นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากปัญหาน้ำเสียที่ประเทศไทยเผชิญมาเป็นระยะเวลานานและมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำเสียจากชุมชนเฉลี่ยวันละ 9.50 ล้านลูกบาศก์เมตร ในจำนวนนี้แบ่งเป็นน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดด้วยระบบบำบัดน้ำเสียตามกฎหมายควบคุมอาคารและการบำบัดได้เองตามธรรมชาติ จำนวน 4.6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน น้ำเสียที่ผ่านระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 3.2 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน จึงยังมีน้ำเสียที่ไม่ได้ผ่านการบำบัดอีกจำนวน 1.7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน กลายเป็นปัญหามลพิษทางน้ำที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศ ที่ผ่านมารัฐบาลมีความตั้งใจในการแก้ปัญหาน้ำเสียอย่างจริงจัง แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ครอบคลุมทุกจังหวัด เนื่องจากติดขัดด้วยข้อกฎหมายตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การจัดการน้ำเสีย พ.ศ.2538 ที่กำหนดให้องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) มีเขตพื้นที่จัดการน้ำเสีย รวมทั้งสิ้น 45 พื้นที่ ใน 26 จังหวัด ทำให้ อจน. ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียและบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียของชุมชนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งอยู่นอกเขตพื้นที่รับผิดชอบได้
เพื่อเป็นการแก้ไขอุปสรรคดังกล่าว ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (22 กันยายน 2563) ว่าจึงมีมติเห็นชอบกำหนดเขตพื้นที่จัดการน้ำเสียขององค์การจัดการน้ำเสียเพิ่มเติมให้ครอบคลุมทุกจังหวัดของประเทศไทย เพื่อเร่งรัดการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเสียของประเทศให้ดำเนินไปอย่างมีมาตรฐานและเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ปัญหามลพิษทางน้ำได้อย่างทันสถานการณ์ ซึ่งจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งในการ 1)เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำเสียทั่วประเทศในการดูแลรักษาคุณภาพแห่งน้ำ ระบบนิเวศทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เพิ่มศักยภาพและมูลค่าให้กับแหล่งท่องเที่ยว 2)เพิ่มโอกาสเชิงพาณิชย์ในการบริการหรือกิจการเกี่ยวเนื่องในพื้นที่บำบัดน้ำเสีย เช่น การนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ การผลิตพลังงานจากน้ำเสีย 3)ไม่เป็นภาระงบประมาณภาครัฐ โดยใช้วิธีการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนสำหรับโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ ควบคู่กับการจัดเก็บค่าบริการ ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
มากไปกว่านั้น ครม. ยังได้มีมติอนุมัติงบกลางประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 รายการเงินสำรองจ่าย วงเงิน 385.64 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของโรงบำบัดน้ำเสียและสถานีสูบป้องกันน้ำท่วม ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี จำนวน 2 โครงการ และโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดระยอง จำนวน 2 โครงการ โดยให้เบิกจ่ายจากงบเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ
และให้ใช้เงินรายได้ของท้องถิ่นเมืองพัทยาและ องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง สมทบอีดจำนวน 42.85 ล้านบาท รวมงบประมาณทั้ง 4 โครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 428.49 ล้านบาท สำหรับรายละเอียดแต่ละโครงการ มีดังนี้ 1)โครงการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรและอุปกรณ์ในระบบบำบัดน้ำเสีย จังหวัดชลบุรี วงเงิน 175.25 ล้านบาท เพื่อบำบัดน้ำเสียที่เกิดขึ้นในพื้นที่และรองรับปริมาณน้ำเสียในพื้นที่ใกล้เคียง 2)โครงการเพิ่มประสิทธิภาพสถานีสูบป้องกันน้ำท่วมจังหวัดชลบุรี วงเงิน 77.54 ล้านบาท เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจและจัดการควบคุมน้ำเสีย 3)โครงการป่าชายเลนในเมือง จังหวัดระยอง วงเงิน 81.7 ล้านบาท เป็นการก่อสร้างสะพานและเส้นทางเดินสำรวจ เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ และ4) โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ศูนย์พัฒนาปลวกแดง ตามพระราชดำริ จังหวัดระยอง (ระยะที่ 3) เป็นการปรับปรุงอาคาร คอกสัตว์ ภูมิทัศน์ ฐานการเรียนรู้ และงานอื่น ๆ ภายในศูนย์ รวมถึงระบบไฟฟ้า และระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
ที่มา: http://www.thaigov.go.th