วันนี้ (1 ต.ค.63) เวลา 09.45 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมพร้อมมอบนโยบายการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการ EEC เลขาธิการ BOI ผู้บริหารระดับสูง (CEO ) จากบริษัทชั้นนำของไทยและต่างประเทศ ร่วมหารือแนวทางการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี
นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับและขอบคุณนักลงทุนที่เชื่อมั่นและมีการขยายการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง วันนี้ หวังสร้างความเข้าใจตรงกันกับทุกฝ่ายว่า นี่คือโอกาสในการลงทุนและเป็นความท้าทายของรัฐบาล ในการจะขับเคลื่อนแผนพัฒนาประเทศ โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ แม้ว่าจะเจอกับปัญหาที่เพิ่มขึ้น ในช่วง COVID-19 รัฐบาลก็ไม่เคยหยุดคิด ยังคงมุ่งทำงานเพื่อวางรากฐานประเทศให้ขับเคลื่อนต่อไป ยืนยันว่ารัฐบาลจะทำงานอย่างเต็มที่ในการส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ทุกการลงทุนในทุกพื้นที่ทั้ง EEC และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ไทยยังเป็นประเทศแรกที่นำหลักการด้านสิทธิมนุษยชนมาใช้ในภาคธุรกิจด้วย
นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ที่ผ่านมาได้ระดมทุกฝ่ายมาช่วยกันแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม ผ่านทางมาตรการด้านการเงินและการคลัง รวมทั้งเร่งส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานใหม่ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงแรงงานได้จัดงาน JOB EXPO รวบรวมงานทั้งในประเทศและต่างประเทศกว่า 1 ล้านอัตรา ซึ่งรวมทั้งการจ้างงานกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนเป็นอย่างดีอีกด้วย ซึ่งเป็นมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะสั้น นอกจากนี้ยังมีการวางรากฐานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ตามทิศทางของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ โดยเฉพาะระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ พัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ยกระดับขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงโครงการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ตอบโจทย์การลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต และเป็น Logistics Hub ของภูมิภาค ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ช่วงวิกฤติ COVID การลงทุนใน EEC ก็ยังอยู่ในระดับสูง ช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา มีคำขอรับการส่งเสริมใน EEC จำนวน 277 โครงการ และมีมูลค่าเงินลงทุนกว่า 85,000 ล้านบาท โดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 54 ของคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ ทั้งนี้ โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่าง ๆ ใน EEC ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการเมืองการบินอู่ตะเภา โครงการขยายท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด รวมทั้งโครงการพัฒนาเขตนวัตกรรม EECi ที่จังหวัดระยอง ได้ผู้ชนะการประมูลครบถ้วนแล้ว
ช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี ยังเชิญชวนนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ ทั้งการลงทุนในไทยทั้งระยะสั้นและระยายาว พร้อมให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลเตรียมความพร้อมทั้งด้านโลจิสติกส์ ระบบรถไฟความเร็วสูง สาธารณูปโภค แหล่งน้ำเพื่อการบริโภคและอุตสาหกรรม รวมทั้งแรงงานฝีมือทั้งในและนอกระบบเพื่อตอบสนองการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งขอเชิญชวนให้เอกชนแสวงหาโอกาส หรือเพิ่มการลงทุนที่ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ผลิตภัณฑ์สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ไปจนถึงอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ เกษตรและอาหาร ซึ่งไทยพร้อมและมีศักยภาพ สำหรับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนก็จะรับไปดำเนินการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจและขยายการลงทุนในไทยต่อไป
โดยก่อนหน้านั้น นายกรัฐมนตรีประชุมแนวทางการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ ร่วมกับหัวหน้าหน่วยงานและองค์กรของไทย อาทิ ประธานกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี อธิบดีกรมศุลกากร โดยการเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติทั้งหมดให้ไทยเป็นศูนย์กลางเครือข่ายโลจิสติกส์ของภูมิภาคทั้งการขนส่งสินค้าและการสัญจร ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการรายงานแผนงานเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ ประกอบด้วย โครงการท่าเรือบก (Dry Port) ให้เป็น One Stop Service ด้านโลจิกสิตส์และศุลกากร ด้วยการเชื่อมโยงการขนส่ง 2 ระบบ โดยเฉพาะระบบราง บรรเทาการจราจรทางถนน และลดความคับคั่งของท่าเรือ โครงการเชื่อมโยงอ่าวไทย-อันดามัน หรือ Land Bridge ด้วยท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่ง ทั้งชุมพรและระนอง โดยมีถนนหลัก Motorway ราง และรถไฟ เป็นตัวเชื่อม ลดต้นทุนทางขนส่งของประเทศ รวมไปถึงเพิ่มขีดความสามารถเชื่อมโยง BIMSTEC และทะเลจีนใต้ในอนาคต และโครงการสะพานไทย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมอบหลักการสำคัญการศึกษาทั้ง 3 โครงการ ต้องสร้างความเชื่อมโยง ให้เห็นความคุ้มค่าในการลงทุน สามารถสร้างผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจระหว่างทางด้วย ด้วยรูปแบบการลงทุนแบบ PPP เพื่อประหยัดงบประมาณ และนำเงินไปช่วยเหลือประชาชน โดยทุกอย่างโปร่งใส ไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน โดยยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ โดยนายกรัฐมนตรีเร่งทำงานโดยใช้ช่วงโควิด-19 เตรียมความพร้อมประเทศ เสริมความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่สามารถเปิดรับเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด 19 ผ่านได้ทันที
------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th