วันนี้ (21 ส.ค. 63) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน และมาตรการในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 3,390 ราย (ติดเชื้อในประเทศ 2,444 ราย และสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 453 ราย) หายป่วยเพิ่มขึ้น 1 ราย ทำให้มีผู้ที่หายป่วยแล้วรวม 3,219 ราย และมีผู้รักษาอยู่ที่โรงพยาบาล 113 ราย โดยไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ตัวเลขยังคงเดิมที่ 58 ราย สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 รายดังกล่าวเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างสิงคโปร์ คัดกรอง ณ ด่านฯ และเข้าสถานที่กักกัน (Quarantine) เป็นชายไทย อายุ 56 ปี อาชีพพนักงานบริษัท/โรงงาน เดินทางถึงไทยวันที่ 7 สิงหาคม 2563 (เที่ยวบินเดียวกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 3 ราย) เข้าพัก State Quarantine ในจังหวัดชลบุรี และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ในวันที่ 18 สิงหาคม ผลตรวจพบเชื้อไม่มีอาการ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้อำนวยการ ศบค. ได้เน้นย้ำให้มีการชี้แจงเกี่ยวกับตัวเลขต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นของประเทศไทยให้ประชาชนได้รับทราบถึงศักยภาพของประเทศไทยและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อ งที่ช่วยกันดำเนินการจนตัวเลขต่าง ๆ ออกมาเป็นผลที่น่าพอใจ โดยเฉพาะขณะนี้ตัวเลขผู้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเหลือเพียง 113 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีกด้วย
โฆษก ศบค. ย้ำว่าการสวมใส่หน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัยมีความสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เนื่องจากผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบขณะนี้ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ อย่างไรก็ตามการติดเชื้อที่เกิดขึ้นหรือหากจะมีการติดเชื้อใหม่เช่นที่เกิดขึ้นในหลายประเทศก็ยืนยันว่าไม่ได้เป็นความผิดของใคร เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นโรคระบาดที่สามารถเกิดขึ้นได้ สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจกัน และไว้วางใจซึ่งกันและกัน ซึ่งในประเทศไทยขณะนี้ทุกคนก็ช่วยกันสวมใส่หน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัยทำให้สถานการณ์ของไทยดีขึ้น และสามารถยืนระยะยาวมาได้จนปัจจุบัน และขอให้เรียนรู้สถานการณ์จากต่างประเทศเพื่อนำกลับดูแลตัวเองและประชาชนคนไทยของเรา
ด้านสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของโลก พบผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยู่ที่ 22,800,000 กว่าราย โดยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่วันเดียวเพิ่มถึง 278,000 กว่าคน เสียชีวิตไปแล้ว 790,000 กว่าราย ซึ่งประเทศที่มีผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมสูงสุด 5 อันดับแรก อันดับที่ 1 คือสหรัฐอเมริกา ตามด้วยบราซิล อินเดีย รัสเซีย และแอฟริกาใต้ ตามลำดับ โดยเฉพาะตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ของอินเดียเมื่อวานนี้เพิ่มขึ้นสูงที่สุดวันเดียวถึง 68,000 กว่าราย ขณะที่ประเทศในเอเชียพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และเวียดนาม โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่มีการติดเชื้อใหม่ระลอกที่ 2 เกิดขึ้น ซึ่งจากตัวเลขหลักสิบขณะนี้ได้เพิ่มไปที่หลักร้อยแล้ว ขณะเดียวกันสถานการณ์แนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่ของโลกและเอเชียก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ ส่วนประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 115 ของโลก ซึ่งสถานการณ์ดีกว่าอีกหลายประเทศทั่วโลก
โฆษก ศบค. กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้อำนวยการภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุคนช่วงวัย 20 ปี 30 ปี และ 40 ปี เป็นตัวการการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนามากขึ้นเรื่อย ๆ และหลายคนไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการระบาดไปสู่ผู้ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น คือผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ผู้ที่ต้องได้รับการดูและระยะยาว ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นและพื้นที่ด้อยโอกาส นอกจากคนหนุ่มสาวแล้ว โควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อคนรุ่นเด็กด้วย ทั้งนี้ การติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอีกรอบทำให้บางประเทศต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมอีกครั้ง หลายประเทศที่เคยคุมโควิด-19 ได้แล้วกลับมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก เช่น เวียดนาม ที่ใช้มาตรการสกัดโรคเชิงรุกจนไม่มีการติดเชื้อในประเทศมานานถึง 3 เดือน ก็มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้
โฆษก ศบค. ยังกล่าวถึงศักยภาพทางสาธารณสุขขณะนี้มีความก้าวหน้าของ “หนึ่งแล็ปหนึ่งจังหวัด” ในตอนนี้ดำเนินการไปแล้ว 71 จังหวัด จาก 77 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 92 และได้ตรวจ COVID-19 RT-PCR ไปแล้ว 799,936 ตัวอย่าง ตรวจพบเชื้อร้อยละ 0.43 ด้านความพร้อมด้านเวชภัณฑ์ ตอนนี้มีหน้ากาก N95 1,740,111 ชิ้น ชุด PPE 557,989 ชุด เครื่องช่วยหายใจ (ว่าง) 11,156 เครื่อง และยา Favipiravir 590,440 เม็ด (สำหรับประมาณ 8,434คน)
กรณีความคืบหน้าด้านการผลิตวัคซีนของไทยที่พัฒนาโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนก่อนจะทดลองในมนุษย์ ในขณะเดียวกันวัคซีนที่ผลิตโดยต่างประเทศ เช่น อังกฤษ รัสเซีย เยอรมนี/สหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกาและจีน อยู่ในขั้นตอนทดลองในมนุษย์ขั้นสุดท้ายก่อนการอนุมัติใช้ โดยไทยได้มีแนวทางการดำเนินงานเรื่องวัคซีน 3 ข้อได้แก่ 1. เตรียมการผลิตโดยรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิตต่างประเทศ โดยจะสนับสนุนงบประมาณแก่ผู้วิจัย/พัฒนา 2. เตรียมสั่งซื้อ/จอง วัคซีนจากผู้ผลิตทุกแหล่งที่เป็นไปได้ และ 3. สนับสนุนการวิจัยในประเทศและร่วมมือกับต่างประเทศ
โฆษก ศบค. กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในภาพรวมทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูง และคนไทยและคนต่างชาติจากต่างประเทศยังคงเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งสถานการณ์ภายในประเทศได้มีการผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง โดยในตอนนี้ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศยังจำเป็นต้องกักตัวใน State Quarantine และต้องใช้เครื่องมือในการติดตามตัว ซึ่งตอนนี้กฎหมายที่ต้องเข้าไปจัดการพัฒนายังไม่สามารถครอบคลุมได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรไทย (คราวที่ 5) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563
กรณีการผ่อนคลายการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้ผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ 1. การเปิดโรงเรียนและสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และสถาบันกวดวิชา on site 2. อนุญาตการแข่งขันกีฬาแบบมีผู้ชม และ 3. ให้ขนส่งสาธารณะทั้งทางบกและทางน้ำมีจำนวนผู้โดยสารได้เต็มตามความจุมาตรฐาน โดยสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเข้าไปดูรายละเอียดข้อมูลมาตรการรายวันได้ที่เว็บไซต์ หรือ facebook ศูนย์ข้อมูลโควิด-19
------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th