศบศ. คือ ลดการถดถอยทางเศรษฐกิจ ที่มีการประเมินในปีนี้ทั้งปีจะติดลบลดลงอยู่ที่ร้อยละ 7 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้มีการดำเนินการแล้วอย่าง เช่น โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน”จะมีการปรับปรุงขอบเขตการใช้สิทธิ เช่น จากเดิม 5 คืน ต่อ 1 สิทธิ เป็น 10 คืน ต่อ 1 สิทธิ และปรับเพิ่มค่าโดยสารเครื่องบิน จากเดิม 1,000 บาท ปรับเป็น 2,000 บาท รวมทั้งขยายฐานการใช้สิทธิ สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีการจัดอบรม สัมมนา ท่องเที่ยวอยู่แล้ว ใช้ในโครงการ ฯ นี้ได้ นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ได้มีขยายคุณสมบัติของผู้ประกอบการในการขอสินเชื่อ (Soft Loan) เพื่อขยายขอบเขตทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่เข้าถึงสินเชื่อนั้นได้ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเป้าหมายหลักแก่ ศบศ. คือ 1. การจ้างงาน 2. การสนับสนุนภาคธุรกิจ และ 3. การรักษาเสถียรภาพทางการเงิน
จากนั้น รองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้มีการเห็นชอบในหลักการ 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1. สนับสนุนการท่องเที่ยว ในโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน โดยมีการปรับปรุงขยายสิทธิ และการช่วยเหลือค่าเครื่องบินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเดินทางได้ไกลขึ้น และขยายวงกลุ่มเป้าหมายโดยเน้นให้ธุรกิจขนาดใหญ่สามารถใช้สิทธิในการจัดประชุมสัมมนา 2. สนับสนุนการดูแลภาคธุรกิจ SME ให้เข้าถึงได้มากขึ้น เพื่อให้มีสภาพคล่องและธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้ 3. มาตรการจ้างงาน โดยเฉพาะบัณฑิตจบใหม่และผู้ที่กำลังตกงานโดยมีการทำแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” โดยเน้นให้มีข้อมูลในรูปแบบ Big Data รวมศูนย์ข้อมูลเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้จ้างงานและผู้รับจ้างได้มีโอกาสเจอกันง่ายขึ้น และ 4. มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย
----------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th