ศบค. เตรียมเสนอ ครม. พิจารณาขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 7 ตั้งแต่ 1 ถึง 30 พฤศจิกายน 2563

ข่าวทั่วไป Wednesday October 21, 2020 13:55 —สำนักโฆษก

ศบค. เตรียมเสนอ ครม. พิจารณาขยายระยะเวลา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 7 ตั้งแต่ 1 ถึง 30 พฤศจิกายน 2563

วันนี้ (21 ต.ค. 63) เวลา 15.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ความก้าวหน้าในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และผลการประชุม ศบค. สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทย วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9 รายอยู่ใน State Quarantine รวมผู้ป่วยสะสม 3,709 ราย ซึ่งตัวเลขผู้ป่วยสะสมที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผู้ป่วยที่มาจากต่างประเทศ 762 ราย มีผู้ที่หายป่วยแล้ว 3,495 ราย ผู้เสียชีวิตยังคงที่ 59 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ มาจากสหรัฐอเมริกา 1 ราย UAE 2 ราย โมร็อกโก 1 ราย โปรตุเกส 1 ราย ซูดานใต้ 3 ราย โอมาน 1 ราย ด้านสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของโลก มีผู้ป่วยใหม่เพิ่มในวันเดียว 381,716 ราย โดยเฉลี่ย 3 วันมีผู้ป่วยใหม่ 1 ล้านคน รวมผู้เสียชีวิตทั้งโลก 1,129,591 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.8 โดย 6 อันดับประเทศที่มีผู้ป่วยจำนวนมากคือ สหรัฐอเมริกา อินเดีย บราซิล รัสเซีย สเปน อาร์เจนตินา ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 144

โฆษก ศบค. กล่าวถึงตัวเลขผู้ป่วยสะสมรายวันยังมีทิศทางที่พุ่งขึ้นในหลัก 3 ? 4 แสนคนต่อวัน ซึ่งอาจจะพุ่งถึงวันละ 5 แสนคนถึง 6 แสนคนได้ โดยประชากรโลกมี 7 พันล้านคน ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 41 ล้านคน ซึ่งไม่อาจทราบได้ว่าโรคนี้จะคงอยู่ไปอีกนานเท่าไร แต่คงเหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่กลายเป็นโรคประจำถิ่น ฉะนั้น จึงต้องมีการสื่อสารว่า โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นที่ต้องมีการแพร่กระจายของโรค การติดเชื้อถือเป็นเรื่องปกติ และการที่ให้เป็นตัวเลขศูนย์ไม่มีการติดเชื้อไม่ใช่สิ่งที่เป็นความจริง ดังนั้นจะยึดติดตัวเลขที่เป็นศูนย์ต่อไปอีกไม่ได้ ทั้งนี้ มีโรคที่อันตรายกว่าโรคโควิด-19 อยู่หลายโรค เช่น วัณโรค ที่มีผู้ป่วยวัณโรคในไทย 70,000 ? 80,000 คนต่อปี และมีผู้ป่วยวัณโรคทั่วโลกถึง 10 กว่าล้านคน จึงต้องพยายามยอมรับโรคโควิด-19 ให้อยู่ในประเทศไทยให้ได้ อย่างไรก็ตาม มีการควบคุมสถานการณ์ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ได้แล้ว ขณะที่ความคืบหน้าของการพัฒนาการผลิตวัคซีนโควิด-19 ขณะนี้ประเทศไทยมีการพัฒนาการผลิตวัคซีนเอง พร้อมกับมีความร่วมมือในการวิจัยกับต่างประเทศ รวมทั้งมีการจัดซื้อวัคซีนจากต่างประเทศ โดย ณ เวลานี้มีความคืบหน้าในการร่วมพัฒนาศักยภาพในการผลิตวัคซีนกับระดับนานาชาติ โดยวางเป้าหมายไว้ที่ร้อยละ 50 ของประชากร

โฆษก ศบค. รายงานว่า ขณะนี้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงมั่นคง (ศปม.) ได้กวดขันเรื่องการเดินทางข้ามชายแดน โดยมีการลาดตระเวน การวางเครื่องกีดขวาง การตรวจ และการจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมือง มีการแจ้งข่าวสารผู้หลบหนี และตรวจสถานที่ตามมาตรการที่ผ่อนคลายด้วย

ศบค. รับทราบรายงานผลความคืบหน้าการดำเนินมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้กฎหมายรวม 7 เรื่อง ได้แก่ 1. การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรของคณะมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและคณะ 2. การอนุญาตให้ลูกเรือสัญชาติบริติชและสัญชาติเช็กเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรทางน้ำ 3. การกำหนดประเทศและเมืองต้นทางที่ได้รับการผ่อนผันให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร โดยการขอรับการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourism Visa (STV) ซึ่งในกลุ่มแรกได้รับนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน 39 ราย โดยทั้งหมดจะต้องเข้ากักตัว 14 วันจึงสามารถท่องเที่ยวได้ โดยมีกำหนดอยู่ในประเทศไทยประมาณ 1 เดือน และจะมีการพิจารณานักท่องเที่ยวจากประเทศต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงต่ำและความเสี่ยงปานกลางให้เดินทางเข้ามาในลำดับต่อไป 4. การอนุญาตให้สายการบินทำการบินแบบมีผู้โดยสารเปลี่ยนลำ (Transfer Passenger)

5. การอนุญาตให้เรือยอร์ชเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร โดยได้มีการเสนอว่ามีเรือซูเปอร์ยอร์ชและเรือ Cruiser ที่มีความต้องการเดินทางเข้ามาประมาณ 60 ลำ รวมคนที่จะเข้ามาประมาณ 600 - 650 คน คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศประมาณ 2,100 ล้านบาท โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติในการเข้ามาของเรือสำราญและกีฬา ดังนี้ เรือสำราญและกีฬา เข้ามาทอดสมอ ณ จุดที่กรมเจ้าท่าประกาศกำหนดเป็นจุดจอดชั่วคราว โดยกำหนดพื้นที่ฝั่งอันดามันที่จังหวัดภูเก็ต และฝั่งอ่าวไทยที่จังหวัดชลบุรี โดยที่ผู้ควบคุมยานพาหนะและผู้โดยสารกักตัวเองบนเรือเป็นระยะเวลา 14 วัน และให้มีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 บนเรือ โดยวิธีการ RT-PCR จำนวน 3 ครั้ง เมื่อกักกันครบ 14 วันแล้วตรวจไม่พบเชื้อ ให้ดำเนินการออกหนังสือรับรองผู้โดยสารและลูกเรือเพื่อนำเรือเทียบท่าและเดินทางในราชอาณาจักรได้ 6. การอนุญาตให้เรือลูกเรือต่างชาติเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขึ้นเรือออกจากราชอาณาจักร (Sign on) โดยจะต้องกักตัว 14 วันก่อนลงเรือ และ 7. การผ่อนผันให้กลุ่มบุคคลเข้าประเทศไทยโดยเข้าสู่การกักกันตัวแบบ Wellness Quarantine โดยที่ประชุมได้มีการอนุมัติการเดินทางเข้ามา 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. กลุ่ม Medical Spa, Wellness Resort, Spa Resort 2. Long Term care หรือกลุ่มสำหรับดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว โดยในส่วนหัวข้อกีฬาให้ไปลงในรายละเอียดอีกครั้ง โดยให้มีการนำสินค้า OTOP เสนอขายได้ทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ ด้วย ซึ่งคาดว่าจะทำให้รายได้เข้าสู่ชุมชน

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม ศบค. เห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 7 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563

นอกจากนี้ โฆษก ศบค. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ศบค. อนุมัติให้มีการเพิ่มกำหนดสัดส่วนจำนวนที่นั่งสำหรับผู้ชมกีฬา ร้อยละ 50 จากที่เคยประกาศไว้เดิม โดยกีฬากลางแจ้ง การเชียร์เสียงดังสามารถมีผู้เข้าชมได้ร้อยละ 50 การเชียร์เสียงไม่ดังมีผู้เข้าชมได้ร้อยละ 70 ส่วนสนามกีฬาในร่มการเชียร์เสียงดังสามารถมีผู้เข้าชมได้ร้อยละ 30 และการเชียร์เสียงไม่ดังมีผู้เข้าชมได้ร้อยละ 50

------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ