วันนี้ (24 กันยายน 2563) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภารกิจ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดการสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 111 แห่งทั่วราชอาณาจักร ประจำปี 2563 ณ โรงแรมเวียงอินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและคณะร่วมชมนิทรรศการกลุ่มโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ภาคเหนือที่มีผลงานดีเด่น ด้านการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรสื่อมวลชนศึกษา โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นาย วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย คณะกรรมการมูลนิธิไทยรัฐ นายมานิจ สุขสมจิตร บรรณาธิการอาวุโสหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานผู้บริหาร ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยาให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบโล่รางวัลชนะเลิศ Best Practice การจัดการเรียนการสอนสื่อมวลชนศึกษาแก่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา จำนวน 13 โรงเรียน และกล่าวเปิดสัมมนาฯ ความตอนหนึ่งว่า การสัมมนาในครั้งนี้เป็นการพัฒนาศักยภาพผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา เป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาเพิ่มพูนความรู้ ทั้งด้านวิชาการ การบริหารจัดการ การมีส่วนร่วมของโรงเรียน ครู กรรมการสถานศึกษาเครือข่ายต่าง ๆ ซึ่งเป็นนโยบายและแนวทางในการบริหาร และพัฒนาโรงเรียนให้มีความเข้มแข็งและเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างชาติ การจัดตั้งโรงเรียนไทยรัฐวิทยาเป็นความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนในท้องถิ่นชนบทให้สามารถเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์อย่างยั่งยืน พัฒนาคนในทุกมิติและทุกช่วงวัยให้มีคุณภาพ เพื่อเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต
นายกรัฐมนตรีกล่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในปีนี้ ทำให้เกิดการดำเนินชีวิตรูปแบบวิถีใหม่ (New Normal) ในทุก ๆ ด้าน เราต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียน การสอนใหม่ ที่เรียกว่ายุคหลัง New Normal คือศตวรรษที่ 21 ทุกคนทราบดีว่า ต้องปรับให้สอดคล้องต่อชีวิตวิถีใหม่ที่เกิดขึ้นให้ทันต่อโลกยุคดิจิทัล
ต้องมีหลักคิด มีวิสัยทัศน์ มีภูมิคุ้มกันในสิ่งที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิตต่อไป ซึ่งบุคลากรทางการศึกษาจะต้องทุ่มเท ต้องมีการปฏิรูปการศึกษา การให้เด็กมีความรู้นอกจากเรื่องของวิชาการ ด้วยการยกระดับทักษะพื้นฐาน ทักษะอนาคต ทักษะการเรียนรู้เชิงรุก และทักษะชีวิต ให้สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต เชื่อมโยงกับสากลโลก ตลอดจนออกแบบการเรียนรู้ให้เท่าทันกับสถานการณ์โลก การนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการลดข้อจำกัดของการศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อผู้เรียน ให้มีคุณภาพและมีศักยภาพในทุกมิติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งตามแนวทางนโยบายของรัฐบาลที่อยากให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดและขับเคลื่อนประเทศ ตามแนวทาง “รวมไทย สร้างชาติ” ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันปรับวิธีการทำงาน มุ่งทำงานเชิงรุก และเสนอแนะความคิดเห็น เพื่อให้ทุกโอกาสการพัฒนาเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ
...........................
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th