วันนี้ (16 ก.ย. 63) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ นางสาวกาญจนา ตั้งปกรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง แถลงผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.)) ครั้งที่ 3/2563 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่า ที่ประชุมฯ วันนี้ มีมติรับทราบความคืบหน้ามาตรการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา บรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงแนวทางการเปิดรับนักธุรกิจจากต่างประเทศ โดยมอบหมายให้ ศบค. ปรับปรุงแนวทาง เงื่อนไข สำหรับกลุ่มนักธุรกิจและกลุ่มวิศวกรที่มีฐานการผลิตอยู่ที่ประเทศไทย ที่จะขอเดินทางเข้ามาเพื่อปรับปรุงโรงงาน สายพานการผลิต ให้มีความสะดวกและมากขึ้น พร้อมกันนี้ ที่ประชุมฯ ยังมีมติรับทราบแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist Visa (STV) ตามที่ คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติในหลักการแล้วเมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยจะมีการเร่งรัด มาตรการเสริมต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและให้ประชาชนได้รับผลโยชน์สูงสุด ภายใต้การดำเนินการอย่างรัดกุมรอบคอบด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบหลักการมาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศและเพิ่มกำลังซื้อให้แก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและประชาชนทั่วไป ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง โดยแบ่งเป็น 2 โครงการ ได้แก่ “โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” โดยเพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อการอุปโภคบริโภคที่จำเป็น จำนวน 500 บาท/คน ระยะเวลา 3 เดือน คน ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2563 มีผู้ถือสิทธิจำนวน 14 ล้าน และ “โครงการคนละครึ่ง” โดยภาครัฐจะร่วมจ่าย (Co-pay) เน้นช่วยเหลือประชาชนในระดับฐานราก ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 10 ล้านคน โดยจะเปิดลงทะเบียนช่วงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งคาดว่าจะมีการใช้จ่ายตั้งแต่สิ้นเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ไม่เกินคนละ 3,000 บาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย หาบเร่ แผงลอย ที่ไม่ใช่นิติบุคคลหรือร้านสะดวกซื้อธุรกิจแฟรนไชส์
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการข้อเสนอการปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร (Permanent Resident Permit) และแนวทางการปรับปรุงมาตรการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็น กรณีพิเศษ (Smart Visa) เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ นักลงทุน ผู้บริหาร และผู้ประกอบการวิสาหกิจ โดยนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย พิจารณาจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมแก้ไขปรับปรุง Smart Visa ให้เชื่อมโยงกับการลงทุน อาทิ การซื้ออาคารชุดและกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์เงินขั้นต่ำและสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับ ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยยังได้รับมอบหมายให้กลับไปพิจารณาปรับปรุงเพิ่มเติม Elite Card เชื่อมโยงการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการลงทุนด้วย
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบข้อเสนอแนะการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา (Credit term) ในประเทศไทย เพื่อเสริมสภาพคล่องสำหรับการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม SMEs ที่เป็นผู้จัดส่งสินค้าและวัตถุดิบการผลิต (Supplier) แก่ธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กำหนดมาตรฐานระยะเวลา Credit term ที่เหมาะสมช่วงระยะเวลา 30 – 45 วัน ตามประเภทธุรกิจ โดยให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย พร้อมกำหนดบทลงโทษ กรณียกเว้น และกลไกการติดตามตรวจสอบด้วย ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ได้ชี้แจ้งว่า บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ก็กำหนด Credit term ในระยะเวลา 30 วัน ด้วย
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการบริหารเศรษฐกิจภายใต้คณะกรรมการบริหาร สถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มที่ 1 คือ การเร่งรัดโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย 7 โครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้าง เส้นทางรถไฟ โครงการระบบขนส่งมวลชน โครงการทางพิเศษ โครงการพัฒนาท่าเรือ การพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ Land bridge และโครงการศูนย์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กลุ่มที่ 2 คือ การปรับปรุงโครงสร้างหรือกฎระเบียบในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน 4 มาตรการ ได้แก่ การแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติและสำนักงานเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง การจัดตั้งบริษัทบริหาร สินทรัพย์เพื่อบริหารที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อการพาณิชย์ การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจเพื่อบริหารรถไฟ ความเร็วสูง และการประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... กลุ่มที่ 3 คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการ ดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ เพื่อการปรับปรุงบริหารเงินกองทุนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และกลุ่มที่ 4 คือ การศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น (Pre-feasibility Study) ของโครงการสะพานไทย โดยก่อสร้างสะพานจากจังหวัดชลบุรีมายังจังหวัดเพชรบุรี
ในตอนท้าย โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเผยว่า จะได้มีการเร่งรัดนำผลการประชุมวันนี้ เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีให้ทันภายในสัปดาห์หน้า เพื่อให้การดูแลพี่น้องประชาชนได้รวดเร็วต่อไป
..................
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th