นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า วานนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงหรือความจำเป็นของประเทศ โดยเป็นการปรับแนวทางการพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) และมอบหมายให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดทำแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด - 19 พ.ศ. 2564 - 2565 ฉบับสมบูรณ์เพื่อเสนอครม.ภายในเดือนพฤศจิกายน 2563 นี้
ร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ มีเป้าประสงค์เพื่อให้ ?คนสามารถยังชีพอยู่ได้ มีงานทำ กลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง สร้างอาชีพและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวเข้าสู่สภาวะปกติ และมีการวางรากฐานเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ (Economic Transformation)? ซึ่งจะมีการพัฒนาที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษในระยะ 2 ปีหน้า ด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (Local Economy) ยกระดับขีดความสามารถของประเทศเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว (Future Growth) พัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ (Human Capital) และปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ (Enabling Factors) ให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบต่อศักยภาพของประเทศ โดยมีโครงการรองรับตามร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ประกอบด้วย 1) โครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 2) โครงการประจำปีงบประมาณปี 2564 และ3) โครงการสำคัญประจำปีงบประมาณประจำปี 2565
ทั้งนี้ จะได้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ภายในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อนำเสนอแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ฉบับสมบูรณ์ ต่อคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะรัฐมนตรี ภายในเดือนพฤศจิกายน 2563 เพื่อพิจารณาต่อไป
1. โครงการสำคัญประจำปีงบประมาณ 2565 ตามแผนแม่บทเฉพาะกิจฯหรือโครงการ Top Priorities จำนวน 250 โครงการ ครอบคลุมการพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่
(1.1) การเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (Local Economy) เพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาต่างประเทศ อาทิ โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs และโครงการส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุ
(1.2) การยกระดับขีดความสามารถเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว (Future Growth) อาทิ ขยายตลาดข้าวอินทรีย์และข้าวสีในต่างประเทศ และสร้างอุตสาหกรรมการแพทย์ใหม่บนฐานการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีด้านชีววิทยาศาสตร์
(1.3) การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคน (Human Capital) ให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ อาทิ โครงการส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) และแพลตฟอร์มการเฝ้าระวังสถานการณ์ของโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ หรือโรคติดต่ออันตรายแบบบูรณาการ
(1.4) การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ (Enabling Factors) อาทิ โครงการบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และโครงการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมและชุมชน
ทั้งนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ว่ายุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะมีประเด็นการพัฒนาที่ครอบคลุมถึงการรับมือและปรับตัวต่อโรคอุบัติใหม่ไว้แล้ว แต่รัฐบาลยังเห็นถึงความจำเป็นในการยกร่าง ?แผนแม่บทเฉพาะกิจฯ? เพื่อกำหนดกรอบเป้าหมายระยะต่อไปให้ชัดเจน คือ ?ล้มแล้วลุกไว (Resilience)? ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล ภูมิคุ้มกัน ความรู้ และคุณธรรม เพื่อให้ไทยสามารถกลับสู่ระดับการพัฒนาก่อนการระบาดโควิด-19 ยกระดับการพัฒนาให้เป็นไปตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างเป็นรูปธรรม
ที่มา: http://www.thaigov.go.th