รอง นรม. พลเอก ประวิตรฯ ผลักดันโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล รองรับพื้นที่ EEC

ข่าวทั่วไป Friday September 18, 2020 14:22 —สำนักโฆษก

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผลักดันโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล รองรับพื้นที่ EEC

วันนี้ (18 ก.ย. 63) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่โครงการสำคัญ ครั้งที่ 3/2563 ติดตามการดำเนินการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้ง 6 ด้าน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

รองนายกรัฐมนตรีได้ย้ำความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำว่า รัฐบาลได้ขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำ โดยมุ่งเน้นให้มีการดูแลประชาชนให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งอุทกภัยและภัยแล้ง ที่สำคัญคือต้องมีทรัพยากรน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค การทำเกษตรกรรม อุตสาหกรรม รวมถึงการดูแลระบบนิเวศ การกักเก็บแหล่งน้ำต้นทุน และต้องใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า

โอกาสนี้ ที่ประชุมมีมติรับทราบแผนการขับเคลื่อนโครงการสำคัญ 557 โครงการ ได้รับงบประมาณดำเนินการแล้ว 31 โครงการ ยังเหลือ 526 โครงการที่ต้องเร่งรัดให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 เป็นต้นไป แบ่งการขับเคลื่อนเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม 1. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 182 โครงการ กลุ่ม 2 โครงการที่เตรียมเสนอ กนช. รายโครงการ จำนวน 131 โครงการ และ กลุ่ม 3 โครงการที่ต้องรายงานความก้าวหน้าต่อ กนช. จำนวน 244 โครงการ ซึ่งได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนโครงการผ่านแอปพลิเคชัน Application Thai Water Plan เพื่อให้เป็นการรวมศูนย์ของฐานข้อมูล

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการคณะทำงานทางเทคนิคการพัฒนาโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี โดยได้ศึกษาวิธีการผลิตน้ำจากจากน้ำทะเลด้วยเทคโนโลยี 3 รูปแบบด้วยกัน รูปแบบที่ 1 คือ การบำบัดขั้นต้น (Pre-Treatment) ประกอบไปด้วย Multimedia Filtration (MF) Ultrafiltration (UF) และ Ceramic Filtration รูปแบบที่ 2 คือ การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (Desalination) ได้แก่ Thermal Desalination และ Membrane Desalination หรือ Reverse Osmosis (RO) และ รูปแบบที่ 3 คือ การจัดการของเหลวจากระบบ (Brine Management) ได้แก่ การเจือจางของเหลว (Dilution) Membrane Brine และ กำจัดของเหลวให้เหลือศูนย์ (Zero Liquid Discharge : ZLD) เพื่อรองรับการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ EEC ในอนาคต โดยรองนายกรัฐมนตรีย้ำให้มีการศึกษาผลกระทบของสิ่งแวดล้อม และเร่งรัดให้มีการจัดทำ Road Map เพื่อให้มีการพิจารณาเพิ่มเติมในเรื่องของการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน หรือ PPP รวมถึงการลดหย่อนค่ากระแสไฟฟ้าเพื่อลดต้นทุนในการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลด้วย

สำหรับพิจารณาโครงการขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมเสนอขอตั้งงบประมาณ ปี 2565 ของหน่วยงาน ทั้งหมด 6 โครงการ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง จังหวัดเชียงราย และโครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จังหวัดระยอง และเห็นชอบในหลักการสถานีสูบน้ำดิบพร้อมระบบท่อส่งน้ำเพื่อรองรับการพัฒนาเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จังหวัดปัตตานี สำหรับโครงการอื่นๆ ให้นำเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ต่อไป

โดยที่ประชุมยังได้มติแต่งตั้งศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ด้วย

...........................

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ